ท้องถิ่น’ตัวช่วย’สำคัญลดอุบัติเหตุ-ภาระสาธารณสุข

ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 สรุปสถิติสะสม 3 วัน มีผู้เสียชีวิตแล้ว 153 คน สาเหตุหลักจากขับรถเร็ว-เมาแล้วขับ นักวิชาการแนะทุกภาคส่วนปรับแผนสร้างบทบาทให้ท้องถิ่นร่วมลดอุบัติเหตุ ลดความสูญเสียให้ได้ตามเป้าหมายชาติ

จากสถิติพบว่า รถจักรยานยนต์คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุดอยู่ที่ ชั่วโมงละ 1 คน และทุก 2 ชั่วโมงจะมีผู้พิการเพิ่มขึ้นอีก 1 คน เชื่อว่า หลายฝ่ายไม่ต้องการให้เรื่องนี้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะในสถานการณ์ใด หรือ กับใคร

ไทยยังติดอันดับ 9 ของโลกและเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย ที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ โดยรถจักรยานยนต์เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของไทย ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดในเขตชุมชน นักวิชาการด้านอุบัติเหตุจึงเห็นว่า หากทำให้ท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการรณรงค์ให้ตระหนักถึงผลเสียของอุบัติเหตุ รวมถึงเฝ้าระวัง จะช่วยลดอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตลงได้

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า การออกแบบและวางแผนการขับเคลื่อน ตำบลขับขี่ปลอดภัยโดยชุมชนท้องถิ่น เพื่อลดอัตราการตายและการบาดเจ็บบนท้องถนนเป็นหนึ่งในเป้าหมายระยะ 10 ปี เนื่องจากอุบัติเหตุทางถนนเป็น 1 ใน 3 อันดับแรกของปัญหาสาธารณสุขไทย ซึ่งมีแนวโน้มมากขึ้นทุกปี

นพ.ธนะพงษ์ จินวงษ์ ผจก.ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน

“การให้ด่านหน้าที่เป็นท้องถิ่นชุมชนเปลี่ยนจากการณรงค์ มาเป็นการสร้างระบบการจัดการ ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทาย แต่ต้องเสริมวิธีการมองปัญหา และการวิเคราะห์ปัญหา แต่จะเป็นไปได้ภาครัฐต้องเสริมหลักวิชา ความพร้อมในเชิงโครงสร้าง งบประมาณและปลดล็อกกฏระเบียบความรับผิดชอบต่าง ๆ เพราะบางเรื่องมันมีความซ้ำซ้อนกับภารกิจหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้มีความคล่องตัวมีความเข้มแข็งมากขึ้นถึงจะจัดการเรื่องนี้ได้”

ถนนในประเทศไทยอยู่ในความรับผิดชอบของท้องถิ่นกว่า 6 แสนกิโลเมตร

ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ปี 2562 พบว่า ถนนทั่วประเทศกว่า 7 แสนกิโลเมตร กว่า 6 แสนกิโลเมตร อยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 7 พันแห่ง นักวิชาการด้านอุบัติเหตุจึงชวนคิดว่า หากท้องถิ่นมีบทบาทตั้งแต่สร้างการรับรู้ รณรงค์เรื่องความปลอดภัยทางถนนและช่วยเฝ้าระวังอุบัติเหตุ จะช่วยลดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตลงได้

รศ.ขนิษฐา นันทบุตร ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน คณะพยาบาลศาสตร์ ม.ขอนแก่น ในฐานะเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส.ระบุว่า ท้องถิ่นมากกว่า 7 พันแห่ง ขณะนี้มีประมาณ 2,500 ตำบลที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกสร้างชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งลดอุบัติเหตุโดยการสนับสนุนของ สสส.และกว่า 50 แห่งสามารถเป็นชุมชนต้นแบบได้แล้ว แต่สิ่งที่ท้องถิ่นสะท้อนแนวทางการทำงาน คือยังพบช่องว่างการประสานงานจากส่วนกลางเพื่อเชื่อมทั้งบทบาท และอำนาจหน้าที่กับหน่วยงานอื่น

รศ.ขนิษฐา นันทบุตร ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน ม.ขอนแก่น

องค์การบริหารส่วนตำบลบึงคอไห อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี คือหนึ่งในชุมชนต้นแบบ พื้นที่ อบต.บึงคอไห มีถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบของหลายหน่วยงาน และที่ผ่านมาเคยเกิดอุบัติเหตุ 8-10 ครั้งใน 1-2 สัปดาห์ เสียชีวิต 1-2 คนต่อปี

แต่หลัง อบต.บึงคอไหร่วมทำโครงการขับขี่ปลอดภัย ไม่เร็ว ไม่เสี่ยง เลี่ยงอุบัติเหตุกับ สสส.ด้วยการสร้างเครือข่ายท้องถิ่น ทำข้อตกลง MOU กับทั้งภาครัฐ เอกชน มีการกำหนดช่วงเวลา ขายเหล้าบุหรี่ และจัดสิ่งแวดล้อม กำหนดจุดเสี่ยงเร่งแก้ปัญหา ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตั้งด่านชุมชนในช่วงเทศกาล และให้รางวัลบุคคลต้นแบบร่วมลดอุบัติเหตุ หลังปี 2562 แม้จะยังมีอุบัติเหตุแต่ก็ลดลงกว่าร้อยละ 50 และไม่มีผู้เสียชีวิตเลยในปี 2564

ขณะที่โรงงาน บริษัทเอกชนในพื้นที่ ก็เข้าร่วมโครงการ โดยมีการกำหนดกติกาให้พนักงานสวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่ จัดอบรมขับขี่ปลอดภัยสวมหมวกนิรภัย 100 % เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีและหวังช่วยลดอุบัติเหตุ

ตาเล็บ อีตำ ชาวตำบลบึงคอไห ในอำเภอลำลูกกา ถูกยกให้เป็นอีกบุคคลต้นแบบสวมหมวกนิรภัย เขาบอกว่า ตั้งแต่ซื้อรถจักรยานยนต์มาเมื่อปี 2538 ขณะขับขี่จะสวมหมวกนิรภัยเสมอ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยประสบอุบัติเหตุแต่เคราะห์ดีที่หมวกนิรภัยช่วยชีวิตเขาไว้ถึง 2 ครั้ง

ตาเล็บ อีตำ บุคคลต้นแบบสวมหมวกนิรภัย อบต.บึงคอไห

พรหมมินทร์ กัณธิยะ ผอ.สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ กล่าวว่า ถ้าทุกภาคส่วนมุ่งแก้ปัญหาที่ชุมชน ขับขี่ปลอดภัย สวมหมวกนิรภัย จะลดการเสียชีวิตไปได้ร้อยละ 50 กรณีบาดเจ็บ และพิการจะหายไป แต่จะทำอย่างไรให้ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการได้ด้วยตัวเอง เพราะลำพังกฎหมายส่วนกลางทำได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น

พรหมมินทร์ กัณธิยะ ผอ.สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ

“ขณะนี้บางชุมชนเขามีกฎกติกาแก้ปัญหาอุบัติเหตุที่เข้มแข็ง เช่นการคาดเข็มขัดนิรภัย การสวมหมวกนิรภัย ถ้าไม่มีหมวกนิรภัยบางชุมชนเขาก็มีให้ยืม มีการสำรวจด้วยเช่น มีรถยนต์ จักรยานยนต์กี่คัน มีใบขับขี่กี่คน อันนี้เป็นความเสี่ยงที่คนในชุมชนเขารู้ เขาก็พยายามสร้างเครือข่าย เข้าไปร่วมทั้งรัฐเอกชน ผมก็เชื่อว่าการพัฒนาต้นแบบจากชุมชน คือต้นแบบจะแก้ปัญหาได้ดีในทศวรรษที่ 2 (2564-2573)”

สำหรับประเทศไทยตั้งเป้าในทศวรรษที่สองปี 2564-2573 จะลดอุบัติเหตุให้ได้ตามที่สหประชาชาติวางได้ ขณะที่ไทยเองก็พยายามจะลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุให้เหลือ 12 ต่อแสนประชากร ภายในปี 2570 จากเดิม 34 ต่อแสนประชากร

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์