เจ้าของร้านอาหารโอด! แบกต้นทุน 25% จากมาตรการ Covid Free Setting

เรียกร้องรัฐบาลช่วยเหลือผู้ประกอบการอุดหนุนค่าชุดตรวจ ATK ขณะที่ภาพรวมผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม มีเพียง 29.59%

เข้าสู่วันที่ 2 (2 ต.ค. 2564) ที่ประชาชนใน 29 จังหวัดสีแดงเข้มรวมถึงกรุงเทพมหานครจะได้กลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงกับภาวะปกติมากขึ้น หลัง ศบค. เลื่อนเวลาเคอร์ฟิวจาก 3 ทุ่มเป็น 4 ทุ่ม ถึง ตี 4 ขณะเดียวกันก็ผ่อนปรนให้เปิดกิจการ กิจกรรมต่างๆ ได้แต่ต้องอยู่ภายใต้มาตรการ COVID-Free Setting 

สรเทพ โรจน์พจนารัช เจ้าของร้านอาหารในเครือ สตีฟ คาเฟ่ แอนด์ ครุยซีน ในฐานะประธานชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร เล่าถึงมาตรการควบคุมโรคของร้านว่า จะมีการวัดอุณหภูมิผู้ใช้บริการก่อนเข้าร้าน และที่สำคัญผู้ใช้บริการต้องแสดงเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มจากแอปพลิเคชันหมอพร้อม รวมทั้งแสกนเช็คอินผ่านแอปพลิเคชันไทยชนะ

นอกจากนี้ยังต้องรักษาระยะห่างระหว่างพนักงานเสิร์ฟและผู้มาใช้บริการโดยอาจต้องบริการตนเองมากขึ้น ขณะเดียวกันมีการทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อตามจุดสัมผัสต่างๆ ทุกๆ 1-2 ชั่วโมง ขณะที่พนักงานในร้านได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่ยังต้องตรวจเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK ทุกสัปดาห์เพื่อความปลอดภัยของทั้งพนักงานและผู้เข้าใช้บริการ 

สรเทพ บอกอีกว่า มาตรการโควิดฟรีมาพร้อมกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 25% โดยเฉพาะชุดตรวจ ATK ที่ต้องจัดหาให้พนักงานมีราคา 180 บาทต่อชุด ขณะที่มีพนักงาน 60 คน ต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนนี้ถึงกว่า 14,000 บาท ต่อสัปดาห์ ยังไม่นับรวมน้ำยาฆ่าเชื้อ และแอลกอฮอล์ที่ต้องใช้ถึง 10 ลิตร ต่อสัปดาห์ ขณะที่ยอดขายยังกลับมาไม่ถึง 50% ขณะเดียวกันก็ยังไม่สามารถที่จะชดเชยด้วยการขึ้นค่าอาหารได้เพราะจะกระทบต่อผู้บริโภค ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว จึงเรียกร้องรัฐบาลให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการลดต้นทุนจากมาตรการโควิดฟรีเหล่านี้ด้วย 

สำหรับร้านอาหารสตีฟ คาเฟ่ แอนด์ ครุยซีน เป็นร้านอาหารแรกๆที่ออกมาเรียกร้อง ให้รัฐบาลเยียวยาหลังจากที่ต้องปิดร้านไปถึง 4 ครั้งในช่วงที่โควิด 19 ระบาดมาเกือบ 2 ปี จากมาตรการควบคุมโรค ทำให้ตอนนี้มีหนี้สินรวมกว่า 20 ล้านบาท 

แม้จะกลับมาเปิดร้านได้ตามมาตรการคลายล็อก บนแนวทาง COVID-Free Setting และสามารถให้วงดนตรีสดกลับมาแสดงในร้านได้ แต่รัฐก็ยังไม่ให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรายได้ถึง 30% ที่ต้องหายไป นายสรเทพบอกว่า ยังคงต้องประคับประคองกิจการไปก่อนและยังหวังว่าสถานการณ์ระบาดจะดีขึ้น เพื่อให้รัฐปลดล็อกเพิ่ม 

สำหรับมาตรการ Covid Free Setting ถูกพูดถึงในวงกว้างในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ก่อนที่ ศบค. จะผ่อนคลายมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 กันยายน ได้ให้บางกิจการ กิจกรรม กลับมาเปิดให้บริการได้ โดยกรมอนามัยเป็นผู้ออกแนวทาง ประกอบด้วย 3 มาตรการสำคัญ

  1. ด้านสิ่งแวดล้อมปลอดภัย ต้องทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมทุก 1-2 ชั่วโมง ใช้ระบบกรองอากาศ รวมทั้งห้ามรวมตัวกันจุดใดจุดหนึ่ง
  2. ด้านพนักงานปลอดภัย ทุกคนฉีดวัคซีนครบโดส หรือเคยมีประวัติการติดเชื้อโควิดมาก่อนอยู่ในช่วง 1-3 เดือน และให้คัดกรองความเสี่ยงพนักงานทุกวันด้วยระบบไทยเซฟไทย รวมถึงจัดหา ATK ให้พนักงานตรวจทุกๆ 7 วัน
  3. ด้านผู้ใช้บริการปลอดภัย ให้คัดกรองความเสี่ยงก่อนเข้าร้านด้วยแพลตฟอร์ม ไทยเซฟไทย หรือแอปพลิเคชันอื่นที่ทางราชการกำหนด

โดยร้านอาหาร ร้านเสริมสวย ร้านตัดผม คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม เหล่านี้ ศบค. จัดว่าเป็นกิจการเสี่ยง ต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนครบโดส หรือประวัติการติดเชื้อมาก่อนในช่วง 1-3 เดือน หรือตรวจ ATK ผลเป็นลบ ระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน และผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามมาตรการหรือข้อกำหนดของจังหวัด

อย่างไรก็ตาม ในเดือนตุลาคม รัฐบาลตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรทั้งหมดอย่างน้อย 50% ทุกจังหวัด และมีอย่างน้อย 1 อำเภอ ที่ครอบคลุมประชากร 70% ในเดือนพฤศจิกายน ตั้งเป้ามีผู้รับวัคซีนเข็ม 1 อย่างน้อย 70% และในเดือนธันวาคม ตั้งเป้ามีผู้ได้รับวัคซีนเข็ม 1 อย่างน้อย 80% และได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม 70%

เมื่อดูที่ภาพรวมความคืบหน้าการฉีดวัคซีนล่าสุดเย็นวันที่ 30 ก.ย.2564 ฉีดวัคซีนสะสมแล้ว 53,796,088 โดส ทุกจังหวัดคิดเป็น 48.51% ขณะที่ผู้ที่ฉีดครบ 2 เข็มแล้วมีสัดส่วน 29.59% ส่วนผู้ที่ฉีดเข็ม 3 มีสัดส่วน 1.97%

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS