ชาวมุสลิมชายแดนใต้ พร้อมปรับวิถีชีวิตสู้โควิด-19 หลังสถานการณ์ระบาดยังพุ่ง

มัสยิด​กลาง​ปัตตานี​ เข้มมาตรการ Covid Free Setting เดินหน้าละหมาดใหญ่ทุกวันศุกร์แบบ New Normal ขณะที่แพทย์ระบาดวิทยา มอ.ปัตตานี เปิดผลสำรวจทัศนคติการรับวัคซีนของคนชายแดนใต้ พบคนปฏิเสธฉีดวัคซีน 10-20%

การละหมาดวันศุกร์” เป็นการละหมาดใหญ่ของชาวมุสลิมที่จะต้องทำ ถ้าขาดเว้นไป 3 ครั้งจะถือว่าเป็นบาป ดังนั้นบรรยากาศที่มัสยิดกลางปัตตานี เมื่อวันศุกร์ที่ 15 ต.ค. 2564 จึงมีคนเดินทางเข้ามาละหมาดที่นี่มากกว่าทุกวัน​ ท่ามกลางมาตรการควบคุมโรค​ 

บรรยากาศการละหมาดช่วงเที่ยง วันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม 2564 ภายในมัสยิดกลางปัตตานี

แบเป็ง​ ตูแวเลาะห์​ บูละ​ กรรมการ​มัสยิด​กลาง​ บอกว่า ชาวมุสลิมที่นี่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการควบคุมโรคอย่างเต็มที่ตามวิถีใหม่​ เห็นได้จาก เมื่อเข้ามาถึงมัสยิดแล้วจะต้องลงทะเบียน​ วัดอุณหภูมิ​ ล้างมือ ก่อนเข้าพื้นที่​ 

“ในคัมภีร์อัลกุรอานนี้ มีบทบัญญัติอยู่ว่าตั้งแต่สมัยนบีโรคภัยไข้เจ็บนี้มีมานานแล้ว แต่วิถีชีวิต ชุมชนชาวมุสลิมเขาจะรู้ว่าตรงไหนมีโรคระบาดตรงนั้นเขาจะไม่เข้าใกล้ อย่างพื้นที่มัสยิดตอนนี้มีโรคระบาด ถ้ามันถึงจุดสูงสุด เราก็ต้องหยุดกิจกรรมตรงนี้” 

แบเป็ง บอกอีกว่าโดยปกติแล้วในช่วงวันศุกร์จะมีชาวมุสลิมเดินทางเข้ามาละหมาดที่นี่ถึง 3,000 คน​ แต่ในช่วงโควิด-19 มีชาวมุสลิมเข้าละหมาดประมาณ 300 คน เพื่อเป็นการเว้นระยะห่างในการประกอบศาสนกิจ สะท้อนให้เห็นการปรับตัวของชาวมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ต่อโรคระบาดที่เกิดขึ้นขณะนี้

นพ.มูฮัมมัดฟาร์มี​ ตาเละ แพทย์ระบาดวิทยา​ อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานรินทร์ (มอ.) ปัตตานี

ด้าน นพ.มูฮัมมัดฟาร์มี​ ตาเละ แพทย์ระบาดวิทยา​ คณะพยาบาลศาสตร์​ มอ.​ปัตตานี​  ได้ทำการสำรวจทัศนคติการรับวัคซีนของคนชายแดนใต้ 2 ครั้งกับกลุ่มตัวอย่าง 2,100 คน พบว่า

  • ไม่รับวัคซีน 10-20% 
  • ไม่แน่ใจลังเล 40% 
  • แน่ใจรับวัคซีนไม่ว่าจะยี่ห้อใดก็ตาม 40%

ผลสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนที่นี่ได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับวัคซีนบางยี่ห้อในแง่ลบมายาวนาน และกว่าวัคซีนที่ได้รับความเชื่อมั่นอย่างไฟเซอร์จะมาถึงก็ใช้เวลานาน ทำให้อัตราการฉีดวัคซีนที่นี่ต่ำกว่าพื้นที่อื่น ดังนั้นการที่รัฐบาล จัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ให้ชายแดนใต้ 1 ล้านโดส ทำให้ประชาชนมาฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นจากหลักพันคน เป็นหลักหมื่นในช่วง 3 วันที่ผ่านมา (นับจากวันที่ 13 ต.ค. 2564) 

“ยังมีอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อการระบาดในพื้นที่ คือวิถีวัฒนธรรม ของ ของชาวมุสลิมที่ยึดโยงกับหลักศาสนาอย่างเคร่งครัด และเชื่อว่าการเจ็บป่วยเป็นเรื่องธรรมชาติ โดยมีชีวิตปัจจุบันเป็นทางผ่านของโลกหน้า”

ทว่า โควิด-19 เป็นโรคติดต่อ นพ.มูฮัมมัดฟาร์มี​ เห็นว่า จำเป็นต้องให้ความรู้ด้านสุขภาพ โดยอาศัยผู้นำทางศาสนามากกว่าการประชาสัมพันธ์จากรัฐเนื่องจากพื้นที่นี้มีเงื่อนไข ด้านความมั่นคงและประวัติศาสตร์สังคม ทำให้ชาวบ้านบางส่วนมักไม่ไว้วางใจรัฐ​ 

ซึ่งภายหลังผู้นำทางศาสนา ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานด้านสาธารณสุข เพื่อสร้างสมดุลระหว่างหลักศาสนาและการดูแลรักษาสุขภาพ​โดยในคำสอนก็ระบุชัดเจนว่า มีข้อยกเว้นในการปฏิบัติศาสนกิจบางอย่าง เพื่อรักษาสุขภาพและชีวิต

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS