อิทธิพลพายุเตี้ยนหมู่ และร่องฝน ส่งผลกระทบ จ.สุโขทัย มีปริมาณน้ำท่วมขังบางจุดสูง 50 เซนติเมตร-1 เมตร ด้านกระทรวงเกษตรฯ เตรียมมาตรการช่วยเหลือ
ข้อมูลจากดาวเทียม GISTDA ได้วิเคราะห์และจัดทำแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม COSMO-SkyMed-4 พบพื้นที่น้ำท่วมบริเวณบางส่วนของจังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร และตาก รวมประมาณ 208,000 ไร่ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ลุ่มต่ำ โดยเฉพาะจังหวัดสุโขทัย เกิดน้ำท่วม 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกงไกรลาศ อำเภอศรีสำโรง อำเภอเมืองสุโขทัย อำเภอคีรีมาศ อำเภอบ้านด่านลานกอย อำเภอสวรรคโลก อำเภอศรีสัชนาลัย อำเภอทุ่งเสลี่ยม รวมทั้งจังหวัดสุโขทัยท่วม 148,039 ไร่
โครงการชลประทานสุโขทัย เปิดเผยว่า สาเหตุน้ำท่วมจังหวัดสุโขทัย มาจากฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู่และร่องฝนหรือร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก และระดับน้ำในแต่ละอำเภอก็มีมาก โดยลักษณะของน้ำท่วมอำเภอเมืองสุโขทัยในปีนี้ไม่ได้ท่วมล้นตลิ่งคล้ายปีที่ผ่าน ๆ มา แต่เกิดจากการท่วมขังในพื้นที่ ขณะที่น้ำจากอำเภอใกล้เคียงทางฝั่งตะวันตก เช่น อำเภอทุ่งเสลี่ยม อำเภอบ้านด่านลานหอย มีน้ำฝนสะสมในพื้นที่ค่อนข้างมาก จึงไหลหลากมาสมทบกับอำเภอเมือง ทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น บางจุดท่วมสูง ตั้งแต่ 50 เซนติเมตร – 1 เมตร ขณะที่ข้อมูลระดับน้ำรายชั่วโมง ลุ่มน้ำยม ตั้งแต่อำเภอศรีสัชนาลัย สวรรคโลก อำเภอเมือง อำเภอกงไกรลาศ แม้จะพบรายงานไม่มีน้ำล้นตลิ่ง แต่ปัจจุบันอำเภอเมืองสุโขทัยก็ยังมีน้ำขังที่รอระบายลงแม่น้ำยมต่อเนื่อง ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำยมในเขตอำเภอเมืองที่สถานี Y.4 ปัจจุบันสูง 5 เมตร 31 เซนติเมตร จากระดับตลิ่ง 8 เมตร 15 เซนติเมตร
แต่จากการประเมินสถานการณ์น้ำขังในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยโดยรวมจากโครงการชลประทานสุโขทัย พบว่าปัจจุบันยังมีน้ำค้างทุ่งและท่วมขังทั้งจังหวัดประมาณ 180 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่า จะใช้เวลากว่า 20 วันถึงจะระบายน้ำได้หมด หากไม่มีฝนมาเติมในพื้นที่ ซึ่งขณะนี้กรมอุตุนิยมวิทยาก็คาดการณ์ว่า จังหวัดสุโขทัย ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง อีก 1-2 วัน ฝนจะลดลงเป็นร้อยละ 40 ของพื้นที่
ขณะที่เช้านี้ วันที่ 26 กันยายน 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่จังหวัดสุโขทัย บริเวณอำเภอศรีสำโรง บ้านคลองชัด หมู่ที่ 8 ตำบลวังใหญ่ และวัดดอนจันทร์ หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านไร่ จากนั้นได้เดินทางไปติดตามสถานการณ์อุทกภัยและการดูแลประชาชน ณ วัดบ้านซ่าน ตำบลบ้านซ่าน อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยพร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ และมาตรการอื่น ๆ กรณีเสียหายสิ้นเชิง โดยสามารถติดต่อขอรับสิทธิ์การช่วยเหลือได้ที่สำนักงานเกษตร/ประมง/ปศุสัตว์อำเภอ หรือเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯ ใกล้บ้าน ทั้งนี้ หลักเกณฑ์/คุณสมบัติเกษตรกรที่ได้รับการช่วยเหลือ จะต้องเป็นเกษตรกรที่มีพื้นที่การผลิตเสียหายสิ้นเชิงอยู่ในพื้นที่ประกาศเขตเสียหายสิ้นเชิงอยู่ในพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 และขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก่อนเกิดภัย
โดยขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ยังได้มีการสำรวจความเสียหายเบื้องต้นในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย (ข้อมูล ณ วันที่ 24 ก.ย. 2564) แบ่งเป็น ด้านพืช เกษตรกร 14,464 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 169,297 ไร่ ข้าว 150,774 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 16,761 ไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้น 1,762 ไร่ โดยในพื้นที่ อำเภอศรีสำโรง เกษตรกร 4,593 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 69,703 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 67,082 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 2,224 ไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่น ๆ 397 ไร่ ด้านประมง เกษตรกร 2,504 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับผลกระทบ (บ่อปลา) 3,087 ไร่ ในพื้นที่ อำเภอศรีสำโรง เกษตรกร 300 ราย พื้นที่เพาะเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับผลกระทบ (บ่อปลา) 350 ไร่ ด้านปศุสัตว์ เกษตรกร 6,336 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 233,325 ตัว โค-กระบือ 26,036 ตัว สุกร 6,479 ตัว แพะ-แกะ 1,040 ตัว สัตว์ปีก 199,770 ตัว แปลงหญ้า 431 ไร่ ในพื้นที่ อำเภอศรีสำโรง เกษตรกร 2,412 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 101,052 ตัว