“วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ” เปิดใจ หลังศาลนัดไต่สวนครั้งแรก หลังถูกฟ้องหมิ่นประมาท – ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ยืนยัน 40 กว่าปี ชีวิตทำงาน อ้างอิงข้อมูลวิชาการมาตลอด ชี้หากยังมีความพยายามใช้กฎหมายฟ้องปิดปาก อนาคตสังคมจะเกิดปัญหาไม่จบ ขณะที่ ภาคประชาชน ท้าให้โต้แย้งด้วยข้อมูลทางวิชาการ หากมั่นใจข้อมูล ถูก-ผิด
ภายหลังเมื่อวานนี้ (1 พ.ย.64) ศาลอาญา รัชดาฯ ไต่สวนมูลฟ้องนัดแรก กรณี “สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย” ฟ้องร้อง “วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ” ในข้อกล่าวหา คดีหมิ่นประมาท และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในการออกมาเคลื่อนไหวแบนสารเคมีอันตราย 3 ชนิด ซึ่งศาลได้นัดมาฟังคำสั่งว่าจะรับฟ้องหรือไม่ ในวันที่ 15 ธ.ค.นี้
วันนี้(2 พ.ย.64) วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี เปิดเผยกับ TheActive ว่า ไม่หนักใจต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น เพราะประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อแบนสารเคมีร้ายแรง หลายประเทศก็เกิดกรณีแบบนี้ และนี่ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นกับตัวเขาเองครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้นักวิชาการ หลายคนที่เปิดหน้า สนับสนุนการแบนสารเคมี ก็ถูกกดดัน ข่มขู่ คุกคาม อย่างหนัก
อย่างกรณี รศ.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล นักวิจัย มหาวิทยาลัยนเรศวร เคยถูก “สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย” เรียกร้องให้ “ลาออก” เพื่อ “รับผิดชอบความเสียหาย หลังเปิดเผยงานวิจัย และข้อมูลการตกค้างของสารพาราควอตในสิ่งแวดล้อม จนหลายฝ่าย ร่วมกันออกแคมเปญใน Change.org เรียกร้องให้ออกมาปกป้องคุ้มครอง “เสรีภาพทางวิชาการ” ที่ต้องไม่ถูกคุกคาม
สำหรับการไต่สวนมูลฟ้องของศาลครั้งแรก ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี บอกว่า ศาลใช้เวลาส่วนใหญ่เรียกสืบพยานฝ่ายโจทก์ ซึ่งทนายความฝั่งผู้ถูกกล่าวหา พยายามชี้แจงเพื่อให้ศาลได้รับทราบ โดยอ้างอิงข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตร, องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) , รวมถึงข้อมูลจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
ขณะเดียวกันทนายความ ยังพยายามชี้ให้ศาลเห็นว่า การฟ้อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ของฝ่ายโจทก์ อาจไม่เข้าข่ายในหลายประเด็น เช่น กฎหมายห้ามดัดแปลงภาพบุคคล แต่ที่ถูกฟ้องคือกรณีการขีดกากบาท ทับข้อความของผู้ฟ้อง จึงอาจไม่เข้าองค์ประกอบความผิด
อีกประเด็น คือ ความพยายามชี้แจงให้ศาลเห็นถึงความเชื่อมโยงในความสัมพันธ์ ระหว่างตัวของคณะกรรมการสมาคมฯ ที่ยื่นฟ้องบางชุด กับบริษัทสารเคมี
วิฑูรย์ ย้ำว่า หากสังคมยอมปล่อยให้คนบางกลุ่ม นำกฎหมายมาจ้องเล่นงาน คนที่ออกมาเรียกร้องเพื่อความปลอดภัยในชีวิต ลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้คนในสังคม ในอนาคตก็อาจหนีไม่พ้นวังวนปัญหาที่กระทบต่อการใช้ชีวิต
“ตลอดชีวิต ทำงานมา 40 กว่าปี เราใช้ข้อมูล ใช้องค์ความรู้ ใช้เหตุผลข้อเท็จจริง ประสบการณ์จริง และชี้แจงข้อมูลวิชาการมาโดยตลอด ดังนั้นจึงไม่ควรมีใครต้องถูกฟ้องด้วยเหตุผลนี้ แต่สิ่งที่ต่อสู้คดีครั้งนี้ หวังให้เกิดผลกระทบในแง่ที่ว่า ต้องการสร้างให้นักวิชาการรุ่นใหม่ ๆ ไม่อยู่ภายใต้ความหวาดกลัว และกังวล ต่อการถูกนำกฎหมายมาใช้ปิดปาก แบบกรณีที่เกิดขึ้นกับผม”
ท้า โต้แย้งด้วย “ข้อมูลวิชาการ” มากกว่าใช้กฎหมาย
ขณะที่ สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) มองเรื่องนี้ ว่า ถ้าไม่มีนักปกป้องสิทธิ หรือ ผู้ที่ออกมาส่งเสียงเพื่อประโยชน์สาธารณะ ทั้งกลุ่มเกษตรกร รวมถึง ผู้บริโภค อาจไม่รับรู้ถึงความอันตรายของสารเคมี ซึ่งถือว่าเป็นภัยใกล้ตัวที่ภาครัฐ และเอกชน ต้องร่วมกันปกป้องผู้บริโภค ดังนั้นถ้าอีกฝ่ายเห็นว่าสิ่งที่พูดนั้นผิด ก็ควรใช้การโต้แย้งด้วยหลักวิชาการ และข้อมูล เพื่อให้ประชาชนรับรู้ไปพร้อมกัน ไม่ใช่การใช้คดีความ มายับยั้งเรื่องเหล่านี้
“ถ้าผู้ฟ้องคิดว่าคุณวิฑูรย์ สื่อสารข้อมูลผิด ควรโต้แย้งทางวิชาการ เพื่อให้ประโยชน์ตกกับผู้บริโภคได้ฟังข้อมูล 2 ฝั่ง แต่การมาฟ้องคดี ทำให้เกิดความยุ่งยาก และสกัดกั้นกลุ่มที่ออกมาตั้งคำถาม ทำให้หวาดกลัวกับการโดนฟ้องคดี กระทบสิทธิ สร้างต้นทุนเรื่องนี้เพิ่มขึ้น จึงควรให้เปิดข้อเท็จจริงเรื่องนี้”
นักกฎหมาย เชื่อ ตีแผ่ความจริง ชวนสังคมตั้งคำถาม “เจตนาสุจริต”
รศ.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็น ว่า การฟ้องร้องในลักษณะนี้ ลดทอนบรรยากาศการแสดงความคิดเห็น เพราะการพยายามใช้กระบวนการทางกฎหมาย ทำให้เกิดความเกรงกลัว เทียบได้กับการใช้สิทธิที่ไม่สุจริต และยิ่งถ้าฟ้องร้องผู้ที่พยายามตีแผ่ความจริง เพื่อปกป้องประโยชน์ส่วนรวม กระบวนการพิจารณาทางการกฎหมายก็ยิ่งต้องเน้นพิสูจน์เจตนาว่าสิ่งที่ละเมิดสิทธิผู้อื่นจริงหรือไม่
“ถ้าพูดในแง่มุมกฎหมายหมิ่นประมาททั้งอาญาและแพ่ง การที่เราพยายามตีแผ่ความจริง เพื่อปกป้องผลประโยชน์ส่วนรวม ถึงแม้ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าจริงหรือไม่ แต่ก็คือการได้จุดประเด็นขึ้นมาให้สังคมได้ตั้งคำถาม ได้พุดคุย ได้ตระหนักรู้ ประเด็นนี้มีข้อยกเว้นทางกฎหมาย ไม่เป็นความผิด เพราะจริง ๆ แล้วกฎหมายทุกฉบับวางฐานความผิดอยู่บนการใช้สิทธิที่ไม่สุจริตอยู่แล้ว ถ้าใช้สิทธิโดยสุจริต คือบริสุทธิ์ใจ ที่จะทำเพื่อส่วนรวมก็ไม่เป็นความผิดทางกฎหมาย เพราะไม่ได้มีเจตนาละเมิดสิทธิคนอื่น ในกรณีแบบนี้ก็ต้องถือว่าเขาไม่มีเจตนา เพราะต้องการคุ้มครองสิทธิของส่วนรวม”
คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังย้ำด้วยว่า หากประเทศไหนเกิดกรณีฟ้องปิดปากจำนวนมาก นั่นอาจกำลังสะท้อนถึง ระบบธรรมาภิบาลขององค์กรรัฐ และ เอกชน เพราะหากหน่วยงานไม่เปิดกว้าง ไม่ยอมรับในเสียงวิพากย์วิจารณ์ผลกระทบที่ส่งผลต่อผู้คนในวงกว้าง ทำให้คนที่ออกมาปกป้อง ถูก ปิดปาก สังคมอาจเจอกับปัญหาได้
วิจัยชี้หลังรัฐประหาร ปี’57 “คดีฟ้องปิดปาก” เพิ่มขึ้น
งานวิจัย ของสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน พบว่า ส่วนใหญ่ของข้อกล่าวหากรณีการฟ้องปิดปาก มาจากกิจกรรมบนโซเชียลมีเดีย รองลงคือ กิจกรรมการชุมนุม และการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ที่น่าสนใจ คือมากถึง 1 ใน 4 ของคดีความเกิดขึ้นจากการแสดงความคิดเห็นทางออนไลน์ ซึ่งตั้งแต่ปี 2540 จนถึงตอนนี้ มีคดีฟ้องปิดปากไม่น้อยกว่า 200 คดี ที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
งานวิจัย ยังพบด้วยว่า สถานการณ์ฟ้องคดีปิดปากเพิ่มมากขึ้น หลังการรัฐประหาร ปี 2557 โดยมองว่า หน่วยงานรัฐ เลือกปกป้องกลุ่มผู้มีอำนาจ และให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ ของบรรษัท และรัฐบาล มากกว่าประโยชน์สาธารณะ
แน่นอนว่า เกือบทั้งหมดของคดีฟ้องปิดปากในไทย เป็นคดีอาญา และผู้ที่ต้องตกเป็นจำเลย หนีไม่พ้น ประชาชนทั่วไป, นักเคลื่อนไหวทางการเมือง, อาสาสมัคร, นักปกป้องสิทธิมนุษยชน, สื่อมวลชน ไปจนถึง นักวิชาการ