อุดช่องโหว่ ร่างกฎหมายป้องกันซ้อมทรมานฯ อาจารย์นิติ มธ. ชี้ ยึดหลักสากลได้มากกว่านี้

สถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนาสาธารณะ ตรวจข้อกฎหมายกับความเป็นไปได้จริงในสังคม ‘นักวิชาการ’ ชำแหละกฎหมาย แม้ครอบคลุม แต่อาจลืมประเด็นสำคัญ ย้ำ “นิยาม” สำคัญ

19 ต.ค. 2564 –รศ.รณกร บุญมี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาญา และเป็นผู้มีส่วนจัดทำร่างรายงานประเทศตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ กล่าวระหว่างการสัมมนาสาธารณะ เรื่อง “การป้องกันและปราบปรามการทรมานเเละบังคับให้สูญหาย : บทบัญญัติทางกฎหมายและความเป็นไปได้จริงในสังคมยุติธรรมไทย” ว่า ร่างกฎหมายฉบับที่อยู่ระหว่างการพิจารณานี้ อาจเป็นกฎหมายฉบับแรกของโลก ที่มีการบัญญัติเกี่ยวกับการป้องกันการซ้อมทรมาน และป้องกันการบังคับบุคคลให้สูญหาย รวมกันในฉบับเดียว อย่างไรก็ตาม เนื้อหาของแต่ละเรื่องมีความแตกต่างกัน ย่อมต้องบัญญัติในกฎหมายอย่างครอบคลุม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง

รศ.รณกร กล่าวว่า ในภาพรวมกฎหมายในประเทศไทย มี 5 ประเด็นสำคัญที่ต้องกำหนดให้มีขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศ ได้แก่ 1. มีบทบัญญัติที่กำหนดความผิดเป็นการเฉพาะ 2. มาตรการป้องกันและปราบปราม 3. มาตรการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย 4. มาตรการอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามอนุสัญญาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 5. ยกระดับการคุ้มครองสิทธินุษยชนเทียบเท่าสากล

นิยาม และความหมายของถ้อยคำตามกฎหมาย

รศ.รณกร กล่าวว่า การกำหนดความหมายของถ้อยคำต่าง ๆ ภายใต้ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะส่งผลต่อการตีความกฎหมายว่าจะเป็นไปตามเจตนารมณ์ของอนุสัญญาหรือไม่ โดยมีข้อสังเกตในคำดังต่อไปนี้

‘อย่างร้ายแรง’ ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของการกระทำทรมาน ซึ่งกำหนดว่า “การทรมาน หมายความว่า การกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวด หรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ” ประเด็นปัญหา คือ การกระทำแบบใดถึงจะเรียกได้ว่าร้ายแรง ?

หลายประเทศมีแนวทางในการบัญญัติเรื่องนี้ หลายแนวทาง ตั้งแต่การบัญญัตินิยามแบบลอกตามอนุสัญญาทั้งหมด หรือ การบัญญัตินิยามแล้วเพิ่มเติมรายละเอียด และในอีกกรณีหนึ่งคือการไม่บัญญัติให้การทรมานเป็นความผิดเฉพาะไปเลย ก็มีทั้งหมด เพราะฉะนั้นในประเทศไทยอาจต้องมีระบุรายละเอียดนี้ให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ว่าต้องเป็นการกระทำอย่างไรเพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายและตีความกฎหมายของเราทำงานได้ง่ายขึ้น

‘จิตใจ’ คำนี้ยังเป็นปัญหาในทางกฎหมาย เพราะหากยึดตามหลักกฎหมายอาญา จิตใจอาจหมายถึงการสั่งการของสมอง ทำให้สิ้นสติไป แต่เมื่อการทรมานทางจิตใจมีความหมายมากไปกว่านั้น คือรวมถึง การถูกเหยียดหยาม ให้รู้สึกสะเทือนใจ อับอาย หรือขายหน้า จะถือเป็นการทรานต่อจิตใจหรือไม่ เป็นคำที่ต้องกำหนดให้ชัดเจน เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ถูกกระทำ

‘เจ้าหน้าที่รัฐ’ โดยร่างกฎหมาย มาตรา 3 “เจ้าหน้าที่รัฐ หมายความว่า บุคคลซึ่งใช้อำนาจรัฐหรือได้รับมอบอำนาจ หรือได้รับแต่งตั้ง อนุญาต การสนับสนุน หรือการยอมรับโดยตรงหรือโดยปริยาย ให้ใช้อำนาจรัฐดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมาย” รศ.รณกร กล่าวว่า คำนี้อนุสัญญาฯ ประสงค์ให้ครอบคลุมไปจนถึงเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่ง “รู้เห็นเป็นใจ” แบบ “หลับตาข้างเดียว” คือไม่ทำหน้าที่อย่างสมควร ซึ่งไม่อยู่ในนิยามคำว่าสมคบ หรือสนับสนุน หากยึดตามร่างกฎหมายจะมีบุคคลที่ไม่ครอบคลุมอยู่ด้วย

นอกจากนั้นยังมีเรื่องของ “เจตนาพิเศษ” ที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 5 ของร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยกำหนดวัตถุประสงค์ของการทรมานไว้เพียง 4 ข้อ ได้แก่ 1. การได้มาซึ่งคำรับสารภาพ 2. การลงโทษผู้กระทำผิด 3. ข่มขู่หรือขู่เข็ญ 4. เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งตามอนุสัญญานั้น มีข้อบทที่ใช้คำว่า “for such purposes as …” ซึ่งแปลว่า ยกตัวอย่างเช่น/เช่น จึงทำให้เจตนาพิเศษควรมีได้มากกว่า 4 ข้อ เพื่อให้ครอบคลุมสิ่งที่จะเกิดขึ้นทั้งหมด

ในส่วนของบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานยังมีข้องสังเกตอีกหลายเรื่อง ได้แก่ การห้ามอำนาจกระทำการทรมาน การส่งตัวบุคคลออกนอกราชอาณาจักร การสอบสวนโดยพลันและเป็นกลาง อำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ตลอดจนการรับผิดชอบผู้บังคับบัญชา ที่ รศ.รณกร เน้นย้ำว่าควรมีการแก้ไขในชั้นกรรมาธิการเพื่อให้กฎหมายครอบคลุมสูงสุด

สำหรับบทบัญญัติบังคับบุคคลสูญหายนั้น รศ.รณกร กล่าวว่า มาตราที่มีปัญหาอย่างยิ่ง คือ มาตรา 33 เพราะขัดแย้งกับอนุสัญญาระหว่างประเทศ โดยมาตรานี้กำหนดไว้ว่า หากมีการช่วยค้นพบบุคคล โดยมิได้รับอันตรายสาหัสหรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายแก่ชีวิต ให้มีการลดโทษลงกึ่งหนึ่ง แต่ในอนุสัญญากำหนดแต่เพียงว่า ช่วยให้ค้นพบ ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพใดก็ให้ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง

กฎหมายไทยไปใช้กฎหมายอาญาของตัวเองมาเทียบเคียง ในเรื่องลักพาตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะอนุสัญญามุ่งหวังให้เป็นแรงจูงใจให้ผู้กระทำผิดบอกความจริง และค้นหาผู้ที่ถูกบังคับสูญหายให้ไวที่สุด การเพิ่มเงื่อนไขนี้จะทำให้กระบวนการค้นพบทำได้ยากมากกว่าที่สากลกำหนดไว้

ความรับผิดขอบผู้บังคับบัญชา มาตรา 34 ของร่างกฎหมายไทย บัญญัติไว้ “แคบกว่า” อนุสัญญา คือกำหนดให้เพียงผู้บังคับบัญชา ‘ต้องรู้’ เกี่ยวกับการกระทำความผิดเท่านั้น จึงต้องร่วมรับผิด แต่อนุสัญญากำหนดครอบคลุมไปถึงการ ‘จงใจละเลย’ แม้จะไม่รู้ว่าไปกระทำทรมานต่อใครก็ตาม ในขณะเดียวกันต้องเป็นผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่คนนั้นจริงๆ เท่านั้น (effective control) ซึ่งกฎหายไทยไม่ได้กำหนดในเรื่องนี้

“ในภาพรวมกฎหมายของเราค่อนข้างสอดคล้องกับอนุสัญญา แต่ยังมีบางบทบัญญัติหลายมาตราทีเดียว ที่อาจขาดตกบกพร่องไปบ้าง ผมเรียนว่าเราไม่จำเป็นต้องกำหนดให้เหมือนอนุสัญญาทุกข้อ โดยไม่คำนึงถึงหลักนิติศาสตร์และความเป็นไปได้ในบริบทการบังคับใช้ของไทย … จึงขอฝากกรรมาธิการให้เพิ่มเติมเรื่องเหล่านี้เข้าไปด้วย”

รศ.รณกร บุญมี

หมายเหตุ

เนื้อหาจากเวที สัมมนาสาธารณะ ครั้งที่ 1 เรื่อง “การป้องกันและปราบปรามการทรมานเเละบังคับให้สูญหาย : บทบัญญัติทางกฎหมายและความเป็นไปได้จริงในสังคมยุติธรรมไทย” จัดโดย สถาบันพระปกเกล้า เป็นเวทีอภิปรายเน้นเจาะลึกด้านตัวบทกฎหมายเพื่อสร้างความเข้าใจ และช่วยพิจารณาในประเด็นที่สำคัญ รวมถึงข้อที่ควรถูกบัญญัติไว้เพื่อให้การป้องกันการซ้อมทรมาน และการบังคับบุคคลให้สูญหายมีประสิทธิภาพสูงสุด

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้