ATK ในสถานศึกษา เสี่ยงจึงตรวจ! อนุทิน ยัน ไม่ได้เป็นมาตรการบังคับ

“ผู้อำนวยการ IHRI” ย้ำ ATK ไม่ใช่เครื่องมือป้องกันโรค ด้าน “TDRI” หวั่นมาตรการคุมโรคเกินจำเป็น กลายเป็นการกีดกันนักเรียน แนะ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ ใช้ดุลยพินิจรอบด้าน เน้นหลักวิทยาศาสตร์ 

ปฏิกริยาของผู้ปกครองบางส่วนเมื่อวานนี้ (18 ม.ค. 2565) ที่รวมตัวกันเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขยกเลิกการตรวจ ATK (แอนติเจน เทสต์ คิท) กับกลุ่มเด็กนักเรียน หลังเด็กต้องทนกับการถูกแยงจมูกเพื่อตรวจหาเชื้อเป็นประจำ ทั้งที่สุขภาพแข็งแรง ซึ่งขัดแย้งกับการที่กระทรวงสาธารณสุขบอกว่า เตรียมจะประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นภายในปีนี้ 

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า ไม่ใช่มาตรการบังคับแต่เป็นการขอความร่วมมือเพื่อความปลอดภัยในสถานศึกษา ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสถานศึกษาแต่ละแห่ง โดยการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ ATK ไม่จำเป็นต้องตรวจทุกวันหากไม่ได้เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง แต่หากสงสัยว่าจะติดเชื้อ ก็ตรวจหาเชื้อสัปดาห์ละครั้ง ขณะที่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ก็จะเริ่มฉีดวัคซีนให้เด็กอายุ 5 ปีขึ้นไปเป็นวัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งมาตรการในการควบคุมโรค 

วันนี้ (19 ม.ค. 2565) The Active สอบถามความชัดเจนเรื่องนี้กับ นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา โฆษกกรมอนามัย กล่าวถึงที่มาของการตรวจ ATK ในสถานศึกษาว่าเริ่มจากการกลับมาเปิดเรียนออนไซต์วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 แต่การตัดสินใจเปิดเรียนไม่พร้อมกัน ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัด ซึ่งทางกรมอนามัย และกระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกแนวทางร่วมกัน 7 มาตรการเข้มออนไซต์มั่นใจปลอดภัยโควิด-19 ซึ่งกำหนดให้นักเรียนประเมินความเสี่ยงตนเองผ่านแอปพลิเคชันไทยเซฟไทยเป็นหลัก 

นพ.เอกชัย ระบุอีกว่า หากอยู่ในกลุ่มเสี่ยงจึงให้ตรวจ ATK ซึ่งไม่ได้เป็นการระบุให้ตรวจทุกวัน แต่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในพื้นที่ ประกอบกับมติของคณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัด ซึ่งหลังจากนี้คงมีการสื่อสารสร้างความเข้าใจให้มีความชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับข้อปฏิบัติในการตรวจ ATK ในสถานศึกษา

“กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการได้ออกแนวทางร่วมกันคือการประเมินความเสี่ยงตัวเองเบื้องต้น โดยการใช้ไทยเซฟไทยเป็นการประเมินที่ใคร ๆ ก็สามารถทำได้ทุกวัน ถ้าหากประเมินความเสี่ยงตรงนี้พบว่ามีความเสี่ยงสูงถึงไปตรวจ​ ATK​ ไม่ใช่ว่าตรวจหมดทุกคน​ อันนี้เป็นการประกาศออกมาเพื่อให้เราประเมินตัวเองก่อน” 

นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา

IHRI ย้ำ ตรวจ ATK ไม่ใช่เครื่องมือป้องกันควบคุมโรค 

ด้าน พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) กล่าวว่า ATK ไม่ใช่การป้องกันโรค เป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจคัดกรองเบื้องต้น ซึ่งควรใช้กับกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มที่มีอาการมากกว่า สำหรับบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยง เข้าไปในสถานที่เสี่ยงหรือไม่มีอาการ อีกทั้งยังฉีดวัคซีนครบแล้ว ก็อาจไม่มีความจำเป็นต้องตรวจ ATK 

พญ.นิตยา ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า สถานการณ์เวลานี้ มีการหวนกลับไปใช้วิธีเมื่อ 2 ปีที่แล้ว คือสั่งให้ผู้ประกอบการต้องตรวจ ATK ทั้งที่ทราบว่า โควิด-19 เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ เพียงแค่ใส่หน้ากาก ล้างมือ ก็สามารถช่วยป้องกันได้ เพราะไม่มีอะไร 100% แม้แต่วัคซีนก็ยังไม่ 100% ทุกคนต้องยอมรับว่ามีความเสี่ยงอยู่บ้าง แต่ต้องให้ทุกคนร่วมตัดสินใจบนฐานความรู้ที่ถูกต้อง 

TDRI แนะ คกก.โรคติดจังหวัดฯ ​ระวังมาตรการคุมโรคที่เกินจำเป็น 

แนวทางฏิบัติที่ต่างกันไปในแต่ละสถานศึกษา โดยเฉพาะการตรวจ ATK แม้ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ จะมีแนวทางที่ชัดเจนแต่ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัด เนื่องจากประกาศของกระทรวงศึกษาเปิดช่องให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกำหนดเงื่อนไขและขั้นตอนเพิ่มเติมแก่โรงเรียนในจังหวัดได้ 

ณิชา พิทยาพงศกร นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ดุลยพินิจของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด อาจไม่สอดคล้องกับแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษากำหนดไว้ร่วมกัน เช่น ในกรณีมีผู้ติดเชื้อประปรายในชุมชน โรงเรียนยังอาจเปิดสอนได้ตามแผนเผชิญเหตุที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด แต่คณะกรรมการฯ อาจสั่งปิดโรงเรียนทั้งจังหวัดได้ทันที ปรากฏการณ์นี้สอดคล้องกับผลการสำรวจโรงเรียนที่ไม่ได้เปิดเรียนออนไซต์ ที่ส่วนใหญ่รายงานว่าสาเหตุที่เปิดเรียนไม่ได้มาจากมติของคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด/กทม.

โดยจากการสัมภาษณ์ผู้บริหารสถานศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งในสังกัด สพฐ. อปท. และ เอกชน พบว่า มีการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมจากประกาศของ ศธ. เช่น กำหนดให้บุคลากรในสถานศึกษาต้องได้รับวัคซีน 100% จึงจะขอเปิดเรียนได้ ทั้งที่ ศธ. กำหนดไว้เพียง 85% และกำหนดให้โรงเรียนที่ประสงค์จะเปิดเรียนออนไซต์จะต้องผ่านกระบวนการพิจารณา 7 ขั้นตอน ในระหว่างขั้นตอนนี้หากหน่วยงานใดเพียงหน่วยงานหนึ่งใช้ดุลยพินิจไม่ให้เปิด ก็จะไม่สามารถเปิดได้ คำขอเปิดเรียนของโรงเรียนบางแห่งถูกชะลอไว้ตั้งแต่ระดับอำเภอ ไปไม่ถึงการพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เนื่องจากการสื่อสารนโยบายที่ผ่านมาทำให้เจ้าพนักงานกังวลว่าจะถูกลงโทษหากเกิดการระบาดขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบ

นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และกระทรวงสาธารณสุข ควรทบทวนเงื่อนไขการขอเปิดโรงเรียนและมาตรการป้องกันการระบาดในสถานศึกษา ให้มีความเข้มข้นใกล้เคียงกับสถานประกอบการอื่น ๆ คงไว้เพียงมาตรการที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วว่าเพียงพอ และตัดเงื่อนไขที่อยู่นอกเหนือขอบเขตความรับผิดชอบของสถานศึกษาออก และควรระมัดระวังไม่ให้มาตรการบางอย่างกลายเป็นการกีดกันนักเรียน เช่น การห้ามไม่ให้นักเรียนที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือไม่มีผลตรวจ ATK เข้าเรียน

“หากมีมาตรการใดที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดที่สถานศึกษาต้องปฏิบัติตาม กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุขควรสนับสนุนทรัพยากรให้เพียงพอต่อการปฏิบัติตามมาตรการเหล่านั้น เช่น จัดสรรชุดตรวจ ATK ให้เพียงพอเพื่อไม่ให้นักเรียนและผู้ปกครองต้องแบกรับค่าใช้จ่าย”

ณิชา พิทยาพงศกร

นอกจากนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดควรให้อำนาจสถานศึกษาตัดสินใจตามแผนเผชิญเหตุที่มีการกำหนดไว้ หากจะใช้อำนาจสั่งปิดสถานศึกษา ควรพิจารณาผลดีและผลเสีย โดยใช้ข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์และสถิติเชิงประจักษ์ประกอบการตัดสินใจ ข้อมูลสำคัญที่ต้องใช้เป็นหลักในการพิจารณาคือ อัตราการระบาดในชุมชนและอัตราการได้รับวัคซีนในชุมชน และควรพิจารณาปิดเป็นรายโรงเรียนไป ควรหลีกเลี่ยงการสั่งปิดโรงเรียนแบบยกหน้ากระดาน เมื่อสถานการณ์ระบาดคลี่คลาย ควรให้โรงเรียนที่ถูกสั่งปิดไปกลับมาเปิดได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาใหม่ทั้งหมด

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS