รื้อถอนความกลัวโควิด-19 ด้วยความรู้ สู่ชีวิตวิถีใหม่

ถกมุมมองออกไปใช้ชีวิตอยู่ร่วม โควิด-19 ย้ำสวมหน้ากากอนามัยปิดทางเข้าออกเชื้อ ไม่ตีตราผู้ติดเชื้อ แพทย์ยันรักษาตัว 10 วันไม่แพร่เชื้อต่อ วอนรัฐบาลเลิกล็อคดาวน์แม้ระบาด ด้าน สปสช. เตรียมงบ 3 หมื่นล้าน ปี 65 หนุนระบบCI/HI รองรับ 

เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2564 เวทีสาธารณะ Fact not Fear Covid-19 รู้ เข้าใจ ออกไปใช้ชีวิต จัดโดย The Active Thai PBS ร่วมกับ IHRI และภาคีเครือข่าย เชิญหลายภาคส่วนเข้ามาเปิดมุมมอง เกี่ยวกับการออกไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับ covid-19 ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน เริ่มเข้ามาระบาดภายในประเทศ ความเข้าใจที่ถูกต้องจะช่วยให้ความกลัวลดลงหรือไม่

โดยเวทีสาธารณะ ยกทีมงานไปจัดวงพูดคุยกันที่ชุมชนริมทางด่วนบางนา “จำนงค์ หนูพันธ์”​ ประธานชุมชนริมทางด่วนบางนา และ “ปานทอง สามารถกุล” แกนนำชุมชนริมทางด่วนบางนา เล่าให้ฟังว่า ในช่วงการระบาดรอบที่ผ่านมา เดือนกรกฎาคม 2564 ชุมชนได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 เป็นอย่างมาก มีประชาชนในชุมชนถึง 200 คนจาก 600 คนที่ติดเชื้อ โควิด-19 จนต้องเปิดศูนย์พักคอยเนื่องจากเตียงโรงพยาบาลเต็ม 

(จากซ้าย) จำนงค์ หนูพันธุ์, ปานทอง สามารถกุล

เวลานั้นยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับ โควิด-19 มากพอเพราะเป็นเรื่องใหม่ทำให้การใช้ชีวิตยากลำบากขนาด ชุมชนเงียบเหงาคนไม่กล้าออกมาใช้ชีวิต ขณะเดียวกันตัวเองก็เป็นกลายเป็นผู้ติดเชื้อ เนื่องจากต้องทำงานในชุมชนรับส่งผู้ป่วย 

การตั้งศูนย์พักคอยในระยะแรกแทบไม่ได้รับการยอมรับเพราะชาวบ้านในชุมชนข้างเคียงก็กลัวจะติดเชื้อ โควิด-19 ตามไปด้วย ซึ่งเป็นความกลัวที่เกินความเป็นจริง เพราะ โควิด-19 ไม่ได้ติดติดต่อกันทางอากาศแต่ต้องสัมผัสใกล้ชิดอยู่ร่วมกันโดยไม่มีการป้องกันใส่หน้ากากอนามัยสะท้อนให้เห็นว่าเมื่อไม่มีความรู้ความเข้าใจก็นำมาสู่ความกลัวที่เกินกว่าเหตุ

ATK ไม่จำเป็นต้องตรวจทุกคน 

ความกลัวเหล่านี้ส่งผลโดยตรงต่อสถานประกอบการร้านอาหารมากที่สุด “จีรนัย จันทร์เจียวใช้” เจ้าของสถานประกอบการร้านอาหาร บอกว่า โดนล็อคดาวน์มาแล้วถึง 3 ครั้ง พนักงานได้รับผลกระทบกลับบ้านไม่ได้ ไม่มีเงินส่งพ่อแม่ต่างจังหวัด ร้านยังต้องจ่ายเงินเดือนให้พนักงานปกติ จนถึงวันนี้ก็กลัวจะกลับไปเหมือนเดิม ตอนนี้พนักงานทุกคนก็ฉีดวัคซีนครบแล้ว แต่ก็มีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการตรวจ ATK หมื่นกว่าบาททุกเดือน มองว่าการตรวจ ATK ไม่ได้ตรวจได้ 100% ก็ไม่อยากตรวจ มองว่าไม่จำเป็น  

(จากซ้าย) จีรนัย จันทร์เจียวใช้, นพพรรณ พรหมศรี, อารี คุ้มพิทักษ์

ด้าน “พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์” ผู้อำนวยการบริหารสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) กล่าวว่า ATK ไม่ใช่การป้องกันโรค เป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจคัดกรองเบื้องต้นซึ่งควรใช้กับกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มที่มีอาการมากกว่า สำหรับบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยง เข้าไปในสถานที่เสี่ยงหรือไม่มีอาการ อีกทั้งยังฉีดวัคซีนครบแล้ว ก็อาจไม่มีความจำเป็นต้องตรวจ ATK 

สำหรับพนักงานร้านอาหารที่ต้องตรวจเอทีเคเป็นประจำ งบประมาณส่วนนี้มองว่าผู้ประกอบการนำไปซื้อหน้ากากอนามัย หรือเจลแอลกอฮอล์ล้างมือแจกพนักงาน ปรับปรุงร้านให้ได้มาตรฐานในการเว้นระยะห่างจะ เป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากกว่า

สวมหน้ากากอนามัยปิดทางเข้า-ออกเชื้อทุกสายพันธุ์ 

“อารี คุ้มพิทักษ์” เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ประเทศไทย กล่าวว่า ทุกคนตั้งต้นจากความกลัว ต้องใช้ความเข้าใจจากข้อมูลที่ถูกต้อง ที่ผ่านมาได้เข้าไปอบรมชาวบ้านในชุมชนเครือข่ายหลายชุมชน พบว่าหลายคนเข้าใจผิดว่าแค่เดินผ่านหน้าบ้านก็ติดแล้ว หรือบ้านนี้มีผู้ติดเชื้อ เปิดหน้าต่างก็อาจมีเชื้อ โควิด-19 กระโดดออกมา 

เพราะฉะนั้นเราทำความเข้าใจในโรคนี้ว่า เป็นโรคระบบทางเดินหายใจถ้าคุณใส่หน้ากากปิดทางเข้า  ถ้าคนมีเชื้ออยู่เปิดหน้ากาก คือเปิดทางออก วิธีการป้องกันคือปิดทางเข้าทางออก เวลาที่หน้ากากออกจากหน้า เราต้องเว้นระยะห่าง 2 เมตร ให้ละอองฝอยมาไม่ถึง 

บางทีข้อมูลแบบนี้อย่างเดียวก็ยังไม่เปลี่ยนความกลัวได้ เราต้องปฏิบัติให้ดูด้วยว่ามีหน้ากากไปอันเดียว เข้าไปหาคนไข้ และขอความร่วมมือจากฝ่ายคนไข้ช่วยใส่หน้ากากอนามัย ต่างคนก็ไม่แพร่เชื้อต่อกัน 

ภาพที่ออกสื่อไปว่ามีการสวมชุด PPE เข้าไปหาผู้ป่วย โควิด-19 ทำให้คนกลัวเพราะไม่มีใครมีชุด PPE ติดบ้าน แต่การใส่หน้ากากที่คู่ไปกับการฉีดวัคซีน จะทำให้ปลอดภัย เพราะบางทีมีจังหวะที่เราถอดหน้ากากเข้าออก การใส่หน้ากากอนามัยนับว่าป้องกันได้ทุกสายพันธุ์รวมถึงโอมิครอน 

หยุดขู่ประชาชน เน้นให้ข้อมูลความรู้ ให้ตัดสินใจเอง 

“พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์” กล่าวว่า เราอยู่ร่วมกับโควิดมาแล้ว 2 ปี ในช่วงเริ่มแรกที่เราไม่มีความรู้ เราก็อาจจะมีความกลัว มีการขู่และบังคับสั่งให้ผู้คนทำอย่างนี้อย่างนั้น เพราะเราไม่คุ้นชินกับการใช้ความรู้บอกให้คนเข้าใจว่าให้เลือกเอาว่ารู้อย่างนี้แล้วควรทำอย่างไร

ทุกวันนี้ยังหวนกลับไปใช้วิธีเมื่อ 2 ปีที่แล้ว คือสั่งให้ผู้ประกอบการต้องตรวจ ATK ทั้งที่ทราบว่า โควิด-19 เป็นโรคติดต่อทางทางเดินหายใจเพียงแค่ใส่หน้ากาก ล้างมือก็จบแล้ว แต่สิ่งที่ดีที่สุดไม่มีอะไร 100% แม้แต่วัคซีนก็ยังไม่ 100% ทุกคนต้องยอมรับว่ามีความเสี่ยงอยู่บ้าง แต่ต้องให้ทุกคนร่วมตัดสินใจบนฐานความรู้ที่ถูกต้อง 

ไม่ต้องกักตัว 14 วันแค่ 10 วัน เชื้อไม่แพร่ต่อแล้ว 

“อารี คุ้มพิทักษ์” ระบุ ผู้ป่วย โควิด-19 ที่ต้องเข้ารับการรักษาในกรอบระยะเวลา 14 วันนั้น ความจริงแล้วกรมการแพทย์ ออกแนวทางการรักษาว่า ให้กลับตัวเพื่อรักษานับจากวันที่มีอาการไปเพียงแค่ 10 วันก็ไม่สามารถแพร่เชื้อต่อได้ แต่ทุกวันนี้มีปัญหามากสำหรับผู้ที่ติดเชื้อ โควิด-19 ต้องใช้เวลากักตัวที่บ้านอีก 14 วันซึ่งไม่จำเป็น แทนที่จะได้ออกไปใช้ชีวิต ทำมาหากิน หรือบริษัทรับกลับเข้าไปทำงานเพื่อให้มีรายได้ต่อเนื่อง

สอดคล้องกับ “พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์” ระบุจากแนวโน้มการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน หากอาการไม่รุนแรงก็อาจใช้วิธีการไอโซเลทหรือแยกกักตัวซึ่งก็ใช้เวลา 10 วันเช่นเดียวกันนับจากวันที่มีอาการและไม่ต้องมีการตรวจซ้ำเพราะตรวจก็เจอเป็นซากเชื้อแต่ไม่แพร่ต่อ

พฤติกรรมเสี่ยงน่ากังวลกว่าพื้นที่เสี่ยง 

ด้าน “จารุณี ศิริพันธุ์” ผู้จัดการโครงการด้านการลดการตีตราและเลือกปฏิบัติสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี(IHRI)  ระบุข้อเสนอไปถึงชุมชนหรือสังคม 1. ถ้าเราเจอผู้ติดเชื้อโควิด ไม่ต้องตกใจกลัว แยกกลุ่มอาการ ให้ชัดเจนถ้าอาการไม่รุนแรงรักษาตัวที่บ้านได้มีระบบรองรับหากอาการขยับขึ้นสีเหลืองสีส้มสีแดงมีระบบส่งต่อเข้าโรงพยาบาล

2. เราต้องร่วมกันสื่อสารว่า จริงๆแล้วหน้ากากอนามัยดีที่สุด เมื่อไม่มีหน้ากากอนามัยอยู่กับตัวเหลืออีกฝ่ายไม่ใส่หน้ากากอนามัยควรจะอยู่ห่างกัน 2 เมตร

3. ผู้มีพฤติกรรมเสี่ยง คือไม่ใส่หน้ากากอนามัยไม่ป้องกันตัวเองมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ที่อยู่ในสถานที่เสี่ยงและป้องกันตัวเองตรงนี้ต้องแยกให้ชัดเจนกรณีมีผู้ติดเชื้อในตลาดแล้วปิดตลาดอันนี้ถือว่าเป็นความกลัวที่เกินไป

4. เมื่อต้องอยู่กับ โควิด-19 อีกยาวนาน ผู้ที่ติดเชื้อ โควิด-19 รักษาตัวแค่ 10 วันถือว่าไม่แพร่เชื้อต่อ นายจ้างต้องรับกลับไปทำงาน ขณะเดียวกัน หมู่บ้านที่พัก คอนโด สามารถจะจัดการให้ผู้ติดเชื้อรักษาอยู่ในพื้นที่ได้โดยไม่ทำให้ผู้อื่นติดเชื้อ เราสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้

สปสช. วางงบฯ 3 หมื่นล้านรับโอมิครอนปี 65

“นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี” เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  กล่าวว่า เตรียมพร้อมสายด่วน 1330 เพื่อรองรับหากมีการระบาดเพิ่มมากขึ้นเป็นจุดประสานงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้เข้าสู่ระบบการรักษาที่บ้านหรือ Home Isolation รวมถึงการจัดระบบประสานงานส่งต่อผู้ป่วยไปยังหน่วยบริการหากมีอาการรุนแรงขึ้น ซึ่งได้จัดระบบคู่สายและเพิ่มจำนวนจาก 120 คู่สายในปี 2563 เป็น 3,000 คู่สายในปัจจุบันเพื่อให้เพียงพอ

นอกจากนี้ สปสช.ได้เตรียมพร้อมระบบการเบิกจ่ายงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยบริการ เพื่อให้การปฏิบัติงานของบุคลากรด่านหน้ามีความคล่องตัว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับหนี้ค้างเก่าที่รัฐบาลกำลังทยอยชำระ หน่วยบริการต่างๆของเมื่อปีที่แล้วยังค้างอยู่ที่ 20,829 ล้านบาท แต่งบฯใหม่ที่ตั้งเอาไว้ เสนอต่อสภาพัฒน์ฯ รองรับการระบาดการรักษาผู้ติดเชื้อ โควิด-19 ในปี 2565 อยู่ที่ 31,000 ล้านบาท

(จากซ้าย) พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์, นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี

เชื่อชุมชนรับมือได้มีประสบการณ์ และระบบรองรับ 

หากในอนาคตมีการระบาดของสายพันธุ์ใหม่ “นพพรรณ พรหมศรี” เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ก็เชื่อว่าชุมชนจะเป็นส่วนช่วยสำคัญในการลดการแพร่กระจายเชื้อ แล้วจะสามารถรับมือได้จากประสบการณ์ที่ผ่านมา และการมีระบบรองรับโดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก สปสช. ที่สนับสนุนหน่วยบริการจับคู่ชุมชนในการทำ community isolation โดยขอย้ำกับรัฐบาลว่า หากระบาดอีกไม่ควรล็อกดาวน์แล้ว เพราะทำลายวิถีชีวิตเศรษฐกิจ เชื่อมโยงไปถึงปัญหาครอบครัวปัญหาสังคม แนวทางที่ถูกต้องคือรณรงค์ให้ความรู้ ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้กลัวจนเกินไป 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS