นักรัฐศาสตร์ประเมิน พปชร. ยื้อเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. รอความได้เปรียบ

แม้จะยังไม่ชัดเจน แต่ดูเหมือนไทม์ไลน์ที่ รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม เคยระบุไว้ ถึงจังหวะเวลาของการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. ว่า จะเกิดขึ้นหลังเลือกตั้ง อบต. ทำให้เวลานี้ เราเห็นปฏิกริยาจากหลายพรรคการเมือง รวมถึงผู้สมัครอิสระ กับแคนดิเดตที่เตรียมจะลงชิงเก้าอี้นี้กันหลากหลาย

รศ.ยุทธพร อิสรชัย นักรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช ประเมินเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. และสมาชิกสภา กทม. เป็นสนามที่มีความน่าสนใจสูง ถือเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ ที่สะท้อนการเมืองภาพใหญ่ และภาพย่อยในระดับพื้นที่

แม้ที่ผ่านมา ผู้ว่าฯ กทม. ยังไม่มี บทบาทชัดเจนมากนัก เพราะปัจจุบันประเทศไทย ไม่มีการกระจายอำนาจอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ และยังต้องอาศัยอำนาจจากกระทรวงมหาดไทย ที่ต้องได้รับอนุมัติจาก คณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการต่างๆ สะท้อนให้เห็นปัญหาการขาดความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิเศษ แต่ในเชิงการเมือง ทั้งโดยตัวโครงสร้างอำนาจรัฐ ที่มีลักษณะรวมศูนย์ ทำให้ กทม.เป็นเมืองหลวงที่รวมทุกอย่างไว้ เหมือนที่หลายฝ่ายกล่าวว่า “กทม.ไม่ใช่ประเทศไทย แต่ประเทศไทย คือ กทม.” เพราะฉะนั้น ภาพของสนามการเมือง ใน กทม. จึงเป็นที่จับตามอง เพราะเป็นการสะท้อนไปสู่การเมืองระดับชาติได้

“เราจะเห็นการลงคะแนนเสียงการเลือกตั้งใน กทม. นับตั้งแต่อดีต – ปัจจุบัน
ก็จะมีความเกี่ยวข้อง หรือมีความสัมพันธ์กับการเมืองระดับชาติในทุกยุคทุกสมัย ในบางยุคสมัยอาจจะมีความสอดคล้อง กับ การเมืองระดับชาติ หรือบางยุคก็อาจเป็นการโหวตในลักษณะคู่ตรงข้าม หรือ โหวตในทิศทางคนละอย่างกับการเมืองระดับชาติ หรือ รัฐบาลส่วนกลาง…”

คุ้นหน้าคุ้นตา ชัชชาติ สิทธิพันธุ์​ และ รสนา โตสิตระกูล แสดงออก เปิดตัวเป็นผู้สมัครอิสระ ขายนโยบายล่วงหน้ามานานพอสมควรแล้ว ส่วน ทอม-จุลภาส เครือโสภณ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามของนักธุรกิจ นักรัฐศาสตร์ มีกระแสข่าวให้เห็น แต่ก็มีการวิเคราะห์กันว่า อาจไม่ได้เน้นมาแข่ง แต่เน้นมาแชร์ความรู้ใหม่ๆ ผ่านสนามเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม.

นอกจากนี้ก็ยังมีแคนดิเดต จากพรรคการเมือง ทั้งที่หนุนเต็มตัวในนามพรรค และที่หนุนกันแบบให้ใจ ไม่เปิดตัว
อย่างพรรคประชาธิปัตย์ มีข่าวว่า เตรียมจะเปิดตัวผู้สมัคร ถึงพรรคจะยังไม่ฟันธงว่า ใคร แต่เวลานี้ มีชื่อของ ​อ.เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ เข้าชิง ซึ่งเขาเป็นที่รู้จักในแวดวงวิชาการ

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ล่าสุดมีข่าว พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา ถอนตัวแล้ว แต่ที่ดูจะยังมุ่งมั่นคือ
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.ที่มาจากการแต่งตั้งคนปัจจุบัน ล่าสุดออกมาโพสต์ถึงแนวทางแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 รับสถานการณ์ฝุ่น กทม.พอดี แต่ก็มีกระแสข่าวว่า ภายในพรรคกำลังเสียงแตก ทำให้มีชื่อ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าฯ ปทุมธานี หรือ ผู้ว่าฯ หมูป่า จะเข้ามาเบียดหรือไม่ ส่วนพรรคก้าวไกล มีรายงานว่า เตรียมส่ง ผู้สมัครหญิงชิงเก้าอี้นี้ พร้อม ๆ กับข่าวว่า อาจเป็น ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้า แต่ล่าสุดยังคงปฏิเสธ ต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง

พรรคร่วมรัฐบาล ผู้ได้เปรียบสนามเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. ?

รศ.ยุทธพร มองว่า สนามเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. จะสามารถชี้วัดในแง่ความนิยมของรัฐบาล หรือ แม้กระทั่งความนิยมต่อตัวพรรคการเมือง ซึ่งเป็นพรรคแกนหลัก หรือพรรคแกนนำในขณะนั้นได้ ดังนั้นใน กทม. ก็จะเห็นได้ว่าเป็นสนามที่ถ้าการเมืองใหญ่ๆ นั้น ก็จะให้ความสำคัญ ให้ความสนใจ ในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ในพรรคร่วมรัฐบาล ก็จะมี 2 พรรค ที่จะให้ความสำคัญกับสนามนี้ คือ “พลังประชารัฐ กับประชาธิปัตย์” มีเป้าหมายที่จะได้รับเลือกตั้งใน กทม. เช่น ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา ไม่ได้อยู่ที่ กทม. ความสนใจหรือส่งตัวผู้สมัครอาจจะไม่มากหรือสนใจเท่า 2 พรรคนี้

“พปชร. ได้เปรียบมากกว่า ปชป. ในฐานะเป็นพรรคแกนหลัก ในการตัดสินใจที่จะเคาะ หรือ เปิดพื้นที่ในสนามการเมืองใน กทม. จึงจะทำให้ พปชร.ได้เปรียบ

ขณะที่ ปชป. อดีตแชมป์เก่า เจ้าของพื้นที่คนสำคัญ ทั้ง ผู้ว่าฯ สมาชิกสภา กทม. และ สภาเขต แต่ ณ วันนี้ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายจัดตั้ง กทม. ปี 2562 ได้ตัดสมาชิกสภาเขตออกไป

ดังนั้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อพรรค ปชป.แน่นอน…”

ในขณะที่ พรรคอนาคตใหม่ที่เคยได้ Popular vote มากที่สุดใน กทม. ซึ่งสะท้อนภาพการแข่งขัน และทวงแชมป์ ทวงบัลลังก์คืน ของ ปชป. ในครั้งนี้จึงไม่ใช่โจทย์ที่ง่าย สำหรับพรรคก้าวไกล แน่นอนว่าไม่ทิ้งคะแนนเสียง Popular vote ในปี 2562 โอกาสที่จะส่งผู้สมัครมีทางเป็นไปได้ แต่การจะประสบความสำเร็จก็ต้องบอกว่าเป็นโจทย์ที่ยากมาก เพราะการเลือกตั้งปี 2562 เป็นการเลือก ส.ส. มุมมองหรือมุมคิดมีหลายปัจจัย ทั้งเรื่องนโยบายพรรค เลือกเพราะกระแส ประกอบกับความได้เปรียบในฐานะพรรครัฐบาลอย่าง พปชร. ที่สามารถคุมเกม หรือ เปิดสนามการเลือกตั้ง กทม. เมื่อตัวเองพร้อม

การเมืองการปกครองท้องถิ่น เราไม่ได้ใช้การเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ หรือ การเลือกผู้บริหารโดยตรง กระทั่ง รธน. 2540 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ บัญญัติเอาไว้ว่า ผู้บริหารท้องถิ่น และ สมาชิกสภาท้องถิ่น จะต้องมาจากการเลือกตั้ง ต้องเลือกบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

ระยะ 20 ปี ที่ผ่านมา มีกระแสการกระจายอำนาจเรียกร้อง ในการให้คนในชุมชนท้องถิ่นจัดการปัญหาในชีวิตของพวกเขาได้ด้วยตัวเอง จึงทำให้เกิดการใช้ระบบการเลือกตั้งโดยตรงเพื่อเลือกผู้บริหารท้องถิ่น ดังนั้น รธน.60 สำหรับผู้บริหารท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษ เช่น กทม. หรือ เมืองพัทยา รธน.ไม่ได้บังคับว่า ต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่อาจจะมาจากวิธีการอื่นก็ได้ ยกเว้น อบจ. อบต. เทศบาลเท่านั้น

“สุดท้ายแล้ว รธน.60 คือ การวางกำดักของการกระจายอำนาจ เพราะไม่ได้กระจายอำนาจอย่างแท้จริง อำนาจต่างๆ ก็ยังถูกรวมศูนย์เอาไว้

การมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบหรือไม่ จึงไม่ใช่ตัวที่จะชี้วัดได้ว่า นั่นคือความสำเร็จของการกระจายอำนาจไปยังการปกครองส่วนท้องถิ่นหรือไม่ หรือ การมีบัตรจะเป็นข้อเสีย-ข้อดี

แต่ตัวชี้วัด คือ การกระจายอำนาจส่วนกลาง สู่ท้องถิ่นต่างหาก”

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน