กอนช.เร่งตัดยอดน้ำลงทุ่ง ก่อนผ่านเขื่อนเจ้าพระยา คาดมวลน้ำจะขึ้นถึงจุดสูงสุดอีก 2-3 วัน

‘แม่น้ำน่าน’ ระดับน้ำยังเพิ่ม ด้าน ‘แม่น้ำปิง’ ไหลเข้า จ.นครสวรรค์ ส่งสัญญาณลดลง เร่งระบายน้ำลงทุ่งรับน้ำเพิ่ม ควบคู่ระบายน้ำออกอ่าวไทย เพื่อรักษาระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา

วันที่ 29 ก.ย. 2564 ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) แถลงถึงประเด็นสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำท่วมล่าสุด ผ่านทาง Facebook Live เพจกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ณ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ว่า ขณะนี้ กอนช. ได้มีการติดตามสถานการณ์น้ำเร่งด่วนแบบรายชั่วโมงเพื่อติดตามสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที 

จากอิทธิพลของพายุโกนเซินในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับอิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู่ ทำให้เมื่อช่วง 16-18 ก.ย.ที่ผ่านมา เกิดฝนตกหนักบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง 

ทั้งนี้จากการติดตามปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา พบว่า 

  • เขื่อนภูมิพลยังมีปริมาณน้ำ 47% ของความจุรวม 
  • เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำ 43% ของความจุ 
  • เขื่อนแควน้อย มีปริมาณน้ำ 85% ของความจุ
  • เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำ 83% ของความจุ 

อย่างไรก็ตาม ระดับน้ำในเขื่อนป่าสักฯ มีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ในขณะที่สถานการณ์ที่แม่น้ำปิง ณ สถานี P.16 อ.ขาณุวรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร และสถานี P.17 อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ ส่งสัญญาณที่ดีในการลดระดับลงของปริมาณน้ำในแม่น้ำปิง ส่งผลให้น้ำที่ไหลเข้าสู่ จ.นครสวรรค์ จะเริ่มมีปริมาณลดลงตามลำดับ ขณะที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำน่าน ณ สถานี N.67 อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ปริมาณน้ำยังไม่สูงมากนัก ปัจจุบันปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 1,245 ลบ.ม./วิ โดยจะใช้เวลา 1 วัน ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ จุดหลักที่เป็นปัญหาในขณะนี้คือบริเวณแม่น้ำน่าน เนื่องจากพื้นที่ของ อ.ชุมแสง มีปริมาณฝนตกมาก

ในขณะที่สถานการณ์น้ำบริเวณ สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นจุดรวมของแม่น้ำ 4 สาย ได้แก่ แม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,683 ลบ.ม./วิ โดยจะขึ้นถึงจุดสูงสุดในอีก 1-2 วันข้างหน้า แต่จะไม่เกิน 2,820 ลบ.ม./วิ ซึ่งจะไม่ล้นตลิ่ง เนื่องจากปริมาณสูงสุดอยู่ที่ 3,500 ลบ.ม./วิ แต่อาจจะมีบางพื้นที่ของแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีระดับตลิ่งต่ำ ซึ่งจะได้รับผลกระทบบ้าง 

“จากแนวโน้มของเขื่อนเจ้าพระยา พบว่า ปริมาณน้ำจะขึ้นถึงจุดสูงสุดในอีก 2-3 วัน โดยจะมีการเร่งระบายน้ำออกทั้งทางฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก”

ขณะนี้ได้มีการปรับลดการระบายน้ำเข้าสู่คลองชัยนาท-ป่าสัก ทางฝั่งตะวันออกลงแล้ว เนื่องจากตอนท้ายน้ำมีปริมาณน้ำมากและไม่สามารถระบายน้ำได้ แต่ต้องประสบปัญหาเนื่องจากมีน้ำจากเขื่อนป่าสักฯ ที่ระบายลงมาเพิ่ม ดังนั้น กอนช. จึงได้มอบหมายให้กรมชลประทานพิจารณาปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักฯ ลง โดยจะมีการบริหารจัดการเขื่อนป่าสักฯในการช่วยกักน้ำไว้ พร้อมกันนี้กรมชลประทานจะต้องตัดยอดน้ำก่อนไหลเข้าสู่ จ.ลพบุรี ให้เข้าไปยังคลองระพีพัฒน์ เพื่อช่วยดึงน้ำระบายออกไป

แผนที่บริหารจัดการน้ำ กรมชลประทาน วันที่ 29 ก.ย.​ 2564

สำหรับในพื้นที่ จ.ปทุมธานี จ.นนทบุรี รวมถึงกรุงเทพมหานคร ซึ่งประชาชนเกิดความวิตกกังวลถึงผลกระทบจากปริมาณน้ำที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จากการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ปัจจุบัน ณ สถานี C.13 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ที่เป็นบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่านเพิ่มขึ้นในอัตรา 2,750 ลบ.ม./วิ ซึ่ง กอนช. ได้ประสานกรมชลประทานในการพยายามควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน ไม่ให้เกินอัตรา 2,700-2,800 ลบ.ม./วิ โดยอีกประมาณ 1 วัน น้ำจะไหลเข้าสู่บางบาล-บางไทร ก่อนเข้าสู่กรุงเทพมหานคร 

โดยปริมาณน้ำที่บางบาล-บางไทร ขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 2,800-2,900 ลบ.ม./วิ ซึ่งไม่มากนัก โดยจะไม่เกิน 3,500 ลบ.ม./วิ ทั้งนี้ กอนช. ได้บินตรวจสถานการณ์เพื่อหาทางระบายน้ำออกทั้งทางฝั่งตะวันตกและตะวันออก เพื่อรักษาระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาให้มีปริมาณต่ำที่สุด พร้อมเร่งระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่อ่าวไทยโดยเร็วควบคู่ไปด้วย และจะมีการติดตามสถานการณ์ตลอดเวลาเพื่อควบคุมน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในอัตราที่กำหนดไว้

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS