เปิดกฎหมายอาชญากรสงคราม ใช้เอาผิดผู้กวาดล้างคนเดือนตุลา

“ทนายด่าง” ปาฐกถารำลึก 45 ปี 6 ตุลา ประกาศเดินหน้าเอาผิดผู้สังหารหมู่ประชาชน ขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อเป็นตัวอย่างไม่ให้เกิดอีกในอนาคต

วันนี้ (6 ต.ค. 2564) ณ สวนประติมากรรมประวัติศาสตร์ “ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตั้งแต่ช่วงเช้า 07.30 น. มีกิจกรรมรำลึก 45 ปี 6 ตุลา 2519 “จะกี่ปีผ่านไป ในใจเรายังไม่ลืม” โดยคณะกรรมการจัดงาน 45 ปี 6 ตุลา พร้อมญาติวีรชน อดีตผู้นำนักศึกษา องค์การนักศึกษา และสภานักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมถึงองค์กรทางการเมืองเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก

กิจกรรมที่สำคัญ คือ พิธีเปิดนิทรรศการ “หนี้เลือด 6 ตุลาคม 2519 ถึงเวลาชำระ” โดย จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตผู้นำนักศึกษา 6 ตุลาคม 2519 กล่าวถึงเหตุผลของการจัดนิทรรศการดังกล่าว บริเวณสนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ อันเป็นสถานที่จริงของเหตุการณ์กวาดล้างนักศึกษาและประชาชน ถือเป็นหนี้ที่ยังไม่ได้รับการชำระสะสาง

นอกจากนั้น ยังมีพิธีมอบรางวัล “จารุพงษ์ ทองสินธุ์ เพื่อประชาธิปไตย” ซึ่งผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ โดย สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของเพนกวิน มารับแทนบุตรชายซึ่งยังถูกจองจำในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โดยมีการมอบใบประกาศเกียรติคุณ พร้อมโล่รางวัล

และไฮไลท์สำคัญ คือ “ปาฐกถาพิเศษรำลึก 45 ปี 6 ตุลา 2519” โดย กฤษฎางค์ นุตจรัส หรือ ‘ทนายด่าง’ อดีตผู้นำนักศึกษา 6 ตุลา ที่ได้กล่าวถึงความพยายามในการนำตัวผู้กระทำผิด กวาดล้างผู้ชุมนุมในขณะนั้นมาลงโทษ ข้อหาอาชญากรสงคราม ผ่านศาลอาญาระหว่างประเทศ

ภาพ : The Matter)

“ผ่านมา 45 ปี เรายืนยันได้อย่างหนึ่งว่าเหตุการณ์ 6 ตุลา ไม่ใช่อุบัติเหตุทางการเมือง แต่เป็นความจงใจของผู้มีอำนาจ ที่ต้องการกวาดล้าง ฆ่าฟัน และสังหารหมู่นักศึกษาที่มาเรียกร้องประชาธิปไตย”

กฤษฎางค์ นุตจรัส

กฤษฎางค์ กล่าวว่า ตนในฐานะทนายความ พร้อมด้วยภาคีนักกฎหมาย ทั้งในและต่างประเทศลงความเห็นกันว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นการ “สังหารหมู่ทางการเมือง” ซึ่งถือเป็นความผิดตาม “อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันปราบปรามการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ฯ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966” ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมเป็นภาคีสมาชิกด้วยเมื่อปี 2540

คนกระทำผิดตายไปแล้ว จะมีประโยชน์อะไร? กฤษฎางค์ กล่าวย้ำว่า แม้เวลาจะล่วงเลยมานานกว่า 45 ปี แล้ว และในขณะนี้ผู้ที่เคยกระทำความผิดก็เสียชีวิตไปแล้ว แต่การนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษนั้น แม้ไม่มีชีวิตอยู่แล้ว แต่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าได้เคยกระทำความผิด พร้อมเรียกคืนสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่เคยได้รับ ให้เหมาะสมกับความผิดที่เคยกระทำ

ภาพ : Voice Online

The Active ค้นข้อมูลเพิ่มเติม พบคำอธิบายของ ศาสตราจารย์พิเศษ กุลพล พลวัน ใน อาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และศาลอาญาระหว่างประเทศ เกี่ยวกับอำนาจพิจารณาคดีอาญาของศาลอาญาระหว่างประเทศ สำหรับคดีที่มีความร้ายแรงไว้ 4 ประเภท คือ อาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมเกี่ยวกับสงคราม และอาชญากรรมที่เป็นการรุกราน

นอกจากนั้น ศ.พิเศษ กุลพล ยังอธิบาย บทบัญญัติข้อ 15 (1) ที่ห้ามการลงโทษทางอาญาย้อนหลัง ซึ่งเป็นบทบัญญัติข้อห้ามทั่วไปที่ปรากฏในกฎหมายและรัฐธรรมนูญของประเทศต่าง ๆ แต่อาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรรม 4 ประเภทที่ระบุในธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศ ถือเป็นอาชญากรรมที่มีความร้ายแรงเป็นพิเศษเกินกว่าที่จะใช้หลักการห้ามลงโทษทางอาญาย้อนหลัง ซึ่งใช้กับความผิดอาญาทั่ว ๆ ไป

สอดคล้องกับ กฤษฎางค์ ที่กล่าวว่าการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดนั้น แม้เวลาจะผ่านมานานเพียงใด ก็ถือว่า “ไม่มีอายุความ” และแม้จะต้องลงโทษทางอาญาย้อนหลังกับบุคคลในอดีต ก็สามารถกระทำได้ จึงถือเป็นหมุดหมายเริ่มต้นกระบวนการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษของเหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย และไม่ให้คนรุ่นใหม่ต้องมาเผชิญเรื่องนี้ในอนาคต

The Active สอบถามเพิ่มเติมไปยังกฤษฎางค์ ถึงกระบวนการต่อจากนี้ พบว่าทีมกฎหมายได้รับการสนับสนุนข้อมูลจาก พิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา 2519 ถือเป็นข้อเท็จจริงสำคัญ ที่สามารถอธิบายได้ว่า ใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร มีทั้งรูปภาพ และพฤติการณ์ที่สามารถชี้ชัดการกระทำความผิดนั้นได้ มีแม้กระทั่งเพื่อนของเราชื่ออะไร เสียชีวิต ณ จุดไหน ด้วยวิธีการอะไร กฤษฎางค์ กล่าวว่ามีข้อมูลนั้นทั้งหมด

“แม้เป็นเรื่องที่ยากลำบาก แต่ผมเห็นว่าวีรชน 6 ตุลา และวีรชนในทุก ๆ เหตุการณ์ที่ต่อสู้ทางการเมืองและประชาธิปไตย พวกเขาทำสิ่งที่ยากกว่าที่พวกเราทำ”

กฤษฎางค์ ปิดท้ายว่า วีรชน 6 ตุลา ที่เสียสละชีวิต ร่างกายและเสรีภาพของเขา ยังไม่ได้รับการขอโทษ จากผู้ที่บงการ ไม่ได้รับการชดใช้จากผู้กระทำผิดอย่างโหดเหี้ยม การสังหารหมู่ ที่นี่เมื่อ 45 ปีก่อน เป็นเรื่องที่มนุษยชาติสามารถตัดสินได้ ว่าเป็นอาชญากรรมที่ต้องลงโทษ แม้จะไม่สำเร็จในเร็ววันนี้ แต่ถือว่าครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการชำระสะสางเพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับผู้เสียสละทุกคน

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้