“เกษตรกร เชียงใหม่-ลำพูน” จี้ นายกฯ เดินหน้า “ธนาคารที่ดิน” หลังจัดตั้ง 6 ปี ไม่ขยับ

ชี้รัฐเตะถ่วง แก้ปัญหาที่ดิน เกษตรกร หมดหวังสร้างแนวทางโฉนดชุมชน ย้ำต้องปฏิรูปที่ดิน สู่การถือครองอย่างเป็นธรรม พร้อมขีดเส้น 30 วัน หากยังไม่คืบ เตรียมระดมพลบุก กทม.

วันนี้ (28 ก.ย.64) ขบวนการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน จ.เชียงใหม่-ลำพูน ในนามสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) จำนวนประมาณ 200 คน เข้ายื่นหนังสือ ณ ศูนย์ราชการจังหวัดลำพูน ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ไปยังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแลสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. ให้เดินหน้าดำเนินการพื้นที่นำร่องธนาคารที่ดิน 5 พื้นที่ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 ก.พ.54 และให้ บจธ. มีนวัตกรรมใหม่ในการ กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ภายหลังการจัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2558

หนังสือระบุว่า การดำเนินการของ บจธ. ในระยะแรกได้ดำเนินการเพื่อจัดซื้อที่ดินให้กับเกษตรกรภายใต้โครงการนำร่องธนาคารที่ดิน 5 ชุมชนที่มีข้อพิพาท แต่เนื่องจากช่วงเดือน ม.ค.59 นั้นได้เกิดปัญหาเนื่องจาก บจธ. พยายามนำพื้นที่นำร่องเข้าสู่กระบวนการเช่าซื้อ และได้สรุปผ่านเวทีประชุมสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการดำเนินโครงการนำร่องธนาคารที่ดินในพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชน อ้างว่าชุมชนได้ยกเลิกแนวทางตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 22 ก.พ.54  ซึ่งเป็นแนวทางหลักสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรที่จะทำให้พื้นที่นำร่องสามารถเข้าสู่กระบวนการเช่าซื้อได้ จนเกิดการตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการนำร่องธนาคารที่ดินในพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชนขึ้น เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน  ได้ข้อสรุปให้หาแนวทางในการสร้างนวัตกรรมในการจัดการที่ดินให้กับพื้นที่นำร่องธนาคารที่ดิน

“นวัตกรรมการกระจายการถือครองที่ดินดังกล่าวเป็นรูปแบบกรรมสิทธิ์ร่วมระหว่างรัฐและองค์กรชุมชน เพื่อลดภาระการเช่าซื้อให้กับเกษตรกรและพัฒนาสร้างวัตกรรมการจัดการที่ดินที่ยั่งยืน ปัจจุบันการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่มีความคืบหน้าตามแนวทางที่ได้เสนอ เสมือนไม่ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาต่อเกษตรกร ทั้งการยกเลิกมติ คณะรัฐมนตรี 22 ก.พ.54 และผลักดันแนวทางโครงการนำร่องในการถือครองกรรมสิทธิ์ร่วมหรือโฉนดชุมชน ยังไม่มีความคืบหน้า กลับเป็นการเตะถ่วงปัญหา ไม่มีอนาคต ทำลายความหวังการปฏิรูปที่ดินให้แก่ชุมชนในพื้นที่โครงการนำร่อง” 

ดิเรก กองเงิน เกษตรกร บ้านโป่ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่

ดิเรก กองเงิน เกษตรกรจากพื้นที่นำร่องธนาคารที่ดินบ้านโป่ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ บอกว่า เดิมเมื่อปี 2554 มีการเคลื่อนไหวของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย หรือ คปท. เพื่อเรียกร้องแนวทางการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ได้แก่ ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า ธนาคารที่ดิน โฉนดชุมชน และกองทุนยุติธรรม โดยหวังใช้กลไกการเก็บภาษีเพื่อให้นายทุนผู้ถือครองที่ดินมากต้องกระจายที่ดินออกมาให้ธนาคารที่ดินซื้อ แล้วนำมาจัดสรรให้เกษตรกรรายย่อยใช้ประโยชน์ในรูปแบบกรรมสิทธิ์ร่วมแบบโฉนดชุมชน เกิดเป็นมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 ก.พ.54 และเกิดเป็น บจธ. เมื่อปี 2558 แต่ปัจจุบันกลับไม่ตอบสนองเจตนารมณ์เดิมของประชาชน

“บจธ. ซื้อที่ดินจากนายทุน แล้วกลับกลายมาให้ชาวบ้านซื้อต่อในราคาที่ไม่ยุติธรรม มีกรอบกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับมากมายที่ไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ กำหนดระยะเวลาการผ่อนคืน เป็นปัญหาภาระหนักของชาวบ้านที่จะสืบทอดที่ดินไปถึงลูกหลาน ที่จะไม่สามารถผ่อนเงินคืนได้แน่ๆ เพราะราคาสูงมาก ราคาที่ดินตามมติ ครม. 22 ก.พ. 2554 เดิมเป็นการประเมินจากกรมธนารักษ์ แต่ปัจจุบันเป็นการเสนอขายตามราคาตลาด เกิดเป็นปัญหาภาระหนี้สินที่สูงเกินความจำเป็น ทั้งที่เราเป็นผู้ใช้ที่ดิน รักษาที่ดินอย่างยั่งยืนแบบมีส่วนร่วมของคนในชุมชน” 

ดิเรก ยกตัวอย่างกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นที่บ้านโป่ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ที่ชุมชนเคยเข้าปฏิรูปที่ดินเมื่อปี 2545 หลังวิกฤตการณ์ฟองสบู่แตกปี 2540 ซึ่งมีนายทุนกว้านซื้อที่ดินภายใต้โครงการบ้านสวนอ้อมดอย แล้วไม่สามารถดำเนินการกระบวนการได้ ทำให้กลายเป็นที่ดินทิ้งร้างไม่ทำประโยชน์ หากเป็นไปตามระเบียบของ บจธ. ชุมชนต้องซื้อที่ดินในราคาไร่ละ 3.5 แสนบาท ในเนื้อที่ 313 ไร่ ทำให้ชาวบ้านต้องเป็นหนี้สินครัวเรือนละ1.3 ล้านบาทโดยไม่มีงบประมาณอุดหนุน ต่างจากเกณฑ์ของกรมธนารักษ์ตามมติ ครม. 22 ก.พ. 2554 ที่แต่ละครัวเรือนจะรับภาระหนี้สินไม่เกิน 2.3 แสนบาท 

“นวัตกรรมที่ชาวบ้านเสนอคือ ครึ่งราคา คือขอลดหย่อนผ่อนหนี้สินที่เกินภาระ สองคือเรื่องของการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างยั่งยืน รัฐลดราคาค่าที่ให้ครึ่งหนึ่งนั้นมีอำนาจจะป้องกันไม่ให้ที่ดินถูกขายทอดตลาดเป็นการรอนสิทธิในที่ดินโดยให้เป็นการถือกรรมสิทธิ์ร่วมระหว่างรัฐกับชุมชน เป็นนวัตกรรมที่จะใช้ที่ดินอย่างยั่งยืนและเกิดความเป็นธรรมกับประชาชนคนจน นี่คือนวัตกรรมที่เราเสนอแต่ บจธ. ไม่ตอบสนอง” 

ดิเรก บอกอีกว่า เพื่อให้การแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ขอเรียกร้องให้ บจธ.ดำเนินการตามข้อเสนอข้างต้นโดยเร่งด่วน และจะติดตามการดำเนินการของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน อย่างใกล้ชิด และขอทราบคำตอบที่ชัดเจน ถ้ายังไม่มีแนวทางและคำตอบอย่างชัดเจน ภายใน 30 วัน เราในนามขบวนการปฏิรูปที่ดิน จะยกระดับการเคลื่อนไหวผลักดันเพื่อให้เกิดการปฏิรูปที่ดิน ตามโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน 5 พื้นที่ ไปยังส่วนกลางที่เกี่ยวข้องเพื่อรับฟังคำตอบด้วยตนเอง

วิศรุต ศรีจันทร์ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move)

วิศรุต ศรีจันทร์ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) เห็นว่า ปัญหาของ บจธ. คือแนวคิดในการจัดการที่ดินที่ยังมองที่ดินเป็นสินค้า ไม่มีนวัตกรรมการจัดการที่ดินใหม่ ไม่มีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการเข้าไปกำหนดเป้าหมายและทิศทางในการขับเคลื่อนการกระจายการถือครองที่ดิน  ซึ่งไม่ต่างอะไรจากสถาบันการเงินอื่นๆ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่ง บจธ. ต้องทบทวนยุทธศาสตร์การทำงานหลังจากนี้

“บจธ. ยังมองที่ดินเป็นสินค้า ซื้อมา 100 ต้องจ่าย 100 และต้องเอากำไร ต้องคุ้มทุน ต้องให้ชาวบ้านผ่อน แล้วมันต่างอะไรกับสถาบันการเงินอื่นๆ ถ้า บจธ. ไม่สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ในการจัดการที่ดินได้ ก็ไม่สามารถตอบเจตนารมณ์ งั้นก็ไม่ควรจะมี บจธ. อีกต่อไป ให้โอนย้ายไปที่สถาบันอื่นๆ ที่มีศักยภาพในการดำเนินการได้หรืออาจนำไปสู่การผลักดันให้เกิดการจัดตั้งองค์กรอื่นได้ บจธ. ต้องรีบทบทวนและปรับยุทธศาสตร์การทำงานโดยด่วน” 

วรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน

วรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ได้รับเรื่องร้องเรียนไว้ และยืนยันว่าจะนำเรียนข้อมูลประเด็นต่างๆไปให้ผู้บริหารในระดับนโยบายได้รับทราบและดำเนินการต่อไป สิ่งใดที่จังหวัดลำพูนสามารถร่วมทำงานในรูปแบบของคณะกรรมการกับภาคประชาชนได้ ตนก็จะดำเนินการอย่างเต็มที่ 

ทั้งนี้ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) ขีดเส้นตาย 30 วัน หากยังไม่มีความคืบหน้า เตรียมเคลื่อนไหวเรียกร้องในกรุงเทพมหานครต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ