กลุ่ม ‘ทีชาลา’ คดีเสือดำ พอใจคำตัดสินศาลฎีกา เชื่อสังคมต้องการคำขอโทษ มากกว่ากฎหมาย

ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ จำคุก ‘เปรมชัย’ 2 ปี 14 เดือน ไม่รอลงอาญา จำเลยอีก 2 คน เข้าคุกทั้งหมด ‘ธัชพงศ์’ หวังคดีเป็นบรรทัดฐานบังคับกฎหมายคนรวย และสร้างความตะหนักรักษาธรรมชาติ ไม่ละเมิดสัตว์ป่า

ถือเป็นคดีที่ได้รับความสนใจจากสังคมมาตลอดระยะเวลากว่า 4 ปี สำหรับคดีล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ฝั่งตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรี หลังจากที่ นายเปรมชัย กรรณสูตร อดีตประธานกรรมการบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และพวกรวม 4 คน ประกอบด้วย นายยงค์ โดดเครือ, นางนที เรียมแสน และนายธานี ทุมมาศ ได้ร่วมกันเข้าไปตั้งแคมป์ในเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าฯ เมื่อวันที่ 4-6 ก.พ. 2561 เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปตรวจพบว่ามีการล่าเสือดำ และพบซากเก้ง ไก่ฟ้าหลังเทา และปืนยาว จนได้มีการจับกุมตัว และส่งฟ้องศาลเพื่อดำเนินคดี

วันนี้ (8 ธ.ค. 2564) ศาลฎีกาได้พิจารณาแล้ว โดยมีคำพิพากษา ดังนี้ ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น และไม่มีเหตุต่อการรอการลงโทษ แต่ต่อมาได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 โดย พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า แก้ไขเพิ่มเติม ปี พ.ศ. 2562 ให้ยกเลิกมาตรา 55 การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่มีความผิดในส่วนนี้ ตาม ป.อาญา มาตรา 2 คงจำคุกจำเลยที่ 1 นายเปรมชัย คงจำคุก 2 ปี 14 เดือน จำเลยที่ 2 นางยงค์ คงจำคุก 2 ปี 17 เดือน จำเลยที่ 4 นายธานี คงจำคุก 2 ปี 21 เดือน ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 2 ล้านบาท ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ แต่ให้ปรับแก้ไขดอกเบี้ยให้เป็นไปตามกฎหมายใหม่

ในขณะที่ จำเลยที่ 3 คือ นางนที คดียุติตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 เนื่องจากอัยการโจทก์และจำเลยที่ 3 ไม่ติดใจยื่นฎีกา

ทางด้านตัวแทนกลุ่มนักกิจกรรมเคลื่อนไหวคดีเสือดำ ธัชพงศ์ แกดำ ผู้ประสานงานกลุ่ม T’Challa พิทักษ์เสือดำ ซึ่งได้จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ที่ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ไปเมื่อวานนี้ กล่าวว่า วันนี้สังคมน่าจะพึงพอใจกับคำตัดสินของศาลฎีกา เนื่องจากมีความชัดเจนในพยานหลักฐาน และความพยายามของหลายฝ่ายในกระบวนการยุติธรรม โดยเชื่อว่าสังคมไม่ได้ให้ความสำคัญกับผลทางกฎหมายทั้งหมด แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ คำขอโทษจากผู้กระทำความผิด การรับสารภาพ หรือรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง

“สังคมต้องการความรับผิดชอบ มากกว่าผลทางกฎหมาย อยากเห็นการขอโทษ และคำรับสารภาพ ในฐานะที่ผู้กระทำผิด มีสถานะทางสังคมสูงกว่าคนทั่วไป และสามารถนำกำลังมาทำประโยชน์ได้มาก คาดหวังว่าจะทำให้เห็นความสำคัญของการเคารพ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม เพราะจริง ๆ แล้ว คน สัตว์ ป่า เราอยู่ร่วมกันได้ ถ้าไม่ละเมิดซึ่งกันและกัน”

ธัชพงศ์ กล่าวว่า สำหรับผู้กระทำความผิดในคดีนี้ ต้องยอมรับว่าเป็นผู้ที่มีสถานะทางสังคมสูงกว่าคนธรรมดาทั่วไป เป็นประธานบริษัทมหาชน มีกำลังมากพอที่จะหาประโยชน์ให้กับตัวเองได้ การลงโทษจำเลยในคดีนี้ จึงเป็นบรรทัดฐานสำคัญของสังคม ว่าหากกระทำความผิด ถึงแม้จะมีฐานะร่ำรวยมากเพียงใด ก็ต้องได้รับโทษทางกฎหมายในฉบับเดียวกัน แต่ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าแรงกดดัน และความสนใจจากประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คดีเดินมาถึงจุดนี้

นอกจากนั้นคดีนี้ ยังเป็นบทเรียนของการอนุรักษ์ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และการเคารพต่อสัตว์ป่าทั้งหลาย ธัชพงศ์ มองว่า หากในวันนั้นผู้กระทำความผิดไม่ล่าสัตว์ป่าที่อยู่ตามธรรมชาติ จะเป็นสิ่งสะท้อนว่า คน สัตว์ และป่า สามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยที่ไม่ละเมิดซึ่งกันและกัน กระแสของสังคมที่เกิดขึ้นทำให้เราทราบว่าที่ธรรมชาติสมบูรณ์มาได้จนถึงทุกวันนี้ ล้วนเกิดจากผู้เสียสละทุ่มเท เพื่อพิทักษ์รักษาไว้อย่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีนี้ทุกคน

ไม่ว่าโทษจากคำพิพากษาจะหนักเพียงไหน แต่คงไม่สามารถเรียกคืนชีวิตสัตว์ป่า และความอุดมสมบูรณ์จากธรรมชาติได้ แต่อย่างน้อยคำพิพากษาศาลฏีกาในคดีเสือดำต่อนายเปรมชัย และพวกในครั้งนี้ ถือเป็นบทพิสูจน์การทำงานของผู้รักษาป่า รักษากฏหมาย และได้รับรู้พลังของสังคมไทยที่พร้อมใจกันปกป้องรักษาธรรมชาติเอาไว้เป็นสมบัติของชาติตลอดไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้