เทียบชั้น! ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เขต 9 กทม. ศึกวัดกำลังพรรคการเมือง

จตุจักร – หลักสี่ เลือกตั้งซ่อม 30 ม.ค. นี้ แคนดิเดตไม่ธรรมดา แข่งขันดุเดือด พปชร. ส่ง ‘สรัลรัศมิ์’ รักษาพื้นที่ ก้าวไกล – เพื่อไทย เบียดแย่งคะแนน ‘อรรถวิชช์’ กล้าลงเป็นตัวเลือก มองปัจจัยพื้นที่ชุมชน หลากความคาดหวัง

หลังจากที่ สิระ เจนจาคะ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กรุงเทพมหานคร เขต 9 พรรคพลังประชารัฐ ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ต้องห้ามคุณสมบัติลงรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. จากคดีทุจริตที่เกี่ยวกับการเงินไปนั้น ล่าสุด คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ประกาศกำหนดวันเลือกตั้งซ่อมกรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ 9 ในวันอาทิตย์ที่ 30 ม.ค. 2565 โดยเปิดรับสมัครเลือกตั้งวันพฤหัสบดีที่ 6 ม.ค. ถึงวันจันทร์ที่ 10 ม.ค.2565 

แต่บรรยากาศการแข่งขันที่ดุเดือดในสนามเลือกตั้งนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ทราบคำวินิจฉัยฯ แล้ว และค่อนข้างได้รับการจับตามองจากสังคม อาจเป็นเพราะว่าระหว่างการดำรงตำแหน่งของสิระ ได้ปรากฏข่าวคราวการทำหน้าที่ และประเด็นวิวาทะกับนักการเมืองอื่นมาอย่างต่อเนื่อง การสู้ศึกเลือกตั้งในเขตดังกล่าวจึงน่าสนใจว่าใครจะมาแทนที่ และเมื่อพิจารณาจาก ‘ว่าที่ผู้สมัคร’ ของแต่ละพรรคการเมืองที่เปิดตัวกันออกมาแล้ว ยิ่งกล่าวได้ว่าครั้งนี้เป็นศึก ‘ช้างชนช้าง’ ที่วัดคะแนนนิยมได้ก่อนถึงการเลือกตั้งใหญ่ที่จะถึง

‘เพื่อไทย’ เคาะยี่ห้อ ‘เทียนทอง’ พิสูจน์ผลงาน 17 ปี

คณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ได้มีมติเอกฉันท์ เห็นชอบส่ง ‘สุรชาติ เทียนทอง’ อดีต ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม. เขตเลือกตั้งที่ 9 หลังจากที่พ่ายให้กับสิระ ในการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 ที่ผ่านมา แต่เป็นบุคคลหนึ่งซึ่งลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

“ผมใฝ่ฝันอยากเป็นผู้แทนราษฎรของประชาชน ใช้เวลาตลอด 17 ปีอยู่กับประชาชน ใช้ชีวิตอยู่กับประชาชนจริง ๆ เกือบทุกวันในพื้นที่เล็ก ๆ ของผม การเมืองของผมคือเริ่มต้นและให้เกียรติประชาชน การเมืองไม่ต้องไปทะเลาะกับใคร ชี้หน้าด่าใคร ประชาธิปไตยที่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ ถ้าผมได้รับความไว้วางใจ ผมจะรวบรวมทุกสิ่งทุกอย่างทุกการเรียนรู้เพื่อทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า”

สุรชาติ เทียนทอง กล่าวในการแถลงข่าวลงสมัครรับเลือกตั้ง วันที่ 29 ธ.ค. 2564
สุรชาติ เทียนทอง
ภาพ : พรรคเพื่อไทย

หากย้อนกลับไปในการเลือกตั้ง ปี 2554 ครั้งนั้น สุรชาติ ได้เอาชนะคู่แข่งคนสำคัญ ทั้ง สกลธี ภัททิยกุล จากพรรคประชาธิปัตย์ และศุภมาศ อิสรภักดี จากพรรคภูมิใจไทย ซึ่งทั้ง 2 คนล้วนเป็นอดีต ส.ส.เขตหลักสี่ โดยสุรชาติได้รับความไว้ใจด้วยคะแนน 28,376 เสียง ถือเป็นการทำหน้าที่ ส.ส.สมัยแรกของตนเองได้สำเร็จ

และในช่วงที่ไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น สุรชาติยังคงลงพื้นที่สม่ำเสมอ ให้บริการประชาชนทั้งการฉีดลูกน้ำยุงลาย การฉีดวัคซีนให้กับสุนัขและแมว และในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ก็คอยให้ความช่วยเหลือในสิ่งที่ภาครัฐไม่สามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงที แต่อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา สุรชาติ ก็ไม่สามารถเอาชนะสิระได้ ท่ามกลางข้อครหาเรื่องความโปร่งใสในการเลือกตั้ง จึงถือเป็นการทวงตำแหน่งครั้งสำคัญของสุรชาติ ในฐานะผู้แทนชาวหลักสี่-จตุจักร

ฮือฮา ‘ก้าวไกล’ ส่ง ‘เพชร กรุณพล’ หวังแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง

ในขณะที่พรรคก้าวไกล สร้างความตื่นตาตื่นใจด้วยการเปิดตัวผู้สมัครอย่าง ‘เพชร กรุณพล เทียนสุวรรณ’ นักแสดงที่มักออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างชัดเจนมาโดยตลอด และยังได้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองหลายครั้ง แม้ยังไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง แต่ความเป็นที่รู้จัก และคนรุ่นใหม่อาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมของฐานเสียงพรรคก้าวไกล

“เราต้องการให้ประชาชนได้รู้จักและรับรู้ถึงนโยบายพรรค การแก้ปัญหาของเรา และจะนำปัญหาพื้นที่ยกสู่ปัญหาระดับชาติ หรือปัญหาเชิงโครงสร้าง เรากล้าชนทุกปัญหา ถ้าเราแก้ปัญหาในเชิงระบบได้ตั้งแต่ต้น ตั้งกฎกติกา หาผู้รับผิดชอบ ปัญหาจะถูกแก้อย่างยั่งยืน”

กรุณพล กล่าวขณะลงพื้นที่หาเสียง วันที่ 1 ม.ค. 2565
กรุณพล เทียนสุวรรณ
ภาพ : พรรคก้าวไกล

พรรคก้าวไกลระบุว่า ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ กรุณพล เทียนสุวรรณ ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคก้าวไกล โดยขอแรงสนับสนุนจากพี่น้องประชาชนอีกครั้ง ถือว่าทุกการเลือกตั้งคือโอกาสสร้างความเปลี่ยนแปลง และจะทำเต็มที่เพื่อสร้างการเมืองที่ผู้แทนราษฎรรับใช้ประชาชน ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน มิใช่ผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

ในการเลือกตั้งทั่วไปในครั้งที่ผ่านมา ปี 2562 พรรคก้าวไกล ได้รับความไว้วางใจจากชาวกรุงเทพฯ มี ส.ส. เข้าไปทำหน้าที่ในสภา ถึง 9 เขตเลือกตั้ง และหากเจาะลึกลงไปในสนามเลือกตั้ง เขต 9 นี้ พรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้น ก็ได้รับคะแนนมาเป็นอันดับที่ 3 ไม่น้อยกว่า 25,000 คะแนนเสียง การเลือกตั้งซ่อมในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่ไม่ควรปล่อยผ่านไป และลุ้นว่าจะได้รับชัยชนะในครั้งนี้หรือไม่

‘อรรถวิชช์’ หัวหอก ‘พรรคกล้า’ ลุยนโยบายปากท้อง

ผู้ลงสมัครอีกหนึ่งคนที่น่าจับตา คือ ‘อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี’ อดีต ส.ส. กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ ปัจจุบันเป็นเลขาธิการพรรคกล้า ออกมาแสดงตัวลงสมัครรับเลือกตั้ง ในเขตเลือกตั้งที่ 9 หลักสี่ – จตุจักร ในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน ถือเป็นสนามพิสูจน์ว่าการเปลี่ยนสังกัดพรรค แล้วชูนโยบายแก้ปัญหาปากท้องจะสามารถชนะใจคนในเขตเลือกตั้งได้หรือไม่

อรรถวิชช์ ยืนยันถึงการเลือกตั้งซ่อมในครั้งนี้ว่า ตั้งใจกลับมาทำงานสานต่อพัฒนาสาธารณูปโภคย่อย ๆ ในซอย ทางลัด ระบบระบายน้ำ ไฟฟ้าส่องสว่าง ซึ่งมีความทรุดโทรมไปมาก และมุ่งเน้นแก้ปัญหาปากท้อง เนื่องจากการลงพื้นที่พบว่ามีเสียงสะท้อนจากประชาชนถึงปัญหาสินค้าราคาแพง โดยเฉพาะ เนื้อหมู ซึ่งอรรถวิชช์ กล่าวว่าทีมงานพรรคกล้า มีผู้ที่เป็นมืออาชีพด้านเศรษฐกิจ

“ผมทำงานทุกวัน เจอคนคุ้นหน้าคุ้นตาก็ทักทาย มั่นใจว่าเราจะนำชัยชนะมาได้ แม้ว่าพรรคกล้าจะเป็นพรรคใหม่ แต่เกณฑ์ชี้วัดครั้งนี้ ต้องถามพี่น้องประชาชนว่า การเมืองคุณภาพ การเมืองสร้างสรรค์  เกิดได้ไหมในกรุงเทพมหานคร เป้าหมายของชาติในการแก้วิกฤตเศรษฐกิจ ต้องการมืออาชีพในด้านนี้ อยากเห็นประเทศดีขึ้น”

อรรถวิชช์ กล่าวขณะลงพื้นที่หาเสียง วันที่ 3 ม.ค. 2565
อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี
ภาพ : พรรคกล้า

สำหรับ อรรถวิชช์ เป็นนัการเมืองชาวไทย เคยเป็นอดีตคณะทำงานเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนแยกตัวออกมาสร้างพรรคการเมืองร่วมกับ กรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โอกาสหนึ่งของอรรถวิชช์ คือ ภายหลังพรรคประชาธิปัตย์ ตัดสินใจไม่ส่งผู้สมัคร เพื่อรักษามารยาทพรรคร่วมรัฐบาล จึงมีแนวโน้มที่เสียงของประชาธิปัตย์ จะเทมาให้อรรถวิชช์ ในครั้งนี้ด้วย

‘สรัลรัศมิ์’ สานต่อ ‘สิระ’ มั่นใจเลือกตน เหมือนได้สิระคืนมา

ปิดท้ายที่เจ้าของพื้นที่เดิมอย่างพรรคพลังประชารัฐ ที่มีมติคณะกรรมการบริหารส่ง ‘สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ’ ภรรยาของสิระ ซึ่งแม้จะไม่เคยมีประสบการณ์ในทางการเมือง แต่สำหรับความคุ้นชินและใกล้ชิดกับคนในพื้นที่มีไม่น้อย เพราะตลอดเวลาที่สิระเป็น ส.ส. ก็ได้ช่วยเหลืองานในพื้นที่มาโดยตลอด ตนกล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิดระบาดอย่างหนักตนก็ดูแลประชาชนอย่างเต็มที่

“ไม่ใช่ผู้สมัครหน้าใหม่ เนื่องจากมีความคุ้นเคย สนิทสนมกับชาวบ้านในพื้นที่ ดูแลชาวบ้านแบบให้ใจกับเขา จึงมั่นใจว่าประชาชนในพื้นที่จะมอบความไว้วางใจและให้โอกาสตนสานต่อ ไม่มีความกังวลในเรื่องของคู่แข่ง”

สรัลรัศมิ์ กล่าวภายหลังประชุมกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ วันที่ 28 ธ.ค. 2564
สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ

จากการลงพื้นที่หาเสียงของ สรัลรัศมิ์ ในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา พบว่า ปัญหาที่คนในพื้นที่สะท้อน คือ การดูแลชีวิต ความเป็นอยู่ของกลุ่มคนเปราะบาง โดยอยากให้เข้ามาสานงานต่อจากที่เคยดูแลไว้ไม่ว่าจะเป็นในช่วงสถานการณ์โควิด คนชรา ผู้พิการ เพราะฉะนั้น โดยสรัลรัศมิ์มั่นใจว่าจะได้รับโอกาสจากพี่น้องเข้ามาทำงานต่อแน่นอน เพราะเลือกสรัลรัศมิ์ก็เหมือนได้สิระคืนมา

นอกจากนี้ประชุมพรรคพลังประชารัฐ โดย สันติ พร้อมพัฒน์ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ยังมั่นใจว่า พื้นที่ผู้สมัครของพรรคจะสู้ได้ เนื่องจากมีทั้งกระแสของพรรคและกระแสในตัวนายกรัฐมนตรี พบว่านโยบายของพรรคพลังประชารัฐ อาทิ บัตรสวัสดิการ มาตรการเยียวยาช่วงโควิด โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี รวมถึงกระแสความนิยมในตัวนายกรัฐมนตรีก็มีเพิ่มมากขึ้น ทำให้มั่นใจว่าคะแนนนิยมจะเพิ่มขึ้นกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนแน่นอน

สำหรับสนามเลือก กทม. เขต 9  ครอบคลุมพื้นที่เขตจตุจักรถึง 3 แขวง ได้แก่ จันทรเกษม ลาดยาว และเสนานิคม รวมถึงกินพื้นที่ทั้งเขตหลักสี่ กว้างไปจนถึงซอยเสือใหญ่อุทิศ และซอยลาดพร้าว 41 (ซอยภาวนา) ซึ่งเป็นพื้นที่ค่อนข้างกว้าง และจากการลงพื้นที่สำรวจ พบลักษณะทางกายภาพ และแหล่งชุมชน ที่อยู่อาศัยจำนวนมาก โดยเฉพาะชุมชนเคหะบางบัว สถานศึกษาขนาดใหญ่ อย่างมหาวิทยาลัยศรีปทุม และราชภัฏจันทรเกษม รวมถึงสถานที่ทำงานขนาดใหญ่ อย่าง ศุนย์ราชการแจ้งวัฒนะ และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ (Thai PBS) เป็นต้น

ด้วยสภาพทางกายภาพที่มีความแตกต่างหลากหลายของผู้ใช้ชีวิต ตั้งแต่พ่อค้า แม่ค้าในตลาด ผู้อยู่อาศัยในเคหะชุมชน ผู้อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียม นักศึกษา และคนรุ่นใหม่ในสถาบันการศึกษา หรือคนวัยทำงาน ล้วนตามมาด้วยความคาดหวังของนโยบายที่แตกต่างตามไปด้วย การเลือกตั้งในครั้งนี้จึงน่าจับตามองว่า ใครจะได้รับชัยชนะ เข้าไปทำหน้าที่เป็นผู้แทนของชาวหลักสี่ – จตุจักร


อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้