พบผู้ป่วยโควิด-19 เชียงใหม่ อาการสีเหลือง ยังนอนรอเตียงที่บ้าน

อสม. ชุมชนวัดนันทาราม ยอมรับข้อจำกัด Home Isolation ผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยงสูงไม่อยู่ติดบ้าน ทำเชื้อแพร่กระจาย ขณะที่สถานการณ์เตียง รพ.สนาม ตึงตัว ด้าน ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ลั่น ต้องควบคุมโรคให้ได้ภายใน 1 ธ.ค. นี้

16 พ.ย. 2564 – The Active สำรวจชุมชนในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ พบว่า การตรวจเชิงรุกด้วย​แอนติเจน เทสต์ คิท (ATK)​ ยังพบผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง เช่น ชุมชนวัดนันทาราม พบผลบวก​ 2​ คนจาก​ 10​ คน​ โดยวันนี้มีผู้ติดเชื้อที่รักษาตัวที่บ้าน​ ขอให้เจ้าหน้าที่ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล หลังจากเกิดอาการตาแดงและไข้ขึ้น

ผู้พบผลบวกถูกแยกตัวออกมา หลังจากตรวจเชื้อด้วย ATK ที่ชุมชนวัดนันทาราม เพื่อประเมินอาการ และส่งต่อ CI ของเทศบาล

เป็นที่น่าสังเกตว่า​ ยังพบผู้ติดเชื้อในชุมชนเพิ่มต่อเนื่อง​ แม้ฉีดวัคซีนจำนวนมากแล้วก็ตาม ซึ่งหากพิจารณาข้อมูลการฉีดวัคซีน พบว่าจังหวัดเชียงใหม่ฉีดวัคซีนเข็มหนึ่งไปถึง 70% ขณะที่เข็ม 2 ยังอยู่เพียง 50% และผู้ที่ติดเชื้อส่วนหนึ่ง เป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนเพียงเข็มเดียว

ขณะที่​ ตลาด ซึ่งเป็นคลัสเตอร์การระบาดขนาดใหญ่ในตัวเทศบาลนครเชียงใหม่ ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ และผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในครอบครัว​ก็มีเป็นจำนวนมาก​ และไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้ 100% เป็นความกังวลของประธานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)​ วัดนันทาราม​ ที่มองว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ติดเชื้อยังไม่ลดลง

เจ้าหน้าที่พ่นฆ่าเชื้อโรคในชุมชน บริเวณที่พบผู้ติดเชื้อ กลายเป็นภาพชินตาของชาวบ้านในพื้นที่

ขณะเดียวกัน เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา หลังจากที่ชุมชน​พบผู้ติดเชื้อ จากการตรวจ​ ATK​ อสม.​ ประสานเทศบาล​ เข้าไปพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อที่บ้านของผู้ติดเชื้อ ทีมข่าวพบว่ามีผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้าข่ายกลุ่มอาการสีเหลือง​ คือ ท้องเสียและตาแดงหายใจไม่สะดวก ยังรอเตียงอยู่ที่บ้าน 

ด้าน​ นิตยา​ ชัยชนะ​ ประธาน​ อสม.​ ชุมชนวัดนันทาราม ยอมรับว่าการหาเตียงที่เชียงใหม่​ หากเป็นโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยสีเหลือง​ ตอนนี้ค่อนข้างตึงตัวและต้องรอเคลียร์เตียงกับผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว ขณะที่เตียงที่ยังเหลืออยู่ส่วนมาก อยู่ที่ Community Isolation กับทางเทศบาล ซึ่งรองรับผู้ป่วยสีเขียวเป็นหลัก ​

ทีมข่าวยังพบ​อีกว่า แม้มีการตรวจเชิงรุกแล้ว แต่เมื่อพบผู้ติดเชื้อที่มีผลบวก​ ก็ยังไม่สามารถนำผู้ติดเชื้อส่งโรงพยาบาลได้ทันที​ และต้องปล่อยผู้ติดเชื้อกลับไปกักตัวที่บ้าน ซึ่งก็อาจไม่สามารถทำได้ 100% เพราะไม่มีการสนับสนุนน้ำและอาหารให้สามารถกักตัวที่บ้านได้อย่างเพียงพอ ทำให้ผู้ติดเชื้อยังจำเป็นต้องออกมานอกบ้านเหมือนเดิม และการระบาดก็ยังคงแพร่กระจายต่อไป

ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ตั้งเป้าล้อมกรอบเพื่อควบคุมโรคให้ได้ภายใน 1 ธ.ค. นี้

วันเดียวกัน ประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดที่เริ่มต้นจากคลัสเตอร์ตลาดเมืองใหม่ ได้ทวีความรุนแรงและพบผู้ติดเชื้อกระจายเป็นวงกว้างในหลายอำเภอ จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ดำเนินการระดมปิดล้อมและสั่งการทุกอำเภอจัดตั้งศูนย์แยกกักชุมชน หรือ Community Isolation เพื่อดูแลผู้ติดเชื้อในแต่ละอำเภอ พร้อมตรวจค้นหาเชิงรุกด้วยชุดตรวจ ATK ในแต่ละชุมชน

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในช่วงนี้พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อและจำนวนผู้หายป่วยมีจำนวนที่ใกล้เคียงกัน และพบว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในเขตเมือง จึงได้มีการลงพื้นที่ค้นหาเชิงรุกในทุกพื้นที่ เพื่อคัดแยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชนและให้ได้รับวัคซีนครบทุกคน ขณะที่รัฐบาลได้จัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 มาให้จังหวัดเชียงใหม่ ครบ 100% ตามจำนวนประชากรในพื้นที่ โดยตั้งเป้าล้อมกรอบเพื่อควบคุมโรคให้ได้ภายใน 1 ธ.ค. 2564

ด้าน วรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการประชุมเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์และแก้ไขปัญหาเป็นประจำทุกวัน ซึ่งพบว่าจุดที่ต้องรีบแก้ปัญหาโดยเร่งด่วนคือ บริเวณตลาดเมืองใหม่และบริเวณที่มีแรงงงานข้ามชาติอาศัยอยู่พื้นที่ 3 โซน 15 ชุมชน ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ซึ่งได้กำหนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือ RED ZONE เพื่อค้นหาแรงงานข้ามชาติที่ติดเชื้อ และนำเข้าสู่ระบบการรักษาเร็วที่สุด กรณีที่ไม่มีอาการจะรักษาด้วยระบบ Home Isolation และ Community Isolation ส่วนผู้ที่มาตรวจแล้วไม่พบเชื้อจะได้รับการฉีดวัคซีนทันที

ขณะเดียวกัน ได้ขับเคลื่อนเพื่อตัดวงจรของโรคที่เป็นสะเก็ดไฟกระจายไปในอำเภอต่าง ๆ โดยได้สั่งการให้ทุกอำเภอเร่งตรวจหาเชื้อ และจัดตั้งสถานที่พักคอย รักษา ภายหลังจากพบว่าปัญหาการแพร่ระบาดในจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนใหญ่มาจากเขตเมืองและกระจายไปเป็นคลัสเตอร์ในอำเภอต่าง ๆ ทั้ง อำเภอสันทราย อำเภอสารภี อำเภอดอยสะเก็ด และอำเภอสันกำแพง จึงเน้นย้ำให้นายอำเภอปฏิบัติการอย่างเร่งด่วน เพื่อตัดวงจรการระบาดให้ได้โดยเร็ว

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS