กสม. แถลงมติหยิบยกกรณีสารคมีตกค้างพื้นที่โรงงานท่าข้าม อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ตรวจสอบอีกครั้ง หลังพบสารเคมีบางส่วนยังตกค้างในพื้นที่ กระทบประชาชนและสิ่งแวดล้อม คพ. ระบุ ผู้กระทำความผิดต้องรับผิดชอบฟื้นฟู
วันนี้ (14 ต.ค. 2564) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงข่าวกรณีมีมติหยิบยกสารคมีตกค้างในพื้นที่โรงงาน ต.ท่าข้าม อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ขึ้นตรวจสอบอีกครั้ง สืบเนื่องจาก กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อปลายปี 2557 จากประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ว่าได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการโรงงานของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งซึ่งมีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมลงลำรางสาธารณะ (คลองพานทอง) โดยไม่มีมาตรการควบคุมดูแลอย่างเพียงพอที่จะทำให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตและประกอบอาชีพได้อย่างปลอดภัย
กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา กรมโรงงานอุตสาหกรรมและเทศบาลตำลท่าข้าม ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและออกคำสั่งปิดโรงงานบางส่วน และให้บริษัทแก้ไขระงับเหตุรำคาญจากกลิ่นเหม็นรบกวน ตามระเบียบและขั้นตอนของกฎหมายแล้ว และประชาชนผู้ร้องทุกข์ได้ร้องทุกข์ดำเนินคดีกับบริษัทในความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 แล้ว แต่กากอุตสาหกรรมที่ยังไม่มีการขนย้ายออกไปอาจรั่วซึมออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอกได้ ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสุขภาพและการดำรงชีวิตของบุคคลชุมชนได้ กสม.ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยนชนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 จึงมีข้อเสนอแนะให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งรัดดำเนินจำกัดกากอุตสาหกรรมให้ถูกต้องตามหลักวิาการ
ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุว่า ผ่านมากว่า 1 ปี ที่ กสม. ได้ทำข้อเสนอแนะไปยังกระทรวงอุตสาหกรรม แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนถึงแนวทางในการจัดการปัญหาและการขนย้ายสารเคมีที่เหลือไปกำจัด กสม. จึงต้องหยิบยกประเด็นนี้มาเผยแพร่สาธารณะตามอำนาจอีกครั้ง เพื่อให้ฝ่ายนโยบายจัดการ
“บริษัทล้มละลายไปแล้ว แต่สารเคมีบางส่วนยังตกค้างอยู่ อบต. ก็ทำทุกทางแล้ว แต่ไม่มีอำนาจ เราจึงเสนอให้ใช้เงินกองทุนสิ่งแวดล้อมมากำจัดก่อนและไล่บี้ทีหลัง คพ. และอุตสาหกรรม ต้องออกมารับผิดชอบเรื่องนี้ ไม่ใช่เกี่ยงกันไปกันมา”
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุเพิ่มเติมว่า งบประมาณสำหรับการฟื้นฟูบริเวณนั้นคาดว่าต้องใช้งบฯ ไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท และหากปล่อยทิ้งให้ตกค้างโดยไม่รีบกำจัดตามหลักวิชาการ สารเคมีจะไหลลงคลองที่เชื่อมต่อกับอ่าวตัว ก ซึ่งมีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ เช่น วาฬบลูด้า ซึ่งสะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวไทย ทั้งนี้ กสม. เตรียมศึกษาข้อกฎหมายและทำเรื่องเสนอไปที่กรมควบคุมมลพิษรวมถึงการลงพื้นที่ตรวจสอบอีกครั้ง
ด้าน อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ระบุว่าการใช้งบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อม เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการฟื้นฟูดูแลทรัพยากรธรรมชาติ แต่กรณีนี้อยากให้ใช้กระบวนการที่มีอยู่เนื่องจากมีผู้กระทำความผิดอย่างชัดเจน จึงไม่สามารถที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบได้ไม่ว่าจะถูกฟ้องล้มละลายไปแล้วหรือไม่
“ผมคุยกับสถาบันการเงินเมื่อปีที่แล้วที่เขาดูแลเป็นเจ้าของทรัพย์สิน จะมีการดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดกระบวนการฟ้องร้อง ยังไงผู้กระทำความผิดต้องเป็นคนรับผิดชอบ กองทุนฯก็มีเงินน้อยมาก เราใช้ไปกับการบำบัดน้ำเสียซะส่วนใหญ่ และมีขั้นตอนที่ไม่ง่าย หากจะใช้เงินจากกองทุน ที่สำคัญคือกรณีนี้มีผู้กระทำความผิดแค่ต้องหาเจ้าภาพจัดการ”
ส่วนของเสียที่ยังตกค้างก่อนหน้านี้ มีการสั่งให้ปิดรอยรั่วเพื่อป้องกันไม่ให้ไหลลงคลอง สิ่งแวดล้อมแล้ว ปัจจุบันยังมีคณะกรรมการหลายฝ่ายในพื้นที่ทำงานร่วมกันเพื่อติดตามแก้ไขปัญหาดังกล่าว