“เชียงใหม่โมเดล” เคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากไปพร้อมกับการควบคุมโรค

เครือข่ายชุมชนเมืองฮักเชียงใหม่ ชี้ ประเพณีจุดผางประทีป ช่วยสร้างบรรยากาศให้เมืองกลับมามีชีวิต คลายความหดหู่และเงียบเหงาลง ขณะที่ รพ.สนามเชียงใหม่ วอนประชาชนเข้มมาตรการส่วนบุคคล  

ทุกครั้งที่มีการจัดงานเทศกาล​ และสืบสานประเพณีวัฒนธรรม ไม่ใช่เพียงแค่สร้างสีสันและบรรยากาศของเมืองเท่านั้น แต่ยังนำมาซึ่งรายได้ ของชาวบ้านที่มีอาชีพเชื่อมดยงกับประเพณีนั้น เช่น ผู้ทำโคม หรือ กระทง และพ่อค้าแม่ค้า ทว่าการจัดงานตามประเพณีที่อาจส่งผลให้มีคนมารวมตัวกันมากขึ้น ก็อาจเป็นความเสี่ยงของการระบาด​ แต่ทุกฝ่ายเห็นร่วมกันว่าจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับโรคระบาด และกลับมาใช้ชีวิตตามปกติให้มากที่สุด

เป็นเวลา 2 ปีแล้ว ที่งานผางประทีปรักษาเมือง ถูกจัดขึ้น โดยปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เพราะประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิม ก็ยังคงต้องสืบทอดรักษาต่อไป

เสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง​ เครือข่ายชุมชนเมืองฮักเชียงใหม่บอกว่า หากก่อนหน้านี้มีการระดมฉีดวัคซีนในจำนวนที่มากพอ สถานการณ์ระบาดอาจไม่รุนแรงมากนัก แต่ก็เป็นเรื่องดีที่เวลานี้ กำลังมีความพยายามเร่งระดมฉีดวัคซีนกัน ซึ่งก็ทำควบคู่ไปกับการจัดงานประเพณี ผางประทีปรักษาเมือง 

“แม้จะลดขนาดงานลงมา แต่ก็ยังคงช่วยสร้างบรรยากาศให้เมืองกลับมามีชีวิต คลายความหดหู่และเงียบเหงาลงได้บ้าง พร้อมกับหล่อเลี้ยง สล่า หรือ ช่างทำโคมผางประทีปให้ยังหาเลี้ยงชีพต่อไปได้”

สำหรับ การจุดผางประทีปเป็นประเพณีดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาหลายร้อยปีของจังหวัดเชียงใหม่​ ตั้งแต่ยุคที่ยังเป็น เมืองหลวงของอาณาจักรล้านนา ขณะที่คนในยุคปัจจุบัน​เข้าใจผิดว่าการลอยโคมเป็นประเพณีดั้งเดิมของที่นี่ ซึ่งเคยเกิดปัญหาโคมลอยตกลงมาทำให้เกิดไฟไหม้ เครือข่ายชุมชนเมืองฮักเชียงใหม่ จึงรื้อฟื้นและให้ความรู้ว่าการจุดผางประทีปเป็นพุทธบูชา ที่คนเมือ​ง มักทำกันในช่วงเทศกาลยี่เป็ง ซึ่งตรงกับเทศกาลลอยกระทงของภาคกลาง

สำรวจ ICU สนามเชียงใหม่ วอนประชาชนการ์ดอย่าตก 

ขณะเดียวกัน บรรยากาศที่โรงพยาบาลสนามของจังหวัดเชียงใหม่​ The Active เข้าไปสำรวจที่ ICU สนาม ที่เพิ่งเปิดเพิ่มมาอีก 50 เตียง ขณะที่เครื่องช่วยหายใจ ของโรงพยาบาลสนามบุษราคัมนับ 10 เครื่อง ที่เคยถูกใช้รักษาผู้ป่วย covid-19 ในกรุงเทพฯ ​ถูกขนย้ายมาที่จังหวัดเชียงใหม่​ หลังจากผู้ติดเชื้อ รายใหม่ยังคงเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 300 คน และแพทย์มีข้อสังเกตว่าการระบาดรอบนี้มีอัตราผู้ป่วยอาการหนักมากกว่าทุกรอบที่ผ่านมา 

นอกจากเครื่องมือที่ระดมมาแล้ว บุคลากรสังกัดกรมการแพทย์ ก็ถูกส่งมาช่วยตามคำร้องขอ ทั้งจากโรงพยาบาลศูนย์มะเร็งชลบุรี​และกรุงเทพฯ​ โรงพยาบาลเด็ก​ โรงพยาบาลวัดไร่ขิง​ ซึ่งสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันสัปดาห์ละ 10 คน 

เยาวภา​ จันทร์มา หัวหน้าพยาบาลหอผู้ป่วย ICU โรงพยาบาลสนามจังหวัดเชียงใหม่บอกว่า ความร่วมมือของประชาชนที่จะป้องกันตัวเอง​ เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องการร้องขอ มากกว่าการเพิ่มศักยภาพของระบบสาธารณสุข 

ด้าน ศ.นพ.ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพมหาวิทยาลัยเชียงใหม่​ ระบุว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ยอยู่ที่วันละ 300 คน ยังเป็นจำนวนที่มากเกินระบบสาธารณสุขที่จะรองรับได้​ แม้จำนวนผู้ติดเชื้อ ของจังหวัดเชียงใหม่ จะถึงจุดสูงสุดแล้วตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน​ ที่ผ่านมา​ แต่วิเคราะว่า​ สถานการณ์ติดเชื้อในเชียงใหม่จะเข้าสู่ขาลงอย่างช้าๆ เนื่องจากมี ทั้งมาตรการเชิงรุก การระดมฉีดวัคซีน และการเดินหน้าเปิดเมืองไปพร้อมกัน 

แม้ก่อนหน้านี้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ จะตั้งเป้า ล้อมกรอบและลดจำนวนผู้ป่วย covid- 19 ให้จบ ภายในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ แต่ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ คาดว่าเราอาจยังคงได้เห็นผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละ 150 คน​ ซึ่งอยู่ในจุดที่ระบบสาธารณสุขจะรับได้ในช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS