ภาค ปชช.ตั้งข้อสังเกต กพร.ลัดขั้นตอน พ.ร.บ.แร่ เอื้ออัคราฯเปิดเหมืองทอง

บมจ. อัครา รีซอร์สเซส เตรียมกลับมาเปิดเหมืองทองอีกครั้ง หลังมีคำสั่ง ม.44  ปิดเหมืองเกือบ 5 ปี ขณะอธิบดี กพร.แจงทำตามกรอบนโยบายบริหารจัดการแร่ทองคำ ขอบริษัทเร่งจ้างงานประชาชน บรรเทาวิกฤตโควิด-19 รักษาสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมกัน 

จากกรณี “บริษัท คิงส์เกต” บริษัทแม่ของ “บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด(มหาชน)” เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ ทางเว็บไซต์เมื่อ 19 ม.ค.2565 ระบุรัฐบาลไทยได้อนุมัติประทานบัตรเหมืองแร่ 4 แปลง ทำให้ล่าสุดกำลังจะสามารถกลับมาเปิดเหมืองได้อีกครั้ง แม้ก่อนหน้านี้ เมื่อเกือบ 5 ปีที่แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้อำนาจตาม ม.44 ปิดเหมืองทองเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559 นำไปสู่การฟ้องร้องในชั้นอนุญาโตตุลาการ ระหว่าง บริษัท คิงส์เกตฯ กับรัฐบาลไทย เนื่องจากผิดข้อตกลงการค้าเสรี ไทย-ออสเตรเลีย 

วันที่ 24 ม.ค.2565 นิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ชี้แจงว่า สืบเนื่องจากเมื่อเดือนตุลาคม 2563 คณะกรรมการแร่ ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษเพื่อการสำรวจแร่ทองคำจำนวน 44 แปลง ในพื้นที่อำเภอชนแดนและวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ 

อาชญาบัตร 44 แปลงนั้น เป็นคำขอที่ยื่นไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 และ พ.ศ. 2548 และได้มีการดำเนินการต่อตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำและพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มีอายุในการสำรวจไม่เกินแปลงละ 5 ปี กรมฯ จึงได้อนุญาตเป็นอาชญาบัตรพิเศษที่ 3/2563-46/2563 ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 25 ตุลาคม 2568 โดยกำหนดให้ต้องได้รับการยินยอมหรือการอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ก่อนการสำรวจ และเมื่อได้ดำเนินการสำรวจโดยวิธีการเจาะสำรวจแล้วต้องฟื้นฟูดูแลพื้นที่ให้เป็นไปตามที่เสนอไว้ในแผนการสำรวจด้วย

ต่อมาเมื่อเดือนธันวาคม 2564 คณะกรรมการแร่ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบการอนุญาตให้ต่ออายุประทานบัตรเพื่อการทำเหมืองแร่ทองคำและเงิน ด้วยวิธีการทำเหมืองแร่แบบเหมืองเปิด จำนวน 4 แปลง ออกไปอีก 10 ปี ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2564 ถึงวันที่ 29 ธันวาคม 2574 ได้แก่ 

  • ประทานบัตรที่ 25528/14714 ตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ 
  • ประทานบัตรที่ 26910/15365 ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร 
  • ประทานบัตรที่ 26911/15366 ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร 
  • ประทานบัตรที่ 26912/15367 ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร 

นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้อนุญาตการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมที่ 1/2551 ให้แก่บริษัทฯ เพื่อประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ ด้วยวิธีการโลหะวิทยาสารละลาย วิธีการโลหะวิทยาไฟฟ้า และวิธีการโลหะวิทยาความร้อน ที่ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร และที่ตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่งจังหวัดเพชรบูรณ์ ออกไปอีก 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 18 มกราคม 2570 

“คำขอต่ออายุประทานบัตรทั้งหมดเป็นคำขอที่บริษัทฯ ได้ยื่นไว้ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 และพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ในพื้นที่ประทานบัตรเดิม และต่อมาได้ยื่นเอกสารประกอบคำขอเพิ่มเติมตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 รวมทั้งได้ดำเนินการตามกรอบนโยบายบริหารจัดการแร่ทองคำแล้ว”

นายนิรันดร์ กล่าวอีกว่า สำหรับการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษและการประกอบโลหกรรม รวมถึงการอนุญาตให้ต่ออายุประทานบัตรดังกล่าวข้างต้น เป็นไปเพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมของไทยให้มีวัตถุดิบทองคำและเงินทดแทนการนำเข้า ช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ และยกระดับรายได้ ตลอดจนคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนบริเวณใกล้เคียงให้สูงขึ้น ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ประชาชนมีรายได้ลดลงจากสถานการณ์การระบาดของCOVID-19 ทั้งนี้ บริษัทฯ ต้องดำเนินการด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนด้วย

โดยเมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา อธิบดี กพร. ได้เชิญกรรมการผู้จัดการบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เข้ารับมอบนโยบายการทำเหมืองและการประกอบโลหกรรมเพื่อผลิตทองคำ โดยกำชับให้บริษัทฯ ดำเนินกิจการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยแร่รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาตอย่างเคร่งครัด รวมถึงเน้นย้ำเรื่องการจ้างแรงงานให้จ้างประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงก่อน เพื่อให้ชุมชนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้นและเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อชุมชน ในส่วนของการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนและคุณภาพสิ่งแวดล้อมทั้งในพื้นที่ประกอบการและพื้นที่โดยรอบ ได้กำชับให้บริษัทฯ ส่งเสริม ช่วยเหลือ ดูแล และพัฒนาชุมชนโดยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการกองทุนต่าง ๆ เช่น กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ กองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่ เพื่อให้การประกอบกิจการได้รับการยอมรับ และสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนและสังคมได้อย่างยั่งยืนต่อไป

วันเพ็ญ พรมรังสรรค์ รองประธานกลุ่มปฏิรูปทรัพยากรและทองคำกล่าวว่า บริษัทอัคราฯ ไม่สามารถกลับมาเปิดเหมืองทองได้ เนื่องจาก พ.ร.บ. แร่ 2560 มาตรา 19 ระบุ ต้องประกาศเขตแหล่งแร่ มาตรา 21 ต้องประกาศให้มีการประมูลแข่งขันอย่างเป็นธรรม ดังนั้นแม้ว่าบริษัทอัคราฯ จะเคยได้สิทธิเดิมตามมาตรา 188 แต่ก็เป็นเพียงสิทธิ ที่ไม่อาจอนุญาตโดยไม่ผ่านการประกาศเขตแหล่งแร่ และ ไม่ผ่านการประมูล ตามมาตรา 19 และ มาตรา 21 เพราะจะต้องปฏิบัติตามกฏหมายฉบับนี้

ดังนั้นถ้าหากกรมอุตสากรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) อนุญาตประทานบัตรให้กับบริษัทอัคราฯ ก็จะเป็นการทำผิดกฏหมาย พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. 2560 มาตรา 19 มาตรา 21  และ ยังเป็นการทำผิดกฏหมายว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) มาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 มาตรา 12 มาตรา 13 ซึ่งกรณีนี้ บริษัทอัคราฯ ก็จะมีความผิดฐานเป็นตัวการร่วม

ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา กลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและ ทองคำ จึงได้เข้าแจ้งความต่อ กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) โดยมี ร.ต.อ.กรกฎ ศรนิกร รอง สว. (สอบสวน) บก.ปปป. รับแจ้งใน 3 คดี เพื่อขอให้สอบสวน โดยหากพบว่ามีการอนุญาตประทานบัตร ให้กับบริษัทอัคราฯ จริง ขอให้ดำเนินคดีเอาผิดตามกฏหมายให้ถึงที่สุดต่อไป

  1. คดีที่ นายพิเชฐ ทองศรีนุ่น หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 17/2559 ได้ลงสอบสวนคดีนี้ ตั้งแต่ปี 2559 ร่วมกับอัยการ และพบว่าบริษัทอัคราฯ กระทำผิดหลายกรณี หนึ่งในนั้นคือการขุดถนน ทำเหมืองทองคำนอกเขตประทานบัตร เนื่องจากบริษัทฯ ได้เคยทำข้อตกลงเป็นเงื่อนไขท้ายประทานบัตรสัญญาว่าจะไม่ขุดถนนทุกเส้นและจะกันออกไม่ต่ำกว่า 50เมตร แต่กลับพบว่าบริษัทฯ ได้ขุดถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1301 และทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งผลการสอบสวนพบว่ามีการกระทำความผิดตามข้อร้องเรียน แต่ กลับไม่ได้เอาผิดกับบริษัทฯ ในข้อหาขุดถนนทำเหมืองทองคำนอกเขตประทานบัตร แต่อย่างใด แม้ว่า กลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำจะทำหนังสือท้วงติง อยู่หลายครั้ง แต่ อัยการ และ ดีเอสไอ กลับไม่ดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายกับบริษัท อัคราฯ ให้ครบถ้วน แต่อย่างใด ล่าสุดจากหนังสือชี้แจงอัยการ กลับพบว่า ผู้ร้องเรียนในคดีนี้กลับถูกเปลี่ยนตัวผู้ร้อง เป็นคนอื่น และ อัยการยังแจ้งว่า กลุ่มประชาสังคมฯ ในฐานะผู้ร้อง เป็นบุคคลภายนอกคดี ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ จึงเป็นพิรุธกรณีอาจจะเป็นการทำสำนวนเท็จ และ อาจจะเป็นการ ตัดคดีให้หายไปเพื่อไม่เอาผิดกับบริษัทอัคราฯจึงต้องยื่น ต่อ ปปป. ให้สอบสวน โดยหากพบว่า มีการกระทำความผิด ก็ขอให้เอาผิดตามกฎหมายให้ถึงที่สุดต่อไป

2. คดี กระทรวงอุตฯ กรมเหมืองแร่ อาจอนุญาตให้ทำเหมืองในพื้นที่ที่ไม่ได้ขอประทานบัตร

3. คดี กระทรวงอุตสาหกรรม และกรมเหมืองแร่ อาจอนุญาต ประทานบัตร ให้บริษัทอัคราฯ โดยมิชอบ

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS