คนจนเมือง จี้รัฐแก้ปัญหาไล่รื้อชุมชน สร้างความมั่นคงที่อยู่อาศัย

4 ต.ค. “วันที่อยู่อาศัยโลก” สลัม 4 ภาค นำทีมเครือข่ายภาคประชาชน ตัวแทนชาวบ้านหลายชุมชน บุกกระทรวงคมนาคม ทวงถามความคืบหน้าแก้ปัญหาชุมชนริมทางรถไฟ ได้ข้อสรุปชะลอการดำเนินคดีชุมชนริมทางรถไฟ 5 ชุมชน พร้อมทั้งนำร่องจัดพื้นที่รองรับ 2 ชุมชน ร่วมแถลงข้อเรียกร้องถึงรัฐบาล 4 ข้อเสนอ เร่งแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนเมือง กลุ่มผู้เช่าห้อง รวมถึงคนไร้บ้าน

วันนี้ ( 4 ต.ค.64 ) ที่หน้ากระทรวงคมนาคม ตัวแทนชาวบ้านหลายชุมชน โดยเฉพาะชุมชนริมทางรถไฟ จากเครือข่ายสลัม 4 ภาค มารวมตัวกันจัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก  เพื่อสะท้อนว่า พวกเขาต่างได้รับผลกระทบด้านที่อยู่อาศัย จากโครงการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งในระบบราง และ การพัฒนาเศรษฐกิจบนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย  ที่ต้องถูกรื้อย้าย รวม 397 ชุมชน 39,848 หลังคาเรือน ครอบคลุม 36 จังหวัด จากทั้งหมด 15 กรณี  

ประกอบด้วย  1. กรณีชุมชนที่ได้รับผลกระทบการก่อสร้างรถไฟเชื่อสามสนามบิน ,  2. กรณีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาที่ดินย่านบางซื่อ และ กม. 11 (พหลโยธิน) ,  3. กรณีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างแก้มลิงบึงมักกะสัน ,  4. กรณีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟสายสีแดง ช่วง ตลิ่งชัน- ศิริราช , 5. กรณีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ช่วง กทม. – โคราช , 6. กรณีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ช่วง โคราช – หนองคาย , 7. กรณีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วง หาดใหญ่ – สงขลา , 8. กรณีชุมชนที่ขอเช่าที่ดินย่านห้วยขวางชุมชนโรงปูนตะวันออก เขตห้วยขวาง กทม. , 9. กรณีชุมชนที่ขอเช่าที่ดิน ชุมชนหนองยวน ๒ จังหวัดตรัง , 10. กรณีชุมชนที่ขอเช่าที่ดิน ชุมชนบ่อสีเสียด จังหวัดตรัง , 11. กรณีชุมชนที่ถูกการรถไฟฯดำเนินคดี ในจังหวัดตรัง, 12. กรณีชุมชนพุทธมณฑลสาย ๒ เขตทวีวัฒนา กทม. ไม่สามารถพัฒนาที่ดินเช่าของ รฟท. ได้ , 13. กรณีชุมชนตลาดบ่อบัว จ.ฉะเชิงเทรา ไม่สามารถพัฒนาที่ดินเช่าของ รฟท. ได้ , 14. กรณีชุมชนรถไฟสามัคคีจ.เชียงใหม่ ไม่สามารถพัฒนาที่ดินเช่าของ รฟท. ได้ และ15. กรณีลดอัตราค่าเช่าชุมชนพระราม 6 กทม. ให้เป็นไปตามมติบอร์ดการรถไฟฯเมื่อปี 2543 

สมบูรณ์ พิมพ์สำฤทธิ์ ชาวชุมชนโรงเจ มักกะสัน เขตราชเทวี  กทม.

สมบูรณ์ พิมพ์สำฤทธิ์ ชาวชุมชนโรงเจ มักกะสัน เขตราชเทวี  กทม. วัย 75 ปี บอกถึงเหตุผลที่มามาปักหลักเรียกร้องในครั้งนี้ เนื่องจากชุมชนที่เขาอาศัยมานานกว่า 30 ปี คือชุมชนโรงเจมักกะสัน เป็นอีกชุมชนที่ได้รับผลกระทบโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งจะต้องถูกรื้อย้าย และแม้รัฐจะจัดที่ดินใหม่ให้  แต่ห่างไกลที่ประกอบอาชีพ ค้าขายของลูกหลาน จึงกระทบต่อการใช้ชีวิตในหลายด้าน 

“ชุมชนนี้ตั้งมา 50 กว่าปี อยู่ดี ๆ มาบอกให้เราย้ายออก ถ้าจัดที่ใหม่ใกล้ๆที่เดิมชาวบ้านเขาก็ยินดี แต่ที่ที่รัฐจัดให้อยู่นอกเมือง ไกลที่ทำกิน ลูกหลานเขาขายของ ทำงานอยู่แถวนี้ ถ้าย้ายไปอยู่ไกลๆจะทำอาชีพยังไง แถมค่าใช้จ่ายค่าเดินทาง มันกระทบหลายด้าน ”

นี่จึงเป็นปัญหาเร่งด่วน ที่เครือข่ายสลัม 4 ภาค เรียกร้องให้กระทรวงคมนาคม มีนโยบายที่ชัดเจนต่อการแก้ไขปัญหาชุมชนริมทางรถไฟ โดย วิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นตัวแทนรับฟังปัญหา และข้อเสนอ  พร้อมทั้งเปิดโต๊ะเจรจาหารือเพื่อหาทางออกและข้อสรุปร่วมกัน

หลังใช้เวลานานเกือบ 2 ชั่วโมง สมศักดิ์ บุญมาเลิศ ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค เปิดเผยว่า ผลการประชุมแก้ไขปัญหาชุมขนในที่ดินของการรถไฟฯ เครือข่ายชุมชนเมืองที่ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) ของตัวแทนเครือข่ายสลัมสี่ภาค  กระทรวงคมนาคม และ การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ข้อยุตติเป็นนโยบาย 5 ข้อ 

คือ 1.กรณีที่ดินแปลงซอยหมอเหล็ง พื้นที่แปลง 1 , 2 และ 3 รวม 7 ไร่ การรถไฟแห่งประเทศไทย จะใช้เป็นที่ดินเพื่อแก้ไขปัญหาชุมชนซอยหมอเหล็ง และ ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า 3 สนามบินประกอบด้วย ชุมชนบุญร่มไทร ,ชุมชนแดงบุหงา ,ชุมชนหลังกรมทางหลวง , ชุมชนหลังโรงพยาบาลเดชา  และชุมชนอาร์ซีเอ

ส่วนรูปแบบที่อาศัยเป็นรูปแบบอาคารสูง ขนาดพื้นที่ห้อง 30-40 ตารางเมตร ส่วนจะสูงกี่ชั้นให้คำนึงถึง ความเพียงพอในการใช้ที่ดินเพื่อรองรับชุมชน และความสามารถในการผ่อนชำระรายเดือนและค่าใช้จ่ายส่วนกลางรายเดือน และให้มีพื้นที่ส่วนกลางสำหรับเป็นพื้นที่ใช้สอย เช่น ร้านค้าชุมชน   ส่วนพื้นที่แปลงที่ 4 จำนวน 8 ไร่การรถไฟฯจะร่วมกับชุมชน ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาปรับผังชุมชน เพื่อเช่าเป็นที่อยู่อาศัยในระยะต่อไป

2. กรณีชุมชนในย่านกม.11 และ บางซื่อ ประกอบด้วย ชุมชนพัฒนากม. 11 ,ชุมชนริมคลอง กม. 11  และ ชุมชนบางซื่อ เบื้องต้นการรถไฟฯ จะจัดที่ดินรองรับ 5 ไร่ ในบริเวณ กม. 11 และบางซื่อ ส่วนรูปแบบที่อาศัยเป็นรูปแบบอาคารสูงเช่นเดียวกัน 

3. กรณีชุมชนในย่านมักกะสัน ชุมชนริมทางรถไฟมักะสัน ชุมชนนิคมมักกะสัน ชุมชนหลังวัดมักกะสัน ชุมชนโรงเจมักกะสันนั้น  ทางภาครัฐขอกลับไปหารือกับกับอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม เพื่อหาที่ดินรองรับแปลงบีได้หรือไม่ 

4. กรณีชุมชนอาร์ซีเอ และ ชุมชนกม. 11 และชุมชนบุญร่มไทร  ชุมชนแดงบุหงา และชุมชนหลังกรมทางหลวง ที่ถูกหมายศาล และอยู่ระหว่างดำเนินการขอเช่า  ขอให้ชุมชนเสนอรายชื่อชุมชนที่ถูกหมายศาล และมีความประสงค์ที่จะเข้าโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย และการรถไฟฯ จะไปแถลงต่อศาลว่าเข้าโครงการ และขอชะลอการดำเนินคดี

5. การขอลดอัตราค่าเช่าชุมชนพระราม 6  ทางการรถไฟฯ จะนำเรื่องเข้าการพิจารณาของบอร์ดภายในเดือนธันวาคมนี้

สมศักดิ์ บุญมาเลิศ ประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค

สมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า มติดังกล่าวถือว่ามีความก้าวหน้าต่อการแก้ไขปัญหา แต่ส่วนตัวมองว่ายังไม่เป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะเรื่องของการจัดที่ดินรองรับ และรูปแบบของที่อยู่อาศัย 

“ คือต้องดูกันอีกว่า พื้นที่รัฐจัดให้จะเพียงพอต่อจำนวนชาวบ้านจริงหรือไม่ และการวางรูปแบบก่อสร้างที่พักอาศัยเป็นตึก แบบอพาร์ตเมนต์คอนโด จะเป็นปัญหาต่อการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพของชาวชุมชนหรือไม่ เพราะหลายคนมีอาชีพค้าขาย ต้องมีร้านค้า ที่เก็บของออกไปขายของ และชาวชุมชนมีผู้สูงอายุจำนวนมาก เป็นโจทย์ต่อไปว่าจะต้องวางรูปแบบที่เหมาะสมเพื่อรองรับอย่างไร ”

เปิดผลสำรวจ คนทิ้งห้องเช่า สู่ชีวิต “คนไร้บ้านหน้าใหม่”

นอกจากปัญหาชุมชนริมทางรถไฟที่เป็นข้อเรียกร้องเร่งด่วน  สถานการณ์โควิดที่กินเวลายาวนานกว่า 2 ปี ซ้ำเติมคนจนเมือง คนตกงาน ขาดรายได้ ส่งผลให้หลายคนหลุดจากบ้านเช่า มาเป็นคนไร้บ้าน ซึ่งจากการสำรวจของเครือข่ายคนไร้บ้าน และเครือข่ายสลัมสี่ภาค ในกลุ่มตัวอย่าง 216 คน พบว่ากว่าร้อยละ 60 มีปัญหาในการจ่ายค่าห้องเช่า เพราะรายได้ลดลง ขณะที่อีกร้อยละ 15 ต้องจำยอมทิ้งบ้านเช่า มาใช้ชีวิตในที่สาธารณะเป็นคนไร้บ้าน  นี่จึงเป็นอีกปัญหาสำคัญที่ นำไปสู่การแถลง 4 ข้อเสนอ ยื่นต่อรัฐบาล ที่คลอบคุมการแก้ปัญหาประชาชนทุกกลุ่ม คือ 

1. ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการโครงการก่อสร้างทางรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน , โครงการพัฒนาที่ดินย่านมักกะสัน , กม.11 และย่านบางซื่อ และโครงการก่อสร้างแก้มลิงบึงมักกะสัน ที่เครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้มีกระบวนการในการทำงานแก้ปัญหาร่วมกับกระทรวงคมนาคม จนได้แนวนโยบายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมอบหมายไว้  นายกรัฐมนตรีต้องประสานงานไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้เร่งรัดดำเนินการ ตามมติคณะอนุกรรมการฯกระทรวงคมนาคมโดยเร็ว

2. รัฐบาลต้องมีนโยบายให้หน่วยงานที่ดูแลที่ดินของรัฐประเภทต่าง ๆ   แบ่งปันที่ดิน เพื่อจัดเป็นที่อยู่อาศัยให้กับคนจนที่ไร้ที่อยู่อาศัย

3. กรณีผู้ที่ต้องออกจากห้องเช่า จากผลกระทบของภาวะวิกฤตโควิด ต้องจัดหาที่อยู่อาศัยรองรับชั่วคราวระยะสั้น 3-6 เดือน ในเมือง ใกล้แหล่งประกอบอาชีพ โดยลดเงื่อนไขข้อจำกัดในการเข้าพัก เพื่อให้สอดคล้องกับความเดือดร้อน และวิถีชีวิตในการประกอบอาชีพ

4. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับชาติ และระดับท้องถิ่น ต้องพัฒนานโยบายการจัดที่พักอาศัยสำหรับเช่าราคาถูกในเมือง ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มคนจนเมือง ที่เป็นแรงงานผู้เกื้อหนุนหล่อเลี้ยงคนเมือง ให้มีโอกาสเข้าถึงสวัสดิการด้านที่อยู่อาศัยราคาถูกจากรัฐ

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ