ทะลุกรอบการศึกษาไทย! ‘ผู้บริหาร สาธิต มธ.’ เผยไอเดีย “ห้องเรียนข้ามขอบ”

‘ผู้บริหาร สาธิต มธ.’ เผย เตรียมเปิดให้นักเรียนนอกระบบ เลือกเรียนวิชาที่สนใจ และออกแบบระบบรับรองความรู้ ‘ตัวแทนครู’ เสนอจัดการเรียนเสริมสมรรถนะ ตามความถนัดของเด็ก ทำความรู้จัก ‘น้องเอิร์ธ’ ผู้เลือกจัดการเรียนรู้ด้วยตนเอง กับการตัดสินใจที่ไม่คิดเสียใจ

ทันทีที่นายกรัฐมนตรี สั่งตรวจสอบการจัดหลักสูตรการศึกษา ของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สังคมก็เกิดตั้งคำถามถึงการ ‘ตีกรอบ’ ของผู้วางนโยบายด้านการศึกษา ที่คอยกำหนดว่าสิ่งใดเหมาะสม หรือไม่เหมาะสม สะท้อนอิสระในการเลือกเรียนของเด็กไทย ที่ระบบอาจไม่เอื้อต่อการศึกษาในสิ่งที่ชอบและสนใจ

The Active ชวนทลายกรอบการศึกษาไทย ผ่านผู้บริหาร ครู และนักเรียนในปัจจุบัน

คำถาม นายกฯ ช่วย ‘สาธิต มธ.’ สื่อสารความคาดหวังต่อสังคม

ผศ.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแล ‘โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ กล่าวถึง ประเด็นที่นายกรัฐมนตรีตั้งคำถามถึงการจัดทำหลักสูตรของโรงเรียนว่า เป็นเรื่องที่ดี ที่ทำให้โรงเรียนได้สื่อสารกับสังคม ตามความตั้งใจ ที่อยากสร้างความรู้ด้านการจัดการศึกษา การได้รับความสนใจในครั้งนี้ จะทำให้ได้ขยายแนวคิดเบื้องหลัง นั่นคือ การสร้างความเป็นไปได้ทางการศึกษาใหม่ ๆ และการสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดขึ้นกับนักเรียน

สาธิต มธ.

“โลกในอนาคต เราไม่มีทางทราบว่าเด็กจะทำอาชีพอะไร หรือสร้างอาชีพใหม่อะไรขึ้นมาบ้าง เขาต้องการความสร้างสรรค์ หัวคิดศิลปะ การจัดการเทคโนโลยี หรือวิทยาศาสตร์ ที่ต้องผสมผสานเข้าด้วยกัน แต่ระบบการศึกษาบ้านเราแยกขาดจากกัน ทำให้เด็กเชี่ยวชาญอย่างเดียว ขาดมิติเติมเต็มในการใช้ชีวิตในอนาคต”

สำหรับโรงเรียนสาธิต มธ. ต้องการให้นักเรียนทุกคน ได้มีโอกาสเลือกเรียนในทุกวิชาที่เขาสนใจ ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น นักเรียนจะมีโอกาสได้เรียนทุกวิชา และในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จะมีโอกาสเลือกเรียนตามความสนใจของตัวเอง เป็นการสร้างความเป็นไปได้ให้เกิดขึ้น คือ หากนักเรียนคนหนึ่งสนใจศิลปะ และธรรมชาติ ก็สามารถเลือกเรียนได้ทั้งสองอย่าง หรือบางคนสนใจทั้งสายวิทย์ และสายศิลป์ เขาต้องได้เรียนทั้งสองกลุ่มวิชานี้ เพื่อก่อเกิดการทดลอง และค้นหาความถนัดของตนเอง

‘น้องเอิร์ธ’ นักเรียนผู้เลือกจัดการศึกษาด้วยตนเอง

“ระบบที่เราเรียนอยู่ในช่วงมัธยม ไม่เหมาะสมกับเราเท่าที่ควร เพราะระบบพยายามชูเรื่องวิชาการ แต่เราไม่ถนัดทางด้านวิชาการมากนัก เราถนัดด้านการออกแบบ และศิลปะ จึงทำให้ศักยภาพของเราดูน้อยลงไปในระบบนั้น”     

เป็นเสียงสะท้อนของ กฤตเมธ สายแสน หรือ ‘เอิร์ธ’ ผู้เลือกจัดการศึกษาตามความสนใจ หลังจากจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา จากโรงเรียนห้วยเม็กวิทยาคม จ.กาฬสินธุ์ ที่พบว่าหลังจากตนเรียนจบ มีบางอย่างขาดหายไประหว่างเรียน จึงตั้งคำถามว่าระบบการศึกษาที่ดี และเหมาะสมกับตนเองคืออะไร ที่แม้เรียนจบออกมา ยังไม่สามารถตอบคำถามตัวเองได้ ว่าในอนาคตจะต้องจะไปเรียนมหาวิทยาลัยใด ที่จะชูศักยภาพตนได้มากที่สุด จึงมาลงตัวที่ต้องการเรียนรู้ด้วยตนเอง จึงกำหนดหลักสูตรเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง คือ เป็นมหาวิทยาลัยของตนเอง ผ่านการเรียน 3 วิชาหลัก ได้แก่

  1. วิชาสถาปัตยกร เพราะตนเป็นคนชอบออกแบบบ้าน อยากเป็นสถาปนิก แต่ไม่ได้อยากทำงานในบริษัทใหญ่โต หรือต้องการจะเป็นผู้รับเหมาเท่านั้น มีความคิดเพียงว่า ต้องการสร้างงานให้กับตัวเอง คนรอบข้าง และคนในชุมชน
  2. วิชาการเกษตร เนื่องจากเกิดและโตที่กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรม แต่อาหารที่กินกลับมีสารเคมีมาก การทำนาก็ยังคงใช้ยากำจัดศัตรูพืช จึงรู้สึกไม่ปลอดภัย เลยอยากสร้างอาหารเองที่ปลอดภัย ไม่ใช้สารเคมี
  3. วิชาพฤกษาศิลป์ เป็นการคิดหลักสูตรตามความชอบของตนเอง คือ เรียนศิลปะ ธรรมชาติ เพราะมองว่าการเรียนด้านศิลปะในระบบมหาวิทยาลัยกว้างเกินไปสำหรับตน แต่ตนชอบศึกษาศิลปะที่เกี่ยวกับธรรมชาติ จึงมองว่าควรเลือกศึกษาในหัวข้อที่สนใจดีกว่า ทั้งการเก็บภาพต้นไม้ ธรรมชาติ มาทำเป็นหนังสือสะสมความรู้ของตนเอง
การศึกษา

เมื่อถามถึงแหล่งที่มาของความรู้เหล่านี้ ว่ามาจากไหน เอิร์ธ กล่าวว่า ความรู้ได้มาจาก 3 ช่องทางหลัก คือ การเรียนรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ หากมีเรื่องใดที่ไม่สามารถค้นหาในอินเทอร์เน็ตได้ ก็จะเข้าไปหาอาจารย์โดยตรง ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านนั้นในชุมชน อย่าง ปราชญ์ชาวบ้าน นอกจากนั้นยังมีคนรอบข้าง ที่ใกล้ชิดกับเราคอยแนะนำ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การหาความรู้จากตนเอง นำความรู้ที่ได้มาถอดบทเรียนกับตัวเองให้มากที่สุด

‘ครูตู้’ พลิกวิกฤตโควิด เป็นโอกาสสร้างการเรียนรู้ตามความสนใจ

สราวุฒิ พลตื้อ หรือ ‘ครูตู้’ ครูโรงเรียนหัวหินวัฒนาลัย สังกัด สพม.กาฬสินธุ์ ผู้ใช้รายวิชาเรียนเพิ่มเติม เป็นพื้นที่จัดการเรียนรู้ตามความสนใจของนักเรียนแต่ละคน โดยเกิดจากการรับฟังเสียงนักเรียน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ ออกแบบรายวิชาเพิ่มเติม โดยได้ไอเดียมาจากการเรียนในช่วงโควิด-19 ที่นักเรียนพบอุปสรรคจากการเข้าเรียนออนไลน์ เพราะติดภารกิจที่บ้าน ต้อง รับจ้างทำงาน แต่นักเรียนเหล่านั้นมีทักษะชีวิตติดตัวกันอยู่แล้ว

โรงเรียนจึงมองว่าหากจะเรียนออนไลน์แบบเดิมต่อไป จะเป็นการเพิ่มภาระให้กับนักเรียน เลยมีการเสนอว่าในช่วงบ่ายให้ประเมินความรู้ตามทักษะของนักเรียนแต่ละคน โดยในปีที่ผ่านมา เริ่มต้นออกแบบ 5 วิชาแรก ในลักษณะของห้องเรียนกิจกรรม เช่น กีฬาสร้างสุข อาสาสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อม และนักเรียนสามารถเลือกเข้าเรียนได้ตามความสนใจ

โรงเรียนนำเอาทักษะชีวิตมาบูรณาการเป็นบทเรียน และค้นหาสิ่งที่นักเรียนทำอยู่ในชีวิตประจำวัน มาเป็นผลของการเรียนวิชานั้น เช่น ทักษะการปลูกต้นไม้ มีสาขาชีววิทยาในนั้นหรือไม่ มีความคิดด้านศิลปะในนั้นหรือไม่ หรือต้องใช้ทักษะวิธีการคำนวณหรือไม่ แล้วให้ครูคอยดูแล ให้คำแนะนำ จึงเป็นความเป็นไปได้ใหม่ในการจัดตารางเรียน ตามทักษะชีวิตของแต่ละคน

ครูตู้ สะท้อนว่า รูปแบบการเรียนแบบนี้ ประสบความสำเร็จอย่างมาก ในระดับ ม.ปลาย ที่นักเรียนสามารถจัดการตนเอง ผ่านระบบที่โรงเรียนออกแบบเอาไว้ได้ ในขณะที่ ม.ต้น อาจมีอุปสรรคอยู่บ้าง แต่ผลสำเร็จที่สำคัญ คือ การที่โรงเรียนและผู้บริหารกล้าทำ และรับฟังเสียงของเด็ก และเรายังมีเครือข่ายเข้ามาช่วยออกแบบหลักสูตรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย ปัจจุบันได้จัดรายวิชาเพิ่มเติมเป็น 2 หน่วยกิต คือ เรียน 4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ติดต่อกัน ให้เกิดการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง

เลือกได้แค่ ‘วิทย์ – ศิลป์’ ระบบที่กักขังตัวตนนักเรียน

ผศ.อดิศร กล่าวชื่นชม ความกล้าหาญของน้องเอิร์ธ ที่ตัดสินใจเลือกออกจากระบบการศึกษา แล้วจัดการเรียนรู้ด้วยตนเอง เพราะต้องยอมรับว่าการเรียนในระบบปัจจุบัน เป็นสิ่งที่สังคมมองว่าเป็นหลักประกันของโอกาสในชีวิต เป็นระบบที่กักขังคนเอาไว้ในนั้น โดยไม่มีทางเลือก คนส่วนใหญ่ต้องยอมอยู่ในระบบนั้น เพราะคิดว่านั่นคือ อนาคตที่ดีสำหรับตัวเขา จึงทำให้เด็กหลายคนต้องทนอยู่กับสิ่งที่ไม่ได้มองว่ามีประโยชน์ แต่การกล้าลุกขึ้นมายืนยันสิ่งที่เชื่อมั่น เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมมาก

ปัญหาสำคัญ ของการกำหนดเส้นทางอนาคตของนักเรียน คือการเรียนในระบบนั้น เราต้องแยกเรียนสายวิทย์ หรือสายศิลป์ เป็นการขีดเส้นทางชีวิตให้กับนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้น ม.ปลาย ทั้งที่เป็นวัยที่ควรค้นหาความสนใจของตนเอง แต่เราพบว่าส่วนใหญ่กลับตัดสินใจด้วยความกังวล ว่าถ้าเลือกสายศิลป์ จะมีทางเลือกน้อยกว่าสายวิทย์ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย รวมถึงความกดดันที่เผชิญจากผู้ปกครอง

การตัดสินใจที่ไม่คิดเสียใจ หวังระบบรับรองความเชี่ยวชาญ

เอิร์ธ เล่าว่า การตัดสินใจในช่วงแรกค่อนข้างยากลำบาก ผลกระทบในช่วงนั้นมีมากพอสมควร เพราะเกิดความรู้สึกว่าถ้าเราก้าวออกมาจากระบบแล้วจะไปรอดหรือไม่ เกิดความลังเล และถามใจตัวเองว่าจะทำอย่างไรต่อไป สุดท้าย ผลออกมาว่าทำตามความสนใจของตนเองดีกว่า แม้จะเกือบล้มเลิกความคิดไปแล้ว แต่ตอนนี้เมื่อตนตัดสินใจออกมาคิดหลักสูตรเอง กลับตอบโจทย์ความต้องการของตนเอง มีความสุขในการเรียน และได้ความรู้อย่างเต็มที่ ดึงศักยภาพออกมาได้เต็มที่กว่าเก่า และสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ การได้อยู่กับครอบครัว จึงไม่เสียใจกับการตัดสินใจของตนเอง

เอิร์ธ สะท้อนว่า ตอนนี้ตนรู้ถึงความเชี่ยวชาญ และสิ่งที่ตนเองถนัดแล้ว ความต้องการที่อยากส่งไปถึงระดับนโยบาย คือ ต้องการสิ่งที่จะมารับรองความสามารถของตนเอง เพื่อเป็นหลักประกันที่บ่งชี้ว่าตนเชี่ยวชาญในด้านนั้นจริง ให้สามารถนำไปต่อยอดในอนาคต แต่ตอนนี้ยังมีข้อจำกัดอยู่

การศึกษา

“ครูจะต้องเฝ้ามองอยู่ห่าง ๆ และช่วยตั้งคำถามว่า คุณค่าในชีวิตของเขาคืออะไร มีความสุขกับสิ่งไหน และเปิดโอกาสให้เขาทำกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อให้นักเรียนแสดงศักยภาพที่ถนัดออกมาให้ได้”

ครูตู้ ในฐานะครูของน้องเอิร์ธ เล่าว่า ตนจะทำหน้าที่คอยดูแลอยู่ห่าง ๆ จนพบว่าช่วงที่ชวนเอิร์ธมาทำกิจกรรมด้วยกัน แม้จะคนที่เงียบในห้องเรียน แต่เมื่อได้มีโอกาสได้ทำกิจกรรมที่หลากหลายขึ้น ก็แสดงศักยภาพหลายอย่างออกมา จะทำให้เรารู้ว่านักเรียนชอบอะไร และครูต้องคอยตั้งคำถาม ว่าคุณค่าในชีวิตของนักเรียนคืออะไร มีความสุขกับสิ่งไหน พยายามเปิดโอกาสให้ทำกิจกรรมนอกห้องเรียน เพื่อสัมผัสประสบการณ์นอกเหนือจากในห้องเรียน จนเขาแสดงทักษะที่มีออกมา

โครงการ ‘ห้องเรียนข้ามขอบ’ เปิดพื้นที่นักเรียนนอกระบบ

ผศ.อดิศร เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงเรียนสาธิต มธ. อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการใหม่ที่ชื่อว่า ‘ห้องเรียนข้ามขอบ’ โดยเป็นโครงการที่สร้างกระบวนการเรียนรู้กับคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา และอาจจะค้นพบว่าตัวเองไม่เหมาะกับการเรียนในระบบ ช่วยให้เยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้น ม.ปลาย ได้มีโอกาสสร้างเส้นทางการเรียนรู้ของตัวเอง แล้วโรงเรียนให้การรับรองในการผ่านขั้นตอนความรู้แต่ละเรื่องบนฐานสมรรถนะของผู้เรียน

สำหรับรายละเอียดนั้น ตอนนี้อยู่ระหว่างการพัฒนา คือ นำสิ่งที่เรียนรู้ในพื้นที่ต่าง ๆ มาผ่านการประเมินสมรรถนะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ระบบการศึกษาในปัจจุบันยังไม่เอื้ออำนวยเท่าที่ควร และอยากเชิญชวนนักการศึกษามาช่วยกันสร้างโครงการนี้ ให้เด็กที่มีศักยภาพ แต่ไม่เหมาะสมกับระบบการศึกษาแบบเดิม ได้สร้างเส้นทางการเรียนรู้เอง และได้รับการับรองคุณวุฒิ เพื่อนำไปใช้ในการสอบ และสมัครงานต่อไปในอนาคต

เพราะต้องยอมรับว่าสังคมของเราเรายังยึดติดกับใบประกาศ และใบปริญญา แต่เรากำลังพยายามทำให้เรื่องเหล่านี้มีความสำคัญน้อยลง และเน้นให้คนสนใจเรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น เราต้องมีพื้นที่ให้โอกาสกับคนกลุ่มนี้ได้เข้าถึงทรัพยากร และการหาอาชีพได้ในอนาคต

ทะลุกรอบการศึกษา Active Talk

“การศึกษาไม่ควรขึ้นอยู่กับโชค เราไม่ควรเล่นลอตเตอรี่กับเด็ก ว่าจะโชคดี หรือโชคร้าย แต่เราต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับทุกคน ให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ และให้ได้เป็นในสิ่งที่เขาอยากเป็น”

ผศ.อดิศร ทิ้งท้ายว่า โจทย์สำคัญของการศึกษาไทยในอนาคต คือเราต้องการสร้างเด็กแบบไหน และสภาพแวดล้อมแบบไหนที่เหมาะสมต่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพของนักเรียน ทำอย่างไรที่นักเรียนจะมีครูที่ไว้ใจ ไม่กดดันนักเรียน ไม่ตัดสินเขา และสามารถให้คำปรึกษาได้ มีผู้ปกครองที่เข้าใจ และพร้อมสนับสนุนให้ทำตามความฝันของตัวเอง เรื่องแรกที่ควรทำ คือ การฐานความคิดทางการศึกษาใหม่ ว่าการศึกษาไม่ใช่โรงงานที่จะผลิตคนเหมือนกันออกมาทั้งหมด แต่ต้องสร้างคนที่สามารถเอาความสนใจไปใช้ชีวิตต่อไปได้ เริ่มต้นตั้งคำถามว่าเด็กสนใจอะไร และสร้างการศึกษาให้เด็กเป็นตัวของตัวเองให้ได้


Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้