กสม. ตั้งคณะทำงาน ลงพื้นที่การชุมนุมดินแดง รวบรวมข้อมูล นักมานุษฯ มอง รัฐต้องปรับบทบาท ก่อนประชาชนเผชิญหน้ากันเอง
“ให้ลองคิดภาพว่าบ้านเราที่เคยสงบ แต่มาวันหนึ่งหน้าบ้านเราเกิดการปะทะ มีเสียงดัง มีการยิงกระสุน มีการยิงพลุ ยิงแก๊สน้ำตา ในช่วงเวลากลางคืน มันจะเป็นยังไง?
คนที่นี่เป็นคนหาเช้ากินค่ำ เขาก็ต้องการเวลาพักผ่อน พอเขาได้รับผลกระทบต่าง ๆ เห็นใจเขาเถอะครับ เห็นใจคนดินแดง”
อดิสร โพธิ์อ่อน ตัวแทนชาวชุมชนแฟลตดินแดง
เกือบ 2 เดือนแล้วที่ชาวดินแดงต้องอยู่ในสมรภูมิความขัดแย้งทางการเมือง ท่ามกลางเสียงสะท้อนว่า พวกเขาไม่เคยได้รับการคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งที่ความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่พลเมืองควรได้รับ
The Active สัมภาษณ์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และนักมานุษยวิทยา ที่ตั้งข้อสังเกตตรงกันว่า ที่ผ่านมา “กลไกดูแลความสงบเรียบร้อย” เพื่อรักษาสิทธิของคนในพื้นที่ ถูกนำไปใช้เพื่อปกป้องสัญลักษณ์ของความเป็นรัฐ มากกว่า ความเป็นชุมชน
“เราไม่เห็นเจ้าหน้าที่เลย จะมาทีก็ตอนที่มีสลายการชุมนุม และเมื่อวานก็มาแจกข้าวแค่นี้นอกนั้นก็ไม่มีมา”
“ผมไม่เห็นเลยตำรวจในพื้นที่ ไม่เคยมี เงียบกริบเลย ไม่เคยมีมาเยียวยาไม่เคยมีมาถามไถ่ มีแต่สื่อ”
“ก็เขารบอยู่กับตำรวจเนี่ย จะเป็น คฝ. หรือเป็นตำรวจในพื้นที่ ก็เหมือนกัน เชื่อผมสิ เขาก็แค่รับแจ้งเราก็ทำอะไรไม่ได้”
คำสัมภาษณ์ ชาวบ้านแฟลตดินแดง
ตั้งแต่ วันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา ชาวบ้านพยายามช่วยเหลือตัวเอง ลดผลกระทบด้วยการใช้ลังกระดาษ ฟิวเจอร์บอร์ด มาปิดหน้าต่าง ป้องกันทั้ง แก๊สน้ำตา กระสุนยาง ลูกแก้ว ก้อนหิน ไม่ให้ที่พักได้รับความเสียหาย จากเหตุชุมนุมและปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ คู่ขนานไปกับการยื่นเรื่องร้องเรียน และทวงถามความคืบหน้าจากรัฐบาลหลายครั้ง
ขณะที่วันที่ 24 สิงหาคม มีการยื่นหนังสือจากตัวแทน คณะกรรมการเคหะชุมชนดินแดง ถึง 3 ส่วน คือ พลเอก ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้ใต้บังคับบัญชาของหน่วยงานดังกล่าว โดยระบุข้อเรียกร้องทั้งหมด 10 ข้อ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณาและแก้ปัญหา ซึ่งขณะนี้ (25 ก.ย. 2564) ผ่านมา 1 เดือน ยังไม่มีความคืบหน้าการแก้ปัญหาในพื้นที่
ตัวแทนชุมชนดินแดง ยืนยันว่า การยื่นหนังสือไม่ได้ต้องการเพ่งโทษฝ่ายใด หนำซ้ำยังกังวลมือที่ 3 ว่า อาจจะเข้ามาสร้างสถานการณ์หรือไม่ แต่ที่ต้องออกมาเรียกร้อง เพราะพวกเขารู้สึกว่า ไม่ได้รับการปกป้องจากเจ้าหน้าที่รัฐ ยิ่งหากเทียบกับการปกป้องสถานที่ราชการ อย่างทำเนียบรัฐบาล หรือ บ้านพัก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือว่าชาวบ้านได้รับการปกป้อง คุ้มครองจากกลไกรัฐส่วนนี้น้อยกว่ามาก
21 กันยายน ทีมข่าว The Active ติดตามที่ปรึกษากฎหมาย-ชาวชุมชนดินแดง ลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้าน เพื่ออธิบายว่า คนดินแดง มีสิทธิอะไรบ้างในการปกป้องตัวเอง โดยพบว่า ชาวบ้านแทบไม่รู้สิทธิของตัวเอง รู้เพียงว่า สามารถไปแจ้งความตำรวจในพื้นที่ได้ แต่หลายคดีไม่มีความคืบหน้า
“ในกฎหมายระบุว่าต้องเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบในทาง คดีอาญา นั่นหมายความว่าถ้าเขาได้รับบาดเจ็บหรือได้รับผลกระทบ อะไรก็ตาม เขาต้องไปแจ้งความเพื่อให้มันเกิดคดีขึ้น ให้เป็นคดีอาญา และเมื่อเป็นคดีอาญาแล้ว ทางพนักงานสอบสวนก็จะออก ใบรับรองซึ่งผู้ที่ได้รับความเสียหายจะต้องเอาใบรับรองนี้ไปยื่นกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีใครบอกเขาเลย ชาวบ้านเขาเพียงแต่คิดว่าเขาเสียหาย รัฐบาลก็ไม่มาดูแล อะไรก็ไม่มาดูแล กลายเป็นความโชคร้ายของคนที่นี่ไปเลย”
วรชาติ อหันทริก ที่ปรึกษากฎหมายชาวแฟลตดินแดง
และจากการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมระบุว่า การช่วยเหลือจะดำเนินการตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา แต่การพิจาณามีหลายขั้นตอน และต้องใช้ระยะเวลา ทั้งนี้ ผู้ที่จะได้รับค่าทดแทนจะต้องไม่ใช่ผู้ที่เป็นคู่ขัดแย้ง ซึ่งขณะนี้มีผู้เสียหายที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดงยื่นเรื่องมาแล้ว 4 กรณี จากเหตุการชุมนุมและการสลายการชุมนุม
สอดคล้องกับข้อมูลของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ที่มีการรับเรื่องร้องเรียน ตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน 2564 พบว่ามีผู้ที่ได้รับผลกระทบและความเสียหายในหลายกรณี และยังรอการช่วยเหลือ โดยจากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า ในชุมชนแฟลตดินแดง มีผู้บาดเจ็บเล็กน้อยจากกระสุนยาง และลูกแก้ว 3 คน, ทรัพย์สินเสียหาย 4 คน, มีผู้ป่วยที่ต้องการเวลาพักผ่อนแต่ได้รับผลกระทบจากเหตุชุมนุมและสลายการชุมนุมอย่างน้อย 1 คน และผู้ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสอีก 4 คน ในจำนวนนี้ 2 คนอาการวิกฤต ซึ่งทั้งหมดขอความร่วมมือไปยัง กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาเยียวยา
ขณะที่คณะกรรมการชุมชนได้ทำเรื่องไปยังหน่วยงานด้านพัฒนาสังคม ของ สนง.เขตดินแดง เพื่อให้เข้ามาช่วยเหลือคู่ขนานกันไปด้วย แต่ยังไม่มีความคืบหน้า
ถ้าว่ากันตามหลัก “สิทธิพลเมือง” ที่ปรึกษาสมาคมนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน สมชาย หอมลออ ยืนยันว่า ชาวบ้านไม่ควรต้องออกมาเผชิญหน้า หรือแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เพราะจริง ๆ แล้ว นี่คือ บทบาทของรัฐ ที่ต้องปกป้องให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย
“กระสุนจริงหรือกระสุนยางมีการยิงมา มีเสียงระเบิดดังขึ้น ทรัพย์สินเสียหายมันก็เกิดจากการกระทำไม่ว่าจะเป็นบุคคลใดที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ต้องกระทำการสืบสวนสอบสวนว่า ใครเป็นผู้กระทำความผิด และสามารถดำเนินการในทางกฎหมายได้ เรามีตำรวจไว้ก็เพื่อ รักษาความสงบเรียบร้อย ถ้าให้ชุมชนไปดำเนินการเองก็อาจจะเกิดการเผชิญหน้า ซึ่งอันนี้ไม่น่าจะถูกต้อง”
ด้าน ผศ.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า เหตุปะทะที่ดินแดงเป็นเพียงปลายยอดของปัญหา แต่ต้นตอสำคัญมาจากการบริหารจัดการการชุมนุมที่ไม่มีประสิทธิภาพของรัฐ เพราะหากดูตามหลักการยกระดับการชุมนุม จะมีทั้งการยกระดับความรุนแรง และการพูดคุยไกล่เกลี่ย แต่รัฐมักเลือกใช้วิธีแรกจนนำมาสู่ความรุนแรงบานปลาย
“ยิ่งรัฐไม่เข้ามาช่วย เหตุการณ์เผชิญหน้าระหว่างประชาชน มีโอกาสเกิดได้มากขึ้นเป็นเท่าตัว”
ผมคิดว่า ในรอบตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เข้มข้นขึ้น เพราะรัฐบาลใช้วิธีการยกระดับการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้พื้นที่ที่ใช้ในการชุมนุมอย่างสันติ ผู้คนเริ่มรู้สึกว่า ไม่ได้มีความหมาย การเรียกร้องไม่ได้ถูกรับฟัง ที่ผ่านมาต้องขอบอกว่าชาวบ้านอดทนกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทางที่ดีเยาวชนเองก็ต้องตระหนักว่าการที่ไม่มีหลังพิง ในขณะที่ คฝ. กระชับพื้นที่แล้วเขาก็ถอยไปตามตรอกซอกซอย หรือขึ้นแฟลต เขาก็มีหลังพิง มีซอกซอยที่จะหลบ ถ้าหากว่าหลังบ้าน หลังพิงเขาไม่ยอมให้อยู่แล้ว ผู้ชุมนุมก็จะลำบากขึ้นไปมากกว่านี้”
บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์
แม้จะมีคำเตือนไปยังผู้ชุมนุม แต่ ผศ.บุญเลิศ ก็ตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหายืดเยื้อเพราะที่ผ่านมากลไกดูแลความสงบเรียบร้อย เพื่อรักษาสิทธิของคนในพื้นที่ ถูกนำไปใช้เพื่อปกป้อง สัญลักษณ์ของความเป็นรัฐมากกว่าหรือไม่ พร้อมฝากไปถึงรัฐให้มองโจทย์ใหม่ เปลี่ยนบทบาทเป็นตัวกลางในการเข้ามาประสาน แก้ปัญหาเป็นหลักเพื่อป้องกันประชาชนเผชิญหน้ากันเอง
ขณะที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ระบุว่า ได้รับการร้องเรียนปัญหาที่เกิดขึ้นบริเวณดินแดงแล้ว พร้อมทั้งมีการลงพื้นที่ติดตามการชุมนุมตลอดเวลา โดยยอมรับว่า กสม. ไม่เคยออกมาแถลงการณ์ในเรื่องนี้อย่างจริงจัง
“การชุมนุมอย่างสันติ มีกฎหมายคุ้มครองตามสิทธิพลเมือง แต่ในพื้นที่ดินแดงมีอาวุธ แต่เราคิดว่าคนที่ไปชุมนุมที่นั่น เจ้าหน้าที่ หรือประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น มีคนที่ไม่ต้องการใช้ความรุนแรง”
ทั้งนี้ กสม. ระบุว่า ได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาหนึ่งชุดเพื่อตรวจสอบผลกระทบต่าง ๆ และได้มีการประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องสิทธิเด็ก กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงมีข้อเสนอไปยังรัฐบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้เร่งแก้ปัญหาแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ