ชวนออกแบบระบบเลือกตั้ง สะท้อนเสียงประชาชน

กมธ.พัฒนาการเมืองฯ จัดเวิร์กช็อป หวังนำความเห็นเข้าสภาก่อนแก้ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ‘ปธ.กมธ.’ ซัด การเมืองวุ่นวายเพราะผลเลือกตั้งไม่เหมาะสม ‘นักวิชาการ’ ชี้ ไทยเปลี่ยนระบบเลือกตั้งไม่ฟังเสียงประชาชน

คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร จัดกิจกรรม Worshop ออกแบบระบบเลือกตั้ง สะท้อนเสียงประชาชนขึ้น เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2564 โดยสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและเรียนรู้ระบบการเลือกตั้ง เพื่อนำไปสู่ความต้องการของประชาชน และเลือกระบบที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย

รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะวิทยากร บรรยายทำความเข้าใจระบบการเลือกตั้งที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งแต่ละประเทศเลือกใช้ตามความเหมาะสมของตนเอง ซึ่งการเปลี่ยนเพียงบัตรเลือกตั้งจากใบเดียว มาเป็นสองใบนั้น ไม่สามารถกล่าวได้ว่าเป็นการเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งจริง ๆ แต่ต้องให้ความสำคัญในเรื่องอื่น ทั้งจำนวนผู้แทนในแต่ละเขตเลือกตั้งว่าควรมีกี่คน หรือวิธีการคิดคำนวณเพื่อให้ได้ผู้ชนะ ทั้งหมดเกี่ยวพันกันทั้งสิ้น

“การเปลี่ยนกระบวนการเลือกตั้งของไทย ไม่มีสมการของความต้องการของประชาชนอยู่เลย เป็นเรื่องของ ส.ส.ร. และนักการเมืองเท่านั้น ระบบการเลือกตั้งที่ใช้กันอยู่จึงไม่อาจสะท้อนความต้องการที่แท้จริงได้”

รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี

รศ.สิริพรรณ ตั้งประเด็นที่พึงพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งไว้ว่า ต้องหาข้อสรุปว่า คนไทยต้องการให้มีผู้ชนะแบบเด็ดขาด และมีความชอบธรรมอย่างเต็มที่หรือไม่ ซึ่งจะนำไปสู่การคิดถึงที่นั่ง ส.ส. ว่าควรจัดให้กับผู้มีคะแนนเสียงสูงสุดเพียงคนเดียว หรือควรแบ่งที่นั่งให้ผู้สมัครตามสัดส่วนคะแนนที่แต่ละคนได้

นอกจากนั้นควรพิจารณาว่าตัวแทนจากการเลือกตั้ง ควรมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประชาชนและชุมชนที่เลือกมามากน้องเพียงใด เพราะสิ่งนี้จะสะท้อนจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งว่าควรมีจำนวนเท่าใด และประเด็นสุดท้าย คือควรให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันของเสียงประชาชนหรือไม่ อันจะนำไปสู่ระบบการคำนวนคะแนนที่เหมาะสม

ณัฐชา  บุญไชยอินสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวว่า กิจกรรมในครั้งนี้ต้องการส่งเสริมให้ประชาชนให้ความสำคัญต่อการเลือกตั้ง เมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งในรูปแบบใหม่แล้ว ประชาชนมีความเข้าใจมากน้อยเพียงใดต่อวิธีการนั้น และยังเป็นการรับฟังเสียงของประชาชนว่าต้องการการเลือกตั้งรูปแบบใด

“วันนี้พอมีหลายระบบ พี่น้องประชาชนก็สับสน มันไม่ได้มีเพียงเรื่องบัตร 1 ใบ หรือ 2 ใบเท่านั้น แต่ภายใต้บัตรเลือกตั้งมันมีอะไรซ่อนอยู่ โดยเฉพาะผลการนับคะแนน เพราะต้นตอของปัญหา ผลที่ได้ไม่สอดคล้องกับความรู้สึกของประชาชน จึงนำมาซึ่งความวุ่นวายทางการเมืองในวันนี้”

ณัฐชา  บุญไชยอินสวัสดิ์

หลังจากนี้คณะอนุกรรมาธิการฯ ที่ตั้งขึ้นเพื่อศึกษาระบบการเลือกตั้งที่เหมาะสม จะทำหน้าที่ศึกษาข้อมูล และสร้างการรับรู้แก่ประชาชน รวมถึงนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาก่อนจะมีการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ต่อไป นอกจากนั้นยังมองเห็นความเป็นไปได้ที่ให้ประชาชนในพื้นที่อื่น ๆ จะได้เรียนรู้ระบบการเลือกตั้ง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเช่นนี้ในทุก ๆ จังหวัดต่อไป

ภายในกิจกรรมยังแบ่งออกเป็นฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ได้แก่ เรื่องคณิตศาสตร์การเลือกตั้ง และระบบการคำนวณคะแนน โดยมี พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า หรือ CONLAB เป็นผู้นำกระบวนการภายในกลุ่มโดยให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ทดลองเลือกตั้งในระบบที่แตกต่างกัน ซึ่งผลที่ได้แม้คะแนนเสียงจะเท่ากัน แต่หากเปลี่ยนระบบการคำนวณ อาจทำให้ผู้ชนะเปลี่ยนไปได้

“การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้งที่ผ่านมาในรัฐสภา โดยไม่ได้เปิดการมีส่วนร่วมของประชาชนเท่าที่ควร เป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะในเมื่อระบบการเลือกตั้ง สามารถเปลี่ยนตัวผู้ชนะได้ ผู้ที่มีความชอบธรรมที่สุดในการแก้ไข ควรจะเป็นประชาชน”

พริษฐ์ วัชรสินธุ

พริษฐ์ กล่าวต่อว่า การแก้ไขระบบการเลือกตั้งอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องแก้ที่ต้นตอของปัญหา คือการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา และอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. เพราะสิ่งนี้ขัดกับหลักการประชาธิปไตย ถึงแม้จะออกแบบระบบการเลือกตั้งที่เหมาะสมเพียงใด แต่ยังมีกลุ่มที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน มากำหนดตัวผู้นำประเทศ ย่อมไม่สามารถทำให้หลักการประชาธิปไตยเกิดขึ้นได้

เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ เป็นผู้นำกระบวนการในฐาน สะท้อนความต้องการระบบเลือกตั้งของประชาชน เนื่องจากได้ทำการศึกษาร่วมกับนิสิตของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อสอบถามว่าต้องการระบบการเลือกตั้งแบบใด โดยได้มีการทดลองหาเสียงเลือกตั้ง ลงคะแนนเสียง และแลกเปลี่ยนความเห็นว่าระบบใดคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด และเหมาะกับประเทศไทยมากที่สุด

“สิ่งที่น่าสนใจจากการทดลองคือ เราน่าจะทำในการทดลองในขนาดที่ใหญ่กว่านี้ และหลายกลุ่มมากกว่านี้ เมื่อมีการซ้อม ทดลอง และแสดงผลให้เห็น จะทำให้ในที่สุดประชาชนจะได้คำตอบว่าระบบใดดีที่สุดสำหรับเมืองไทย”

เดชรัต สุขกำเนิด

ผลที่ออกมา เดชรัต กล่าวว่า ส่วนใหญ่ยังต้องการระบบแบบผสม คือ มีทั้งแบ่งเขตเลือกตั้ง และแบบบัญชีรายชื่อ โดยแบบบัญชีรายชื่อ มีความเห็นแตกออกเป็น 2 เสียง คือแยกนับคะแนน และอีกเสียงคือนำคะแนนมานับจำนวน ส.ส. พึงมี และคำนวณร่วมกัน ซึ่งการคำนวณเช่นนี้จะสะท้อนเสียงของประชาชนที่เลือกพรรคการเมืองนั้นจากทั้งประเทศด้วย

นอกจากนั้นยังมีฐานการเรียนรู้ของ ELECT ที่เกี่ยวกับการจัดการข้อมูลการเลือกตั้ง โดยมีการแลกเปลี่ยนว่าข้อมูลใดที่จำเป็น และสำคัญต่อการเลือกตั้ง ทั้งข้อมูลผู้สมัคร ข้อมูลพรรคการเมือง วิธีการเลือกตั้ง หรือข้อมูลเชิงลึกเพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง รวมถึงรูปแบบการนำเสนอที่สอดคล้องกับยุคปัจจุบัน

สุดท้ายคือฐานของกลุ่ม We Watch ภาคประชาชนสอดส่องการเลือกตั้ง ที่สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนให้ตระหนักว่าไม่ได้มีหน้าที่เพียงการลงคะแนนเสียงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการสอดส่อง สังเกตการณ์การนับคะแนน การหาเสียง ป้องกันการทุจริตการเลือกตั้ง ว่ามีกระบวนการอย่างไร

กิจกรรมดังกล่าว ถือเป็นการเริ่มต้นที่สำคัญเพื่อให้คนในสังคมได้เข้าใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งอย่างถูกต้อง และเลือกระบบการเลือกตั้งที่เหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศไทย และชี้ให้เห็นว่าประชาชนควรเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขเรื่องนี้ เพื่อสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนได้อย่างแท้จริง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้