นายอำเภอเทพา ขานรับ ศบค.ส่วนหน้า ปิดหมู่บ้าน-เร่งตรวจคัดกรอง ฉีดวัคซีน

ยอมรับความซับซ้อนของพื้นที่ พร้อมหนุนสาธารณสุขฉีดวัคซีนตามเป้า 70% สิ้นเดือน ต.ค.นี้ ขณะนักวิชาการชี้ ต้องให้ภาคประชาสังคมนำ ภาครัฐเสริม เพราะจะสร้างความไว้วางใจได้ มากกว่า 

วันที่ 18 ต.ค. 2564 สองสัปดาห์ของการนับถอยหลังเปิดประเทศ ต้องยอมรับว่ายังมีข้อกังวลจากบางฝ่าย เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อบางจังหวัดยังพุ่งสูง อย่างที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่พบคลัสเตอร์ใหม่ ขณะที่ จังหวัดชายแดนใต้ ยังคงติด Top5 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด รองจาก กทม.

ทำให้เมื่อวาน (17 ต.ค. 2564) มีราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ คำสั่งนายกฯ เรื่องการจัดตั้ง ศบค.ส่วนหน้า ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ออกมา แต่ก็มีความเห็นจากคนที่เคยทำงานในพื้นที่ว่าการแก้ปัญหา จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคำนึงถึงสิทธิ์ และวิถีวัฒนธรรมคนในพื้นที่ควบคู่กันไปด้วย

“ศบค.ส่วนหน้า”  คือชื่อย่อของ “ศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” ดูแลพื้นที่ครอบคลุม จ.นราธิวาส ปัตตานี ยะลาและสงขลา และอาจรวมพื้นที่บางส่วน หรือ ทั้งหมดของจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกันตามที่นายกรัฐมนตรีกำหนด 

โดยมอบหมาย พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ หรือบิ๊กเล็ก ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการศูนย์ ฯ มีหน้าที่ และอำนาจกำหนดแนวทางการบูรณาการประสานงาน ขับเคลื่อน เร่งรัดและติดตาม การปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19

ขณะที่ รศ.ธนพร ศรียากูล หนึ่งในผู้ที่เคยทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เรื่องปัญหาที่ดินทำกิน และปัญหาประมงผิดกฎหมาย มีให้ความเห็นไว้ 2-3 ประเด็น

  1. การที่ชาวบ้านจะไม่ฉีดวัคซีน เป็นเรื่องของความเชื่อ-วัฒนธรรม การใช้มาตรการบังคับโดยใช้เงื่อนไขของ “ศาสนกิจ ” เป็นสิ่งไม่สมควรสะท้อนถึงการเข้าไม่ถึง-และความไม่เข้าใจของรัฐ
  2. เสนอให้ “ภาคประชาสังคม ภาคอาสาสมัคร ” เป็นหัวหอก ในการทำงานกับพี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องให้ “ภาคประชาสังคม ภาคอาสาสมัคร “นำ เพราะจะสร้างความไว้วางใจได้ มากกว่า ปฏิบัติการที่ให้ภาครัฐเป็นหน่วยนำ
  3. ขณะเดียวกัน ก็ต้องตรวจเชิงรุกในชุมชน-รักษาดูแลผู้ติดเชื้อ-นำเสนอข้อมูล-ผลดีการฉีดวัคซีน ด้วยภาคประชาสังคม ภาคอาสาสมัครนำ ภาครัฐหนุน 

รศ.ธนพร ย้ำว่า อาจใช้เวลาบ้าง แต่ได้ผลดีกว่า “มาตรการจับเป็นตัวประกัน” ที่จะเป็นการละเมิดสิทธิ หรือ วิถีชีวิต   

ขณะเดียวกัน The Active  ได้พูดคุยกับ นายสิทธิชัย เทพภูษา นายอำเภอเทพาจังหวัดสงขลา  ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่จังหวัดชายแดนใต้ ที่ นายรัฐมาตรีได้ตัง ศบค.ส่วนหน้าเพื่อดูแลโดยเฉพาะ  

เขาบอกว่า มีความท้าทายไม่น้อยหลังจากที่ กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าที่จะฉีดวัคซีนให้ได้ 70% ทุกอำเภอเพื่อตัดวงจรระบาด พร้อมกับส่งวัคซีนมาถึง 1 ล้านโดส จำเป็นต้องวางแผนเป็นอย่างดีเพื่อสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถปฏิบัติงานได้ตามเป้าหมาย 

ขณะเดียวกันสถานการณ์ปัจจุบันก็พบว่า บางหมู่บ้านมีการระบาดของ covid 19 กันเกือบทั้งหมู่บ้าน แต่ก็ไม่สามารถจะล็อกดาวน์ได้ทั้งเมืองจึงจำเป็นต้องปิดหมู่บ้าน เพื่อตรวจเชื้อเชิงรุกแยกผู้ป่วย และฉีดวัคซีนคนที่ไม่ป่วยในหมู่บ้านไปพร้อมกัน ซึ่งปฏิบัติการดังกล่าวจะเริ่มวันจันทร์ (18 ต.ค. 2564) หลังจากที่วัคซีนทยอยกระจายเข้าถึงพื้นที่และพร้อมฉีดในวันอังคาร (19 ต.ค. 2564 ) 

ขณะที่เดิมโรงพยาบาลประจำอำเภอ อย่าง โรงพยาบาลเทพา เป็นเพียงจุดเดียวที่มีการฉีดวัคซีน ก็จะกระจายวัคซีนไปตามโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 14 แห่ง ใช้เป็นจุดฉีดวัคซีนด้วย

นายอำเภอเทพา รู้ว่า มีความซับซ้อน และมีเงื่อนไขบางอย่างในพื้นที่ชายแดนใต้ ทำให้ยิ่งต้องทำงานร่วมมือกับกรรมการหมู่บ้าน และผู้นำทางศาสนา โดยจะมีการประเมินทั้งสถานการณ์การควบคุมโรค และสถานการณ์อื่นๆในพื้นที่ ที่อาจมีปัจจัยต่อการปฎิบัติงาน เพื่อปรับวิธีการทำงานให้สอดคล้องกับพื้นที่มากที่สุด 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS