ไทย ตอบคำถามสิทธิมนุษยชนบนเวทีโลก 

ชื่นชมไทยคุมปัญหาโควิดทุกมิติ ธุรกิจเพื่อสิทธิมนุษยชน แต่ยังห่วง “จับกุม-อุ้มหาย ผู้แสดงความคิดเห็นต่างทางการเมือง” โดยเฉพาะเยาวชน

10 พ.ย. 2564 – สภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN) จัดให้มีกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน หรือ Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ 3 ซึ่งครั้งนี้เป็นรอบของประเทศไทยที่ต้องกล่าวรายงานสถานการณ์ และตอบคำถามต่อหน้าประเทศสมาชิก UN  ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวถ้อยแถลงถึงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ระบุว่า เป้าหมายสำคัญของประเทศไทย พยายามที่จะปกป้องสิทธิของประชาชนทุกคนและการพัฒนาที่ยั่งยืน เสริมสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนรวมถึงการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในสังคมโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยในด้านการเงิน โดยเฉพาะในสถานการณ์ COVID-19 ไทยยืนยันที่จะรักษาระบบประกันสุขภาพ (บัตรทอง) ที่แข็งแกร่งต่อไป เนื่องจากสามารถช่วยเหลือผู้เปราะบางทางสุขภาพของผู้ป่วยในไทย นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงระบบประกันสุขภาพอย่างเท่าเทียม

นอกจากนี้ ไทยยังมีความพยายามในการแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก เพื่อช่วยเหลือเด็กในประเทศที่ยังเป็นกลุ่มเปราะบางได้มากขึ้น เพื่อให้เด็กสามารถเข้าถึงระบบการศึกษาที่มากขึ้น ส่งเสริมประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ทั้งชายและหญิง ไปจนถึงเยาวชน มีความพยายามในการออกกฎหมายการจดทะเบียนคู่ชีวิตของคู่รักเพศเดียวกันได้ ไปจนถึงการคุ้มครองคนทุกชาติพันธุ์ และแรงงานต่างชาติ มีการจัดทำนโยบายส่งเสริมผู้สูงอายุด้วยการแก้ไขพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2561 และกำหนดให้เรื่องผู้สูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ มีกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมให้คนพิการสามารถเข้าถึงสิทธิ เข้าถึงงานและมีอิสระในสังคม

ได้มีการให้ความคุ้มครองสิทธิแรงงานและส่งเสริมความเข้าใจทางด้านวัฒนธรรม ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิแรงงาน มีพระราชบัญญัติส่งเสริมคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ สนับสนุนแรงงานข้ามชาติด้วยการทำ MOU ป้องกันการแสวงหาประโยชน์แรงงานข้ามชาติและการค้ามนุษย์ ได้มีการให้ความช่วยเหลือบุคคลไร้สัญชาติและให้เด็กไร้สัญชาติได้มาอยู่ในระบบการศึกษา ให้การเข้าถึงการจดทะเบียนการเกิดสำหรับคนไร้สัญชาติ 

สำหรับสิทธิด้านการเมืองและพลเมือง ไทยได้เคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกการชุมนุม ถึงแม้ว่าจะมีความท้าทายในเรื่องของการบังคับใช้ แต่ว่าสิทธิเสรีภาพนั้นจะต้องมีการใช้อย่างเหมาะสมในเชิงสร้างสรรค์ คำนึงถึงบริบทเรื่องของ โควิด-19 นอกจากนั้นยังมีความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับภาคประชาสังคมต่างๆ รับฟังเสียงของคนรุ่นใหม่ในกระบวนการที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ สนับสนุนให้เกิดการหารือระหว่างคนหลายรุ่น หลายวัยได้เรียนรู้ร่วมกันเพื่อจะได้มีบรรยากาศในการพัฒนาประเทศชาติที่รองรับความคิดเห็นที่หลากหลาย

ขณะที่ประเทศไทยกำลังมีร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มีการพัฒนาแผนด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนประเทศไทย และป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อหยุดยั้งการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน (SLAPP)

ในช่วงต่อมา UN เปิดพื้นที่ให้ประเทศที่เป็นสมาชิกฯ กล่าวถึงการดำเนินการหลังผ่านวาระ 2 พร้อมข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนถึงประเทศไทย The Active ได้รวบรวมข้อเสนอของบางประเทศว่าให้ความสนใจประเด็นใดในประเทศไทยบ้าง

ไอซ์แลนด์ – เสนอให้มีการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการทรมานและบังคับสูญหาย เพื่อเข้าถึงการดำเนินการเพื่อความปลอดภัยสำหรับทุกคน รวมทั้งการปกป้องสิทธิของแรงงานข้ามชาติและบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

อินโดนีเซีย – ขอชื่นชมกระบวนการตั้งแต่รอบที่แล้วที่มีความคืบหน้า เช่น การให้การศึกษาเด็กแรงงานข้ามชาติ และการดำเนินงานเพื่อให้การช่วยเหลือผู้สูงอายุ แนะนำการปกป้องสิทธิมนุษยชนภายใต้หลักการโควิด-19 โดยเฉพาะเด็กและคนพิการ

อิรัก– สนับสนุนการดำเนินการตามหลักธุรกิจเพื่อสิทธิมนุษยชน และการให้การช่วยเหลือกับผู้ลี้ภัยและและแรงงานข้ามชาติ

ไอร์แลนด์ – ระบุว่า ประเทศไทยมีความพยายามในการดำเนินการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เช่น การมีแผนว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน แต่มีความห่วงใยในเรื่องของเสรีภาพในการชุมนุม การคุกคามนักกิจกรรมทางการเมือง และเรื่องของการยกเลิกการใช้โทษประหารชั่วคราว

อิสราเอล – ชื่นชมประเทศไทยในเรื่องความสัมพันธ์ในการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเด็ก การแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ ข้อเสนอแนะ คือ มีนโยบายคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ มีมาตรการต่างๆในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีความพิการในการทำงาน ยกเลิกการทำโทษเด็ก โดยมีการออกกฏหมายห้ามไม่ให้มีการทำโทษทางกายแก่เด็กไม่ว่าสภาพใดใดก็ตาม

ญี่ปุ่น – ชื่นชมไทยเรื่องของการบังคับบุคคลให้สูญหาย ที่เตรียมมีการรับกฏหมายมาบังคับใช้ และมีข้อเสนอแนะเรื่องของการให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศ และปรับปรุงสถานการณ์สิทธิมนุษยชน รวมทั้งสิทธิในการแสดงออกและเรื่องของการปกป้องสิทธิเด็กรวมทั้งเรื่องของการดูแลสุขภาพ

อิตาลี – สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือในเรื่องของการลดความยากจน การขจัดความยากจนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด พร้อมแสดงความยินดีกับประเทศไทยที่ได้เพิ่มรายได้ให้กับประชาชนผ่านโครงการต่างๆและมีการขยายโครงการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาขั้นพื้นฐานและยังดำเนินต่อเนื่อง

ลักเซมเบิร์ก – ข้อเสนอแนะให้คุ้มครองสิทธิในการแสดงความคิดเห็นต่างๆ เสรีภาพ รวมถึงในเรื่องของการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายอาญา โดยเฉพาะเรื่องของการสมรสของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศนอกจากนั้นอยากให้ขจัดการเลือกปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามพันธะกรณีระหว่างประเทศโดยเฉพาะเรื่องของการพิจารณาให้สัตยาบันว่าด้วยผู้ลี้ภัย

มาเลเซีย – ชื่นชมในการปกป้องสิทธิผู้หญิงและเด็ก ในฐานะประเทศสมาชิกอาเซียน ได้ชมเชยบทบาทของไทยที่มีต่ออาเซียน ในปฏิสัมพันธ์ต่างๆ อยากที่จะให้สนับสนุนระบบสุขภาพและเรื่องของการจัดการกับโรคระบาด

เนเธอร์แลนด์ – ขอบคุณสำหรับการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่อย่างไรก็ตามยังมีความสงสัยต่อการปรับใช้กฎหมายกับนักปกป้องสิทธิและสื่อมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหายตัวของนักกิจกรรม กฎหมายสมรสเท่าเทียม สร้างกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ภาคประชาสังคมมีบทบาท มีการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยองค์กรไม่แสวงหากำไรเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ และแนวปฏิบัติที่ดีรวมทั้งเสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงออก

นอร์เวย์ –  ขอให้เคารพสิทธิในการแสดงออก สิทธิในการชุมนุม สิทธิในการรวมตัว แม้ว่าจะเป็นคู่ต่อสู้ทางการเมืองหรือขัดแย้งทางการเมือง แก้ไขกฎหมาย ม.112 เพื่อที่จะให้เป็นไปตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชน ปกป้องนักสิทธิมนุษยชนด้วยการให้ความมั่นใจว่ากฎหมาย NGO ฉบับใหม่จะไม่ขวางการทำงานของภาคประชาชน ให้สัตยาบันรับร่างกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมาน และเร่งรัดกระบวนการเกี่ยวกับการออกกฏหมายว่าด้วยการทรมานต่อไป

เปรู – เราทราบว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จด้านสิทธิมนุษยชนว่าด้วยแผนธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแต่มีข้อเสนอแนะดังนี้ ขอให้ได้มีการรับรองอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันบุคคลสูญหายมีมาตรการต่างๆเพื่อที่จะให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่เป็นอิสระตามหลักการปารีส ดำเนินการตามมาตรการต่างๆเพื่อที่จะทำให้ผู้หญิงเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงในชนบท กลุ่มชาติพันธุ์ พิการหรือนับถือศาสนาที่เป็นส่วนน้อยในสังคม

เกาหลีใต้ –  ยินดีที่ได้รับฟังเรื่องการปกป้องสิทธิเด็ก และแผนปฏิบัติการว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นกระบวนการที่มีความคืบหน้า แต่มีข้อเสนอแนะเรื่องนโยบายเรื่องของสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในการชุมนุม การรวมตัวรวมกลุ่ม ให้เป็นไปตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล มีกฎหมายห้ามมิให้มีการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ดำเนินงานเพื่อให้มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่เป็นอิสระตามหลักการปารีสต่อไป

สหราชอาณาจักร– ประเทศไทยจะทบทวนกฎหมายและข้อบังคับที่กำหนดข้อจำกัดที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวกับสิทธิในเสรีภาพในการแสดงออก และมีมาตรการทางกฎหมายเพื่อปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและสื่อจากการคุกคาม การข่มขู่ สร้างพื้นที่ใช้สิทธิ เสรีภาพทางการแสดงความคิดเห็นการชุมนุมการรวมกลุ่มกันอย่างเสรีทางออนไลน์และอออฟไลน์

สหรัฐอเมริกา – ขอเสนอให้พิจารณาร่างกฏหมายว่าด้วยกิจการและองค์กรที่แสวงหาผลกำไร ที่จะเป็นการจำกัดพื้นที่ในการทำงานของ NGO แก้ไขปัญหาการจำกัดสิทธิเสรีภาพ เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และโทษสำหรับมาตรา 112 เรื่องของการบังคับให้บุคคลสูญหายของนักกิจกรรม 7 คน

ออสเตรีย – สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การดำเนินคดีกับเด็กจะต้องมีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา และให้มีการดำเนินการในคดีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง

แคนาดา – ยุติการใช้กฎหมายที่เป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นการชุมนุม ม.112 ม.116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีกฎหมายป้องกันการทรมานและมีการนำผู้กระทำการทรมานมาลงโทษ ไม่จำกัดกิจกรรมของ NGO คุ้มครองนักปกป้องสิทธิตามมาตรฐานสากล

ขณะที่ในประเทศไทยมีการจัดเวทีคู่ขนาน “รีวิวสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย” โดยมีผู้ร่วมเสวนา มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ฮิวแมนไรท์ วอทช์ โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน Manushya Foundation แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

อังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ระบุว่า ข้อสังเกตของประเทศสมาชิกในครั้งนี้มีความน่าสนใจ โดยเฉพาะประเทศในสหภาพยุโรป ที่ให้ข้อเสนอด้านสิทธิและเสรีภาพ เช่น อเมริกาให้ความสำคัญกับนักต่อสู้ 7 คนที่สูญหาย  หลังจากนี้จะเป็นความท้าทายกับทางการไทยว่าจะสามารถทำตามข้อเสนอของประเทศต่างๆ ได้หรือไม่ โดยเฉพาะการใช้ ม.112 ที่ทางการไทยอ้างว่าเป็นกฎหมายเฉพาะในประเทศ แต่เรากลับเป็นประเทศสมาชิกที่ในระดับสากลจะไม่มีการใช้กฏหมายมาจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

มนทนา ดวงประภา ฝ่ายข้อมูลและนักกฎหมาย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า โจทย์ที่น่าติดตาม คือประเด็นที่ประเทศเม็กซิโก ออสเตรเลีย สวีเดน พูดถึงสิทธิในการแสดงออกทางเมือง ประเทศยูเครน พูดถึงการใช้กำลังของตำรวจ แสดงให้เห็นว่านานาชาติเขาจับจ้องอยู่ ขณะที่ทางผู้แทนไทยในรายงานกลับไม่ได้พูดถึงสิทธิเด็กในการแสดงความเห็น และการชุมนุมครั้งที่ผ่านมา เช่น กรณีม็อบทะลุแกส ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มีเยาวชนถูกจับ 192 คน ถูกสั่งฟ้อง 61 คดี ซึ่งการละเมิดสิทธิเด็กเหล่านี้ไม่ถูกรายงานไปที่เจนีวา เพื่อให้เกิดการพัฒนาการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน