เหตุน้ำมันรั่วซ้ำซาก สะท้อน 13 ปี “เขตควบคุมมลพิษ” จ.ระยอง ล้มเหลว

ซ้ำยังประกาศเขต EEC ทับซ้อน นักวิชาการชี้ เน้นอำนวยความสะดวกเอกชนมากกว่าประเมินผลกระทบ จี้ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และ สผ. ร่วมรับผิดชอบ ไม่กำกับดูแลบริษัทฯ ให้ปฏิบัติตาม EIA 

3 ก.พ. 2565 ผ่านมากว่า 1 สัปดาห์แล้วสำหรับเหตุการณ์น้ำมันรั่ว ที่จังหวัดระยอง แม้หลายหน่วยงานจะร่วมกันเพื่อขจัดคราบน้ำมันทั้งบริเวณชายหาดและในทะเลจนแทบไม่เห็นคราบน้ำมันแล้ว  แต่ รศ.เรณู เวชรัตน์พิมล นักวิชาการสิ่งแวดล้อม อดีตอาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเคยลงพื้นที่สำรวจ อ่าวพร้าว หลังได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วเมื่อปี 2556 ยังจำเหตุการณ์ครั้งนั้นได้ เพราะพบว่า ส่งผลกระทบระยะยาว หนึ่งในนั้นคือจำนวนสัตว์น้ำที่ลดลง และในฐานะนักวิทยาศาสตร์ รศ.เรณู ได้ลงเจาะเลือดปลาเพื่อตรวจหาไมโครนิวเคลียส ก็พบความผิดปกติ และเมื่อผ่าตับ ของสิ่งมีชีวิตในน้ำ ก็พบว่ามีสีดำ สะท้อนความเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศ  

“เหตุน้ำมันรั่วซ้ำครั้งนี้ อาจทำให้กิจกรรมของสัตว์น้ำเปลี่ยนไป มีการอพยพย้ายถิ่นไปอยู่ในแหล่งน้ำที่ปลอดภัยกว่า เช่นเดียวกับฝูงเคย หรือกุ้งขนาดเล็กที่นำมาทำกะปิได้หายไปจากทะเลระยอง หลังเหตุการณ์น้ำมันรั่วเมื่อ 9 ปีก่อน” 

13 ปี เขตควบคุมมลพิษระยองล้มเหลว

รศ.เรณู ระบุด้วยว่า ปีนี้ครบรอบ 13 ปี การประกาศเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดระยอง แต่เหตุน้ำมันรั่วซ้ำซาก สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลว ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่เอาจริงเอาจังกับการตรวจสอบมาตรฐานการประกอบกิจการของเอกชนในพื้นที่ ว่าดำเนินการตามมาตรการ EIA ที่ขอไว้หรือไม่ และยังมีการประกาศเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทับซ้อน ซึ่งเน้นอำนวยความสะดวกให้กับเอกชนมากกว่า การประเมินถึงผลกระทบ

“หลังเกิดเหตุครั้งล่าสุด ยังไม่เห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้ข้อมูลกับสาธารณะถึงการกำกับดูแลเอกชนแห่งนี้อย่างไร หรือไม่” 

รศ.เรณู เวชรัตน์พิมล นักวิชาการสิ่งแวดล้อมอดีตอาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

เขตควบคุมมลพิษทำหน้าที่อย่างไร 

จ.ระยอง ถูกประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษตั้งแต่ปี 2552 การประกาศเขตควบคุมมลพิษนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องจัดทำ “แผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษ” เสนอต่อจังหวัดและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยในแผนจะประกอบด้วย 

  • จำนวนแหล่งกำเนิดมลพิษ
  • มีการปล่อยมลพิษอะไรบ้าง
  • ตั้งเป้าหมายจะลดการปล่อยมลพิษลงกี่เปอร์เซ็น และใช้ระยะเวลาเท่าไหร่

สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการสิ่งแวดล้อมกลุ่ม EEC Watch บอกกับเราว่าบริษัทที่ตั้งอยู่ในเขตควบคุมมลพิษ จะต้องดำเนินการตามอีไอเอที่เข้มข้นกว่าปกติ กรณีน้ำมันรั่วต้องตรวจสอบว่า เป็นไปอย่างนั้นหรือไม่  เช่น การตรวจเช็คอุปกรณ์ท่อน้ำมันต่าง ๆ ตามหลักเกณฑ์ ที่ระบุให้ตรวจสอบปีละ 1 ครั้ง แต่หากอยู่ในเขตควบคุมมลพิษต้องเข้มข้นมากกว่า และที่สำคัญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำกับให้เอกชนดำเนินการตามมาตรการที่มีอยู่ดีพอแล้วหรือยัง 

“หากรัฐ หรือ ท้องถิ่น ในฐานะผู้กำกับดูแล ได้ตรวจสอบและเฝ้าติดตาม ตามมาตรฐานของการประกาศเขตควบคุมมลพิษ อย่างจริงจัง ก็น่าจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุซ้ำ แต่ที่ผ่านมาล้มเหลว” 

นักวิชาการสิ่งแวดล้อมกลุ่ม EEC Watch ยังกล่าวถึงความพยายามเดินหน้าเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกว่า ไม่ดำเนินการจัดทำ SEA หรือ การประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ ทั้ง ๆ ที่เวลานี้ ศักยภาพในการทำอุตสาหกรรมและการกำกับดูแลอาจไม่เพียงพอ สะท้อนผ่านปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำแล้ว ซ้ำอีก โดยตั้งคำถามว่า ถึงเวลาที่จะกลับมาทบทวนเรื่องนี้หรือไม่ 

ผลกระทบระยะยาวแลกกำไรเอกชน 

สมนึก บอกอีกว่าแม้มองด้วยตาเปล่า หรือ สภาพภายนอก จะแทบไม่เห็นคราบน้ำมันดิบที่รั่วไหลแล้ว ผ่านปฏิบัติการขจัดคราบน้ำมัน ที่ร่วมมือกันทั้งภาครัฐ และเอกชน แต่สิ่งที่มองไม่เห็นคือสารตกค้างจากสารเคมีในการสลายคราบน้ำมัน (Slick gone oil dispersant) ที่ยังหลงเหลืออยู่ และในระยะยาวจะเกิด tarball หรือการที่น้ำมันจับตัวเป็นก้อน พัดขึ้นชายฝั่งเหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับเหตุการณ์น้ำมันรั่วในปี 2556 ซึ่งถึงเวลานั้นก็จะไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาจัดเก็บ tarball แต่กลายเป็นภาระให้กับชาวบ้านและกลุ่มชาวประมงที่เฝ้าดูผลกระทบ 

สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการสิ่งแวดล้อมกลุ่ม EEC Watch

พร้อมระบุถึงการเยียวยาระยะสั้นว่า กรณีของชาวประมง ก็ไม่ควรดูแค่ว่าเป็นกลุ่มชาวประมงที่ขึ้นทะเบียนหรือไม่ ขอเพียงมีพยานบุคคลยืนยัน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก ให้การเยียวยาเป็นไปอย่างทั่วถึง ขณะที่ ร้านค้า หรือผู้ประกอบการรีสอร์ทที่ได้รับผลกระทบ ก็เยียวยาตามข้อเท็จจริง โดยนับการสูญเสียรายได้เป็นรายวัน ซึ่งการเยียวยาสามารถทำได้ไปพร้อมๆ กับปฏิบัติการกำจัดคราบน้ำมัน และการฟื้นฟูในระยะสั้น 

การที่ประธานบริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ระบุว่า มีการทำประกันภัย คุ้มครองทรัพย์สินและการหยุดชะงักของธุรกิจโดยมีทุนประกัน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็หมายความว่ามีเงินเพียงพอที่จะตั้งเป็นกองกลาง ให้กับหน่วยงานของรัฐที่ปฏิบัติการ กำจัดคราบน้ำมันนำเงินส่วนนี้เป็นค่าใช้จ่าย โดยไม่ต้องอาศัยงบประมาณแผ่นดิน 

ซึ่งพบว่าผลประกอบการของบริษัทฯ ช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 มีทรัพย์สินรวมกว่า 5 หมื่นล้านบาท มีรายได้กว่า 1 แสนล้านบาท กำไร 2,800 ล้านบาท

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS