ขยะติดเชื้อพุ่งวันละ 70 ตัน กทม. เตรียมเปิดใช้เตาเผาขยะชุมชน

เร่งประชาสัมพันธ์ขยะจากชุดตรวจ ATK แม้ผลเป็นลบ ถือเป็นขยะติดเชื้อต้องแยกทิ้งกับขยะทั่วไปเพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่เก็บขยะ

วันนี้ (11 ม.ค.2565) กรุงเทพมหานคร รายงานข้อมูลขยะติดเชื้อของวันที่ 9 ม.ค.2565 แบ่งเป็นขยะมูลฝอยติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 23,990 ก.ก. ขยะมูลฝอยติดเชื้อทั่วไป 47,180 ก.ก. รวม 71,170 ก.ก. โดยปริมาณขยะติดเชื้อใน กทม. มีแนวโน้มสูงขึ้นตั้งแต่ 1 ม.ค.2565 ซึ่งอยู่ที่ 47,420 ก.ก. ต่อวัน

The Active สอบถามไปยังนายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ระบุว่า ปริมาณขยะติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น ปัจจัยสำคัญมาจากผู้ติดเชื้อใน กทม.ที่เพิ่มขึ้น ทั้งในสถานพยาบาล รวมถึง กทม.กลับมาเปิดศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ(Community Isolation : CI) และประชาชนที่รักษาตัวเองที่บ้าน (Home Isolation : HI) ทำให้สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ต้องกลับมาทำงาน 24 ชม. เพื่อป้องกันขยะติดเชื้อสะสมในชุมชน และพื้นที่สาธารณะ

นายวิรัตน์ ยืนยันว่า ปริมาณขยะเวลานี้ยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ เนื่องจากมีบทเรียนจากปีที่ผ่านมา ขยะจากผู้ติดเชื้ออย่างหน้ากากอนามัย ชุดตรวจ ATK เคยพุ่งไปแตะ 60-70 ตันต่อวัน  ครั้งนั้นมีขยะที่ต้องรอเผาเนื่องจากเตาเผาขยะของ กทม.มีกำลังอยู่ที่ 60 ตัน/วัน  แต่ว่าปีนี้ได้เพิ่มในส่วนของเตาเผาชุนชนต่างๆ ที่ผ่านการอนุญาตเพิ่มอีกกว่า 300 ตัน ก็น่าจะเพียงพอต่อปริมาณขยะใน กทม. ขณะที่กำลังเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะพนักงานเก็บขยะ ซึ่งถือว่าเป็นด่านหน้ายังถือว่าเพียงพอ โดยได้รับการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ครบทุกคน

วิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม.

“ตอนนี้กรมอนามัย กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ อนุญาตให้เตาเผาชุมชนสามารถนำขยะติดเชื้อเข้าไปเผาได้ เนื่องจากเตาเผาชุมชนที่มีกำลังกว่า 300 ตัน/วัน ความร้อนอยู่ที่ 1,000 องศาเซลเซียสสามารถเผาขยะติดเชื้อได้เหมือนกัน และมีการควบคุมอากาศที่ปล่อยออกมา เพราะฉะนั้นในส่วนที่เกินจาก 70 ตัน ก็พอที่จะรองรับได้ในส่วนของกทม.”

นอกจากขยะติดเชื้อโควิดในสถานพยาบาล HI CI แล้ว ขยะติดเชื้อทั่วไป อย่างหน้ากากอนามัย และชุดตรวจ ATK ก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน เนื่องจากปัจจุบันเข้าถึงง่าย ราคาไม่แพง แม้ผลจะออกมาเป็นลบแต่ก็ต้องทำลายด้วยวิธีการเผาเช่นกัน ที่ผ่านมา กทม.ได้เพิ่มถังขยะติดเชื้อตามชุมชน สถานที่ราชการ แต่หากชุมชนไหนไม่มีจุดทิ้งรวม เช่น ต้องเอามาทิ้งที่ถังขยะริมฟุตบาท หากไม่มีถุงสีแดง ก็สามารถผูกปากถุงด้วยเชือกหรือโบว์สีแดง เป็นสัญลักษณ์ให้พนักงานเก็บขยะรู้ 

ก่อนหน้านี้ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ขอให้ผู้ที่ใช้ชุดตรวจ ATK กำจัดอย่างถูกวิธี เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค โดยมีแนวทางการจัดการ แบ่งออกเป็น 2 กรณี ได้แก่

1) กรณีในพื้นที่หรือชุมชนมีระบบการเก็บขนขยะติดเชื้อ ให้เก็บรวบรวมขยะติดเชื้อเป็นประจำทุกวัน ใส่ถุงขยะสีแดง 2 ชั้น โดยถุงชั้นแรกที่สัมผัสขยะติดเชื้อ มัดปากถุง ด้วยเชือกให้แน่น แล้วฉีดพ่นบริเวณปากถุงด้วยสารฆ่าเชื้อ เช่น สารโซเดียมไฮโปคลอไรท์ 5,000 ppm หรือเตรียมจากน้ำยาฟอกขาวผสมน้ำอัตราส่วน 1 : 10 หรือแอลกอฮอล์ 70 % มัดปากถุงชั้นนอกด้วยเชือกให้แน่น และฉีดพ่นบริเวณปากถุงด้วยสารฆ่าเชื้ออีกครั้ง แล้วเคลื่อนย้ายไปไว้ยังจุดพักขยะที่จัดไว้เฉพาะ ประสานไปยังหน่วยงานที่ทำหน้าที่ให้บริการเก็บขนขยะติดเชื้อในพื้นที่ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อกำหนดวิธีการนำขยะติดเชื้อไปกำจัดอย่างถูกต้องต่อไป

2) กรณีในพื้นที่หรือชุมชนไม่มีระบบการเก็บขนขยะติดเชื้อ หรือระบบการเก็บขนขยะติดเชื้อเข้าไม่ถึง ให้เก็บรวบรวมและทำลายเชื้อ โดยใส่ถุงขยะ 2 ชั้น ถุงใบแรกที่บรรจุขยะติดเชื้อแล้วให้ราดด้วยสารฆ่าเชื้อหรือน้ำยาฟอกขาว เช่น ไฮเตอร์ จากนั้นมัดปากถุงให้แน่นแล้วฉีดพ่นบริเวณปากถุงด้วยสารฆ่าเชื้อ เช่นสารโซเดียม ไฮโปคลอไรท์ 5,000 ppm หรือเตรียมจากไฮเตอร์ผสมน้ำอัตราส่วน 1 : 10 หรือแอลกอฮอล์ 70 % ซ้อนด้วยถุงขยะอีก 1 ชั้น มัดปากถุงชั้นนอกด้วยเชือกให้แน่น และฉีดพ่นด้วยสารฆ่าเชื้อบริเวณปากถุงอีกครั้ง ซึ่งขยะที่ผ่านการทำลายเชื้อแล้ว ให้ประสานและนำส่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่นำไปกำจัดเป็นขยะทั่วไป โดยหลังจัดการขยะติดเชื้อแล้ว ต้องล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์ทันที 

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน