กทม. เตรียมพร้อม CI 40 แห่ง รองรับผู้ป่วยโควิด-19

กำชับสถานศึกษาตรวจ ATK กลุ่ม นร.กทม.ให้ครอบคลุม พร้อมเปิดศูนย์พักคอยฯเด็ก ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เด็กใน กทม. ด้าน สปสช.ย้ำ หากพบผลบวกโทร 1330 มีเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลภายใน 6 ชั่วโมง

4 ม.ค. 2565 พล.ต.อ.อัศวิน  ขวัญเมือง  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่าจากแนวโน้มของสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทย ขณะนี้ พบว่ามีแนวโน้มจํานวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ที่ประชาชนจะมีการจัดงานตามประเพณีท้องถิ่นและทางศาสนา งานเลี้ยงสังสรรค์ รวมถึงการท่องเที่ยว ซึ่งจะมีการรวมกลุ่มบุคคลเป็นจํานวนมาก

กรุงเทพมหานคร ได้เตรียมความพร้อมของบุคลากร สำรองเตียงพยาบาล ยาเวชภัณฑ์ เครื่องมือทางการแพทย์ หากเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ นอกจากนี้ ยังได้มีการเตรียมความพร้อมสถานที่รองรับผู้ป่วย ศักยภาพเตียงโรงพยาบาล มีจำนวนทั้งหมด 25,345 เตียง แบ่งออกเป็น 

  • โรงพยาบาลหลัก 2,922 เตียง 
  • โรงพยาบาลสนาม 2,898 เตียง
  • Hospitel 19,525 เตียง 

(ข้อมูลจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข) 

รวมทั้งเตรียมพร้อมศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation) จำนวน 40 แห่ง รองรับผู้ป่วยได้ 5,066 เตียง ปัจจุบันเปิดให้บริการ 3 แห่ง จำนวน 772 เตียงมีผู้ครองเตียงจำนวน 50 ราย คงเหลือ 5,016 เตียง 

ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 37 แห่ง อยู่ในสถานะ Standby Mode ซึ่งพร้อมเปิดให้บริการภายใน 24 ชั่วโมง จำนวน 25 แห่ง 3,062 เตียง พร้อมเปิดบริการภายใน 3 วัน จำนวน 12 แห่ง 1,232 เตียง (ข้อมูล ณ วันที่ 4 ม.ค. 2665) 

หากพบผลบวกโทร 1330 มีเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลภายใน 6 ชม.

ด้านนายแพทย์จเด็จ​ ธรรมธัชอารี​ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ​ หรือ สปสช.​ ให้ความมั่นใจกับประชาชนที่เข้ารับการตรวจ ATK ในหลายจุด ทั้งสถานีขนส่ง ท่าอากาศยาน หลังกลับมาจากภูมิลำเนา ก่อนเข้าทำงานในช่วงหลังเทศกาลปีใหม่ว่า หากพบผลบวก แต่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย​ ถือเป็นผู้ติดเชื้อ กลุ่มคนไข้สีเขียว ที่จะจัดเข้าสู่ระบบรักษาตัวที่บ้าน​ home isolation โดยมี 2 ช่องทางในการติดต่อเพื่อเข้ารับบริการช่องทางแรกคือสถานพยาบาลใกล้บ้านที่มีสิทธิ์ประกันสุขภาพประจำอยู่ 

แต่หากไม่สามารถติดต่อได้หรือไม่สะดวกอีกช่องทางหนึ่งคือที่สายด่วน 1330 กด 12 จะมีเจ้าหน้าที่คู่สายกว่า 3,000​ คู่สายเตรียมความพร้อมรับมือ จำนวนผู้ติดเชื้อที่อาจเพิ่มสูงขึ้น โดยสามารถให้บริการได้ภายใน 6 ชั่วโมง​ ภายหลังจากที่โทรศัพท์เข้ามาเพื่อขอเข้าสู่ระบบ​ จะมีเจ้าหน้าที่ไปพบ เพื่อประเมินอาการ จ่ายยา และยังคงส่งอาหาร 3 มื้อเพียง​ ลดระยะเวลาในการรักษาตัวลงจาก 14 วันเหลือเพียง 10 วัน​ 

“ภายใน 6 ชั่วโมง มีกระบวนการให้บริการเหมือนเดิม ส่งอาหาร 3 มื้อ มีแพทย์ติดตามอาการ ส่งอุปกรณ์ ส่งยา ส่วนการรักษาปรับเหลือแค่ 10 วัน เพราะอาการของโรคไม่รุนแรง”

สั่งสถานศึกษาตรวจ ATK กลุ่ม นร.กทม.

พ.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงศ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มอบหมายสำนักอนามัย เตรียมพร้อมอุปกรณ์สำหรับผู้ป่วยที่ทำการรักษาตัวที่บ้าน (HI) เช่นเครื่องวัดออกซิเจน และเครื่องวัดอุณหภูมิ ให้สามารถมอบให้ผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว และทำความสะอาดอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ง่าย 

รวมทั้งจัดเตรียมคู่สายสำหรับศูนย์ EOC เขต เพื่อให้ประชาชนได้มีช่องทางการติดต่อสื่อสารหากเกิดกรณีเร่งด่วน และให้ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์เตรียมความพร้อมการรับ-ส่งผู้ป่วย โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมสนับสนุนการทำงานด้วย

ทั่งนี้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดซึ่งอาจเกิดจากกลุ่มเด็กและครอบครัวที่เดินทางไปต่างจังหวัดในช่วงเทศกาลปีใหม่ จึงมอบหมายให้สำนักการศึกษากำชับสถานศึกษาในสังกัด กทม.เข้มข้นการตรวจATKในกลุ่มเด็กที่ต้องไปเรียน On-site รวมถึงเตรียมพร้อมเปิดศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อสำหรับเด็ก ณ เขตดุสิต เพิ่มเติม เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดในอนาคต

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS