ท่ามกลางคำถาม”ไทยแแลนด์จะไปถึง 4.0 ? หากระบบอินเทอร์เน็ตยังไม่ทั่วถึง และหลายคนยังไม่มีสมาร์ทโฟน” ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบสวัสดิการตั้งแต่ไม้แรก
วันที่ 15 ตุลาคม 64 สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) จัดงานประชุมระดมสมองเพื่อรับฟังความคิดเห็นประกอบการจัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2566 – 2570 ผ่าน Facebook และ YouTube : DGA Thailand เพื่อทำให้บริการภาครัฐเข้าถึงประชาชนได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะเรื่องของการให้สิทธิสวัสดิการภาครัฐ ผ่านนโยบายการปรับเปลี่ยนหน่วยงานให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล ตาม พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ.2562 ที่กำหนดให้ต้องจัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล
สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) กล่าวว่า แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย ปี พ.ศ.2563-2565 กำหนดเป้าหมายการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลหลายด้าน ได้แก่ ด้านการศึกษา การแพทย์-สุขภาพ การเกษตร ความเหลื่อมล้ำทางสิทธิสวัสดิการประชาชน การมีส่วนร่วมตรวจสอบได้โดยประชาชน และการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อให้แผนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลในปัจจุบันมีความต่อเนื่อง ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2566 – 2570
กระบวนการที่สำคัญคือการให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะผู้ที่มีความเกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ภาคประชาชนผู้ใช้ประโยชน์จากบริการภาครัฐ เพื่อให้ได้รู้ปัญหาที่เกิดขึ้นบนฐานความเป็นจริง และนำไปปรับปรุงแก้ไข เพื่อสร้างแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทยในอนาคต ซึ่งในอีก 5 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีและสังคมเปลี่ยนไปมาก จึงต้องการวางแผนให้ทันโลกทันเหตุการณ์ จึงต้องอาศัยฐานข้อมูลเพื่อนำไปปฏิบัติได้จริง มากกว่าสวยหรู แต่เป็นการเห็นเป้าหมายร่วมกันของประชาชน
สว่าง แก้วกันทา ผู้อำนวยการ มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ ระบุว่า ที่ผ่านมาผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยขาดการเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ต ด้วยหลายปัจจัย เช่น วิธีการเข้าถึง ไม่ทราบวิธีการใช้งาน มีงบประมาณน้อยไม่สามารถซื้อสมาร์ทโฟน หรือจ่ายค่าอินเทอร์เน็ต และมีความวิตกกังวลว่าจะถูกหลอก จึงทำให้ผู้สูงอายุไม่ได้รับข่าวสารจากทางการผ่านอินเทอร์เน็ต จึงรับข่าวสารจากคนใกล้ชิดซึ่งอาจมีความผิดเพี้ยนไปจากข้อเท็จจริง ดูเหมือนว่านโยบาย 4.0 แต่ผลักภาระมาให้ผู้บริโภค ทำให้กลไกภาครัฐที่จะนำไปสู่การสื่อสารหรือข้อมูลข่าวสารที่เข้าถึงผู้สูงอายุ ยังไม่เป็นรูปธรรมที่แท้จริง ไม่ว่าจะเป็นโครงการคนละครึ่ง หรือรัฐสวัสดิการที่มีความยุ่งยาก ซับซ้อนและต้องใช้ความรวดเร็วในการลงทะเบียน ทำให้ผู้สูงอายุตามไม่ทัน กลายเป็นกลุ่มสุดท้ายที่จะเข้าถึงบริการของรัฐได้
ทางออกอย่างแรกจึงต้องให้ความรู้ ความเข้าใจและโอกาสในการนำไปปฏิบัติ จะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุได้เข้าถึงสิทธิและประโยชน์ของตัวเอง สอง การเข้าถึงการศึกษานอกระบบ เตรียมคนให้ไปสอนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้กับผู้สูงอายุ หากสนับสนุนอย่างจริงจัง อาจจะเป็นกลไกให้ผู้สูงอายุเข้าถึงรัฐบาลดิจิทัลได้ สาม สนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ให้กับชมรมผู้สูงอายุ ที่เป็นขุมพลังปัญญาในพื้นที่ชุมชนท้องถิ่น ซึ่งน่าจะช่วยเป็นแขนขาของรัฐได้ อีกประการคือความร่วมมือของ เอกชน ภาคประชาสังคม และรัฐ หากมาช่วยขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลจะไปได้ไกล
สฤณี อาชวานันทกุล นักวิจัยอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ มองว่า สิ่งที่ประชาชนต้องการมี 3 เรื่องใหญ่ คือ การรับรู้สิทธิสวัสดิการของตัวเอง ความสามารถในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ของตัวเอง การมีช่องทางร้องเรียนเมื่อเจอปัญหาเกี่ยวกับข้อมูลภาครัฐ ส่วนโจทย์ของรัฐคือแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นกับการรับสวัสดิการของรัฐ แต่จะพบว่าปัญหาที่ประชาชนเข้าไม่ถึงระบบบริการของรัฐ คือ ประชาชนกังวลเรื่องการถูกหลอก โกง หรือคอร์รัปชันผลประโยชน์ของตนเอง รวมถึงการเข้าถึงเครื่องมือที่ยังจำกัด เช่น สมาร์ทโฟนด้วย
ทำยังไงให้บริการหรือสวัสดิการของรัฐไปถึงมือประชาชนจริงๆ ทั้งผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟน และผู้ที่ไม่มีแม้แต่มือถือก็ควรจะสามารถเข้าถึงข้อมูลของรัฐได้ อาจต้องเชื่อมโยงกับองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อให้เป็นส่วนในการนำส่งข้อมูลและสิทธิสวัสดิการโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ส่วนอีกเรื่องคือการเร่งให้มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือนำเอาหลักการสาระมาใช้ประโยชน์ได้ก่อนผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสิทธิสวัสดิการต่างๆ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยข้อมูลของประชาชน รวมถึงการเปิดช่องทางร้องเรียนให้ประชาชนเข้าถึงได้และสะดวกรวดเร็ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนเข้ามาใช้บริการมากขึ้น
สฤณี ยังแนะเพิ่มเติมว่า หากต้องการขับเคลื่อนการเป็นรัฐบาลดิจิทัลแล้ว ไม่เพียงแต่การส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการของรัฐ แต่ควรที่จะเดินหน้าเรื่องการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ หรือ open data เพื่อแสดงความโปร่งใสในข้อมูลต่างๆ ของรัฐ และการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการของประชาชน และหากส่งเสริมให้ข้อมูลเหล่านั้นนำไปสู่การใช้ประโยชน์อื่นๆ ต่อเนื่อง จะช่วยสร้างคุณค่าให้กับการพัฒนานโยบายในอนาคตด้วย