“กลุ่มบางกลอยคืนถิ่น – ภาคี SAVEบางกลอย” แถลงจุดยืน 5 เหตุผล ไม่ยอมรับ “วราวุธ ศิลปอาชา” นั่งหัวโต๊ะแก้ปัญหาที่อยู่ ที่ทำกิน คุณภาพชีวิต ให้ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย
วันนี้ (14 ธ.ค.64 ) กลุ่มบางกลอยคืนถิ่น และภาคี SAVEบางกลอย ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่าน อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน รวมทั้งการพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ที่มี วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน
โดยแถลงจุดยืนไม่ยอมรับคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าว สืบเนื่องจากวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 331/2564 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย และที่ทำกิน รวมทั้งการพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ตลอดจนลงนามในคำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบคณะกรรมการตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ นร 0403 (กน)/15440 ลงวันที่ 9 ธ.ค.64 ได้แต่งตั้งให้ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ ชุดดังกล่าวนั้น
กลุ่มบางกลอยคืนถิ่น ขอแสดงจุดยืน ไม่ยอมรับคำสั่งแต่งตั้งให้ รมว.ทส. ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ เนื่องจาก ทส. เป็นคู่ขัดแย้ง และเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยมาโดยตลอด รวมถึงท่าทีของ รมว.ทส. ที่มีอคติ ไม่รับฟังปัญหาจากปากคำของชาวบ้าน และขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมพหุวัฒนธรรมและการดำรงอยู่ของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย จะไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและเคารพสิทธิมนุษยชน พวกเราจึงไม่อาจยอมรับให้ รมว.ทส. เป็นประธานเพื่อแก้ไขปัญหาของชาวบางกลอยได้
นอกจากนั้น ยังพบปัญหาการทำงานของอนุกรรมการบางชุด เช่น คณะอนุกรรมการศึกษาผลกระทบด้านระบบนิเวศ สัตว์ป่า การบริการทางนิเวศ และข้อเปรียบเทียบการทำไร่หมุนเวียนกับป่าธรรมชาติในปัจจุบัน กรณีชาวกะเหรี่ยงกลับไปอยู่อาศัยและทำกิน รวมทั้งดำเนินวิถีชีวิตการทำไร่หมุนเวียนในพื้นที่บ้านบางกลอยบน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
“เราเห็นว่า การที่มีหน่วยงานคู่ขัดแย้งเข้ามาเป็นอนุกรรมการและเลขาอนุกรรมการ เช่น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ทำให้ร่างรายงานของอนุกรรมการชุดนี้ปรากฏปัญหาจริยธรรมทางวิชาการ อาทิ มีการกล่าวสรุปที่เลื่อนลอย โดยอาศัยความเห็นของผู้วิจัยเป็นสำคัญ ซึ่งเกิดจากอคติที่มาจากการออกแบบการสำรวจ การตีความผลของการศึกษาและการรายงาน รูปแบบการเรียบเรียงและนำเสนอเนื้อหาไม่เป็นไปตามมาตรฐานการทบทวนวรรณกรรมและการตรวจเอกสารทางวิชาการ”
พวกเขาเห็นว่า นี่เป็นการนำเอกสารทางวิชาการที่ไปศึกษามานำเสนอโดยไม่ได้คำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการศึกษาในครั้งนี้ จึงไม่สมเหตุสมผลในทางวิชาการ และทำให้รายงานมีความลำเอียงและชี้นำโดยนักวิจัยมากเกินไป ขาดข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรมและตอบโจทย์การวิจัยในครั้งนี้ ที่ต้องการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่ศึกษา ทั้งหมดนี้จึงนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ล่าช้า ไม่มีประสิทธิภาพ และไม่สามารถมีข้อสรุปเสนอไปยังคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ ได้
ด้วยเหตุนี้ กลุ่มบางกลอยคืนถิ่น จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ ชุดเดิม แล้วให้มีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ ชุดใหม่ที่ปราศจากหน่วยงานที่เป็นคู่ขัดแย้งและเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหา มีความเป็นอิสระ
ขณะที่ ภาคีSAVEบางกลอย แสดงจุดยืนไม่ยอมรับคำสั่งแต่งตั้งให้รัฐมนตรี ทส. เป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ 5 ข้อ คือ
- ไม่เคยมาพบหรือรับฟังปัญหาจากชาวบางกลอย กล่าวคือ ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย เดินทางไปขอเข้าพบ รมว.ทส.อย่างน้อย 3 ครั้ง แต่กลับไม่มารับฟังปัญหาจากชาวบ้าน
- ฟังแต่ข้าราชการ ทส. ให้ข้อมูลที่ผิดพลาด เช่น เมื่อวันที่ 10 ก.พ.64 รมว.ทส.แถลง ว่า มีชาวบ้านเพียง 6% หรือประมาณ 80 คน ที่ยังไม่พอใจการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ส่วนชาวบ้านอีกประมาณ 90% พอใจแล้ว ซึ่งถือเป็นการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ เนื่องจากปัจจุบันชาวบ้านบางกลอยยังเดือดร้อนอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องที่ดินทำกินที่ไม่เพียงพอ และไม่สามารถทำกินได้
- รมว.ทส. กล่าวว่าปัญหาบางกลอยไม่ใช่เรื่องสิทธิมนุษยชน และประเทศไทยไม่มีชนเผ่าพื้นเมือง
- มีส่วนเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการจับกุมชาวบ้านบางกลอย ละเมิด MOU ภายหลังมี MOU ระหว่างชาวบางกลอยและรัฐบาล แต่ปรากฏว่าในวันที่ 22 ก.พ.64 รมว.ทส.ได้สั่งการให้มีปฏิบัติการยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร นำมาสู่การจับกุมชาวบางกลอย จึงถือว่า รมว.ทส.เป็นคู่ขัดแย้งกับชาวบ้านมาตั้งแต่นั้น และไม่ควรมาเป็นกรรมการแก้ไขปัญหา
- ผลักดันมรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจาน ท่ามกลางกระแสคัดค้านเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชน ท่ามกลางความเดือดร้อน อาการเจ็บป่วย ภาวะขาดอาหาร และคดีความของกะเหรี่ยงบางกลอย ซึ่งการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก อาจเป็นการปิดประตูการแก้ปัญหาทั้งหมด โดยเฉพาะการกลับไปทำกินที่ถิ่นฐานดั้งเดิม
“ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ ชุดเดิม แล้วให้มีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาชุดใหม่ที่ปราศจากหน่วยงานที่เป็นคู่ขัดแย้งและเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหา มีความเป็นอิสระ ดังเช่นที่นายกรัฐมนตรีได้มีการลงนามแต่งตั้งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 225/2563 ลงวันที่ 29 ก.ค.64 กรณีพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง “บอส อยู่วิทยา” ขับรถชนตำรวจ สน. ทองหล่อ จนถึงแก่ชีวิต”