ศจพ.โขงเจียม เดินหน้าคุย Road Map ดึงทุกมิติ แก้จน ช่วยคนอุบลฯ

“คำผ่อง โยธาราช” ตัวละครในสารคดี “คนจนเมือง” หนึ่งใน 53 ครัวเรือน เข้าเกณฑ์ได้รับการช่วยเหลือแก้จน พมจ.อุบลฯ รับต้องแก้หลายมิติ บูรณาการร่วมหลายฝ่าย

ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาชนบทตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ประชุมทีมแก้ปัญหาคนจนในพื้นที่ จากการประชุมได้ข้อมูลว่า มีรายชื่อครัวเรือนที่เป็นคนจนที่อยู่ในเกณฑ์ ต้องได้รับการช่วยเหลือใน 4 เขต อบต. ของ อ.โขงเจียม จำนวน 47 ครัวเรือน รวมกับฐานข้อมูลเดิมอีก 6 ครัวเรือน รวมจำนวนคนจน ที่อยู่ในพื้นที่โขงเจียมที่ต้องได้รับการช่วยเหลือทั้งหมด 53 ครัวเรือน หนึ่งในนั้นคือครอบครัวของ คำผ่อง โยธาราช หนึ่งในตัวละครที่ปรากฎในสารคดีชุด คนจนเมือง ตอน “คนจนข้ามรุ่น”

วินิจ เทพนิต นายอำเภอโขงเจียม ระบุ การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการหารือการแก้ปัญหาอย่าจริงจังครั้งแรก ทั้งนี้ในอนาคตหลังจากการประชุมครั้งนี้ การดำเนินการครัวเรือนที่เป็นข้อมูลจากทางอำเภอที่เสนอกันในการประชุมครั้งนี้ต้อง ได้รับการรับรองจาก ศจพ. ทางอำเภอจะมอบหมายให้กับทางปฏิบัติการ หรือทีมพี่เลี้ยงได้ลงพื้นที่ไปจัดทำข้อมูลและจัดทำแผนในแต่ละครัวเรือนเรียกได้ว่าเป็นตัวแผนของ Family folder  เพื่อที่จะขับเคลื่อนแต่ละด้าน ทั้งหมด 5 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ รายได้, ความเป็นอยู่, การศึกษา, สุขภาพ และการเข้าถึงบริการภาครัฐ 

วินิจ เทพนิต นายอำเภอโขงเจียม

เรื่องของแผนงานโครงการ หรืองบประมาณที่ดำเนินการ  ต้องอาศัยการบูรณาการของทุกภาคส่วน ทั้งส่วนราชการ ภาคส่วนของประชาชน และภาคส่วนของเอกชน ซึ่งคณะกรรมการ ศจพ.อำเภอ ประกอบไปด้วยส่วนของทุกภาคส่วนอยู่แล้ว รวมทั้งภาคส่วนของชุมชนด้วยในการที่จะร่วมขับเคลื่อน 

“การแก้ไขปัญหาแบบนี้ ลำพังเฉพาะส่วนของราชการอย่างเดียวอาจจะมีข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกฎระเบียบหลักเกณฑ์ เพราะฉะนั้นถ้าได้รับการเติมเต็มของประชาชนภาคเอกชนเหล่านี้ก็จะทำให้การดำเนินการหรือช่วยเหลือในส่วนของครัวเรือนเป้าหมายสำเร็จผลได้ดียิ่งขึ้น”

สอดคล้องกับแนวคิด วิศิษฐ์ ผลดก พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุบลราชธานี ระบุว่า ความหลากหลายของหน่วยงานและการทำงานในมิติเดียวของแต่ละหน่วยงานเป็นข้อท้าทายของการทำงานที่จะต้องบูรณาการเข้ากันให้ได้ การทำงานไม่ว่าจะเป็นเรื่องหาเงินสงเคราะห์ครอบครัวและการปรับปรุงที่อยู่อาศัย ทุนประกอบอาชีพอื่น ๆ โดยมีนักสังคมสงเคราะห์ที่จะช่วยดูแลคุณภาพชีวิตในทุกมิติ ตามกรอบของ ศจพ. กำหนดมา แล้วนำไปประยุกต์จับคู่เข้าหากันให้ได้

วิศิษฐ์ ผลดก พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุบลราชธานี

“สิ่งที่เราจะทำก็คือทำยังไงที่จะให้หน่วยงานนั้นๆไม่มองแค่กรอบงานของตัวเองที่มีอยู่ มันอยู่คนละมิติ ตรงนี้ต่างหากที่เราจะต้องคุยกันแล้วก็วางแนวเพื่อให้มันได้แบบครอบคลุมแบบองค์รวมให้ได้ในการทำงาน งานอันนี้เป็นเรื่องยากเพราะเราเคยชินกับการทำงานแบบประจำ ในฟังก์ชันนั้น มิติความยากจน ทำเพียงฟังก์ชันใดฟังก์ชันหนึ่งหรือมิติใดมิติหนึ่งไม่ได้ จะต้องนึกถึงคนอื่นด้วยรู้เขารู้เราเพื่อที่จะไปดึงทรัพยากรมาบูรณาการการให้คือหัวใจของการทำงาน”

ส่วนกรณีของ คำผ่อง โยธาราช ถือเป็นหนึ่งในครอบครัวที่ต้องได้รับการช่วยเหลือเข้าสู่กระบวนการเหล่านี้เช่นกัน 

“เราวิเคราะห์รากเหง้าของปัญหาแล้วโดยเอาตัวมิติต่าง ๆ เป็นตัวตั้ง มิติคุณภาพชีวิตมิติรายได้ มิติการศึกษา มิติสุขภาพ เมื่อได้แต่ละมิติแล้ว ก็เขียนแผนออกมาว่ามันจะมีเรื่องอะไรบ้างที่จะช่วยเขาแต่ละเรื่องที่เขียนออกมาหน่วยงานไหนจะเป็นเจ้าภาพหลัก ต้องไปประสานแล้วดึงทรัพยากรนั้นเข้ามาร่วมกัน แล้วก็อาจจะมีการตั้งวงคุยกัน ว่ารายนี้จะต้องมี Road Map ไปแบบไหน ช่วงเวลาให้ได้มาถึงจะกำเนิดเป็นรูปประธรรม เวลาเขียนเสร็จแล้วก็ต้องเอามานำเสนออำเภอ เรียกเครือข่ายทั้งหมดมาหาทางออกร่วมกัน”

ขณะนี้ อ.โขงเจียม อยู่ในขั้นตอนของการรับรอง และจะเข้าสู่กระบวนการของจังหวัด ในวันที่ 14 ม.ค.นี้ เมื่อผ่านที่ประชุมของจังหวัดข้อมูลจะถูกส่งกลับมาที่อำเภอ ส่งพี่เลี้ยงลงพื้นที่และนำข้อมูลเข้า ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า หรือ TPMAP เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกัน ว่า แต่ละครัวเรือนควรจะได้รับการพัฒนาในลักษณะใดและมิติใดบ้างตามข้อมูลที่ลงพื้นที่ อาจกล่าวได้ว่าหากพื้นที่นี้ทำได้อย่างแผนที่วางไว้ได้จริงจะเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ ที่สามารถเป็นแบบให้กับพื้นที่อื่น ๆ ได้ 

โดยกระบวนการแก้จนนี้ตั้งต้นมาจาก  คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 347/2563 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2563 เรื่องจัดตั้งศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาชนบทตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน และเป็นนโยบายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาระเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบการจัดทำแผนระดับต่างๆ เพื่อการพัฒนาประเทศไทยที่มีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ทั้งนี้การจัดตั้งศูนย์เพื่อเป็นกลไกแก้ไขปัญหาควมยากจนลดความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาคนทุกช่วงวัย อย่างบรณาการเป็นรูปธรรม และยั่งยืนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายคนจนจากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า หรือ TPMAP คนจนเป้าหมาย 983,316 ทั่วประเทศไทย  

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ