วอน ก.คมนาคม ลดเสี่ยง ทบทวนเพิ่มความเร็วทางหลวง

ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุฯ ชี้ 77% ของอุบัติเหตุเกิดจากขับขี่เร็ว แนะเพิ่มมาตรการความปลอดภัย-แก้ไขจุดเสี่ยง-ติดกล้องตรวจจับความเร็ว

ที่มา : ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.)

เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า ปัญหาการดื่มแล้วขับ การขับขี่รถด้วยความเร็ว เป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดอุบัติเหตุ จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนทางหลวง ปี 2563 สำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวงพบว่า 77% ของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น เกิดจากการใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งระดับความเร็ว 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็นความเร็วที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุระดับรุนแรงอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในถนนไม่มีมาตรฐานความปลอดภัย เช่น ถนนที่ตัดผ่านชุมชนที่มีประชาชนสัญจรเป็นจำนวนมาก

จากกรณีที่กระทรวงคมนาคมได้ออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงชนบท โดยอนุญาตให้เพิ่มความเร็วจาก 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพิ่มเป็น 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งได้ประกาศใช้แล้ว 7 เส้นทาง และเตรียมประกาศใช้เพิ่มอีก 8 เส้นทางในเดือนมีนาคม ปี 2565 เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนสามารถเดินทางบนทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงชนบทได้สะดวก รวดเร็วนั้น

ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน จึงขอให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทบทวนการเพิ่มความเร็ว โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนที่ใช้รถ ใช้ถนน เป็นหลัก และพิจารณาผลการใช้ความเร็วอย่างรอบด้าน ศึกษาผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัย 

         

ที่สำคัญกระทรวงคมนาคม ควรเร่งตรวจสอบความปลอดภัยและแก้ไขจุดเสี่ยงถนน 7 สาย ที่ได้การประกาศให้ใช้ความเร็ว 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไปแล้ว เช่น จัดการติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยเครื่องหมายจราจรบนผิวถนน ติดตั้งป้ายจราจรให้ครบทุกจุด ก่อสร้างกำแพงคอนกรีต ทำไหล่ทางสำหรับกรณีฉุกเฉิน ปิดจุดกลับรถ-ทางเชื่อม ตรวจสอบไหล่ทาง หรือปิดจุดเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ และติดตั้งระบบขนส่งอัจฉริยะ (Intelligent Transportation System) ตลอดจนการมีมาตรการตรวจสอบความปลอดภัยของถนน (Road Safety Audit : RSA ) ในการควบคุมการใช้ความเร็วของผู้ใช้รถใช้ถนน รวมถึงทบทวนมาตรการการบังคับใช้กฎหมายการฝ่าฝืนความเร็วในจุดที่ไม่ได้รับอนุญาต

ที่มา : ไทยพีบีเอส

รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมต้องมีความชัดเจนในการประกาศปรับใช้ความเร็ว และแนวทางการปฏิบัติในการขับขี่ในเส้นทางที่เพิ่มความเร็วรถ เพราะมีประชาชนจำนวนมากที่ยังไม่มีเข้าใจถึงการประกาศปรับอัตราความเร็วดังกล่าว อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุมากกว่าการป้องกันอุบัติเหตุได้ นอกจากนี้การบังคับใช้กฎหมายหลังจากการปรับอัตราความเร็วเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กัน เช่น การติดป้ายจราจร หรือการติดตั้งกล้องจับความเร็วรถ ที่ยังไม่เพียงพอต่อการควบคุมความเร็วที่อาจเกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง 

จุดที่น่าเป็นห่วงคือ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นอาจมีระดับความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเกิดจากความเร็วในการขับขี่ที่เพิ่มขึ้น ทั้งการเสียหลักพุ่งชน หลุดออกนอกเส้นทางจากความเร็ว ถนนที่ใช้จึงต้องมีความพร้อมในการป้องกันอุบัติเหตุ และมีการตรวจจับ รวมถึงมาตรการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ โดยศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย จะมีการประเมินผลความปลอดภัยและอัตราการเกิดอุบัติเหตุในถนนที่มีการประกาศเพิ่ม

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้