ต้องการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็ม 3 ทำอย่างไร?

ผู้ฉีดซิโนแวคครบ 2 เข็มตั้งแต่เดือน มี.ค. – พ.ค. 64 รอ SMS หรือ ยื่นเอกสารรับรองฉีดครบฯ​ ที่หน่วยบริการเดิมที่เคยฉีดวัคซีน ขณะที่คนเมืองนนท์ฉีดซิโนแวคครบ 2 เข็มไม่น้อยกว่า 1 เดือน สสจ.นนทบุรี ฉีดเข็ม 3 แอสตราเซเนกาให้ทันที

24 ก.ย.​ 2564 The Active สำรวจในพื้นที่กรุงเทพมหานครพบมีหน่วยบริการอย่างน้อย 3 แห่งที่เริ่มฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้ประชาชน แห่งแรก โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์ ร่วมกับห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์บางกะปิ ประกาศให้ผู้ที่เคยได้รับวัคซีนซิโนแวค จากโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ครบ 2 เข็ม ในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2564 และไม่เคยป่วยเป็นโควิด- 19 ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาเป็นเข็มกระตุ้น

แห่งที่สอง ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ มีผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม เมื่อเดือน มีนาคม – พฤษภาคม จำนวนทั้งหมด 1.5 แสนคน วันนี้แจ้งนัดหมายผ่าน SMS ให้มารับเข็ม 3 จำนวน 1.5 หมื่นคน จากนั้นจะมีการทยอยฉีดจนครบ คาดว่าในวันที่ 13 ตุลาคมนี้ จะแล้วเสร็จ และจะเปิดให้ผู้ที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็มจากที่อื่นเข้ารับการฉีดที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ โดยจะต้องเป็นผู้ที่ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อม

บรรยากาศฉีดวัคซีน เข็ม 3 ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ วันที่ 24 ก.ย. 2564

ส่วนที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ก็เริ่มฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 วันนี้เช่นกันโดยได้ส่ง SMS แจ้งนัดหมายผู้ที่ฉีดซิโนแวคครบ 2 เข็มช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม เข้ารับการฉีดเข็ม 3 แอสตราเซเนกา 

ประเทศไทยฉีดวัคซีนซิโนแวคมาตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. – 22 ก.ย. 64 มีผู้ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 โดส จำนวน 3,499,802 คน 

  • บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 827,960 คน 
  • ประชาชนทั่วไปที่รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มช่วงมีนาคม-พฤษภาคม 2564 มีประมาณ 550,000 คน 

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ประชาชนที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มไปตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค. – พ.ค. 64 แล้วให้ใช้เอกสารรับรองการรับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มทั้งแบบกระดาษหรือดิจิทัล ไปยื่นลงทะเบียนที่หน่วยบริการเดิมที่เคยฉีดวัคซีน หรือหากจำเป็นต้องฉีดกระตุ้นในจังหวัดอื่น กรณีพื้นที่ กทม.ให้ติดต่อศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ประสานผ่านคอลเซ็นเตอร์ค่ายมือถือ ทั้ง AIS DTAC และ TRUE เพื่อลงทะเบียน 

ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัด ให้ศึกษาระบบการลงทะเบียนและระบบนัดหมายของจังหวัดนั้นหรือประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำหรับหน่วยบริการฉีดวัคซีนให้ตรวจสอบหลักฐาน จัดสรรคิวการฉีดเรียงตามเดือน คือ มี.ค. เม.ย. และ พ.ค. ตามลำดับ และตามปริมาณวัคซีนที่ได้รับ

ขณะที่การตั้งเป้าหมายฉีดวัคซีนโควิด 1 ล้านโดส วันที่ 24 ก.ย. ซึ่งเป็นวันมหิดลแต่ละ เขตสุขภาพดำเนินการฉีดเฉลี่ยเขตละ 1 แสนโดส รวม 12 เขตสุขภาพโดยมีการกระจายระดับจังหวัดและอำเภอต่อไป คาดว่าดำเนินการได้และวัคซีนมีเพียงพอ ส่วนระยะถัดไปจะฉีดวัคซีนให้ครบตามจำนวนที่มีอยู่ 

  • เดือนตุลาคม 24 ล้านโดส 
  • เดือนพฤศจิกายน 23 ล้านโดส
  • เดือนธันวาคม 23 ล้านโดส 

คาดว่าจะฉีดได้เฉลี่ยวันละเกือบล้านโดส วันหยุดประมาณ 3-4 แสนโดส  

สำหรับข้อมูลการฉีดวัคซีน ล่าสุด วันที่ 24 ก.ย. 64 เวลา 12.10 น. ฉีดวัคซีนโควิด- 19 ได้เพิ่มขึ้น 440,452 โดส สะสม 49,030,065 โดส เป็นเข็มแรก 30,677,288  คน  เข็ม 2 จำนวน 17,395,785 คน และเข็ม 3 จำนวน 956,200 คน 

ด้านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี นำร่องฉีดวัคซีนเข็ม 3 เป็นจังหวัดแรกไม่นับกรุงเทพมหานคร หรือ “นนท์ booster” ฉีดวัคซีนเข็ม 3 (booster) เป็นแอสตราเซเนกา โดยมีเงื่อนไข คือ 

  1. เฉพาะผู้ที่พักอาศัยหรือทำงานในจังหวัดนนทบุรีเท่านั้น
  2. เฉพาะผู้ที่ฉีดวัคซีน Sinovac 2 เข็มในจังหวัดนนทบุรีเท่านั้น
  3. ต้องฉีดวัคซีน Sinovac เข็ม 2 มาไม่น้อยกว่า 1 เดือน นับถึงวันฉีดวัคซีน AstraZeneca เป็นวัคซีนเข็ม 3 (booster)

ทั้งนี้ฉีดที่ศูนย์ฉีดภาคสนามศูนย์กีฬากำธน สินธวานนท์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (บางกรวย)

  • วันที่ 28 ก.ย. 64 จำนวน 3,000 คน
  • วันที่ 29 ก.ย. 64 จำนวน 5,000 คน
  • วันที่ 30 ก.ย. 64 จำนวน 5,000 คน

ทั้งนี้ เปิดให้เข้าระบบเพื่อยืนยันนัดตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 27 ก.ย. 64 ก่อนเวลา 17:00 น. https://ssjnonthaburi.moph.go.th/nontbooster/ เป็นการยืนยันนัด แบบทราบวันนัด และสนามฉีดชัดเจนแล้ว ถือเป็นการยืนยันนัดทันที (ไม่มีการแจ้ง SMS) ในใบนัดจะแสดงสถานที่นัด วันและเวลานัดหมายชัดเจน ขอให้ไปตามเวลานัดหมาย เพื่อเป็นไปตามมาตรการ Social Distancing

กรมวิทย์ฯ​ เผยผลศึกษาการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 เข้าในผิวหนังสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ได้ศึกษาการทดสอบภูมิคุ้มกันและความปลอดภัยจากการได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 โดยทำการศึกษาในกลุ่มประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวคแล้ว 2 เข็ม และกระตุ้นเข็ม 3 เป็นวัคซีนแอสตราเซเนกา อายุระหว่าง 18 – 60 ปี จำนวน 95 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม 

  • กลุ่มแรกฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา 1 โดส (0.5 ml.) เข้ากล้ามเนื้อ จำนวน 30 คน 
  • กลุ่มที่ 2 ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา 1/5 โดส (0.1 ml.) ฉีดเข้าในผิวหนัง จำนวน 31 คน(ระยะศึกษา 4-8 สัปดาห์) 
  • กลุ่ม 3 ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา 1/5 โดส (0.1 ml.)ฉีดเข้าในผิวหนัง  จำนวน 34 คน (ระยะศึกษา 8-12 สัปดาห์)โดยทำการศึกษาจากการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกัน (Antibody responses) และการตอบสนองของทีเซลล์ (T cell responses)

ผลการศึกษา 14 วันหลังจากได้รับการกระตุ้นวัคซีนเข็มที่ 3 พบว่า 

  • กลุ่มที่ 1 ฉีดวัคซีนแอสตราเซนเนกา 1 โดส เข้ากล้ามเนื้อ ระดับภูมิคุ้มกันเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,652 AU (Arbitrary Unit ) 
  • กลุ่มที่ 2 และ 3 ฉีดวัคซีนแอสตราเซนเนกา 1/5 โดส ฉีดเข้าในผิวหนัง ระดับภูมิคุ้มกันเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,300.5 AU (Arbitrary Unit )  จากเดิมหลังฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มระดับภูมิคุ้มกันอยู่ที่ 128.7 AU (Arbitrary Unit ) 

นอกจากนี้ระดับภูมิคุ้มกันในการยับยั้งการเข้าสู่เซลล์ของเชื้อไวรัสโควิด- 19 สายพันธุ์เดลตา การกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยวัคซีนแอสตราเซเนกาฉีดเข้าในผิวหนังสามารถยับยั้งได้ถึง 234.4 AU (Arbitrary Unit )  จากเดิมที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็มยับยั้งได้ 16.3 AU (Arbitrary Unit) 

ส่วนการตอบสนองของเซลล์เม็ดเลือดขาวหรือทีเซลล์ต่อโปรตีนหนามแหลมของเชื้อไวรัสโควิด- 19 ซึ่งมีหน้าที่สู้กับไวรัสเมื่อไวรัสเข้าสู่เซลล์แล้ว พบว่า ทั้งสามกลุ่มมีการทำงานของทีเซลล์ต่อโปรตีนหนามแหลมที่ดีขึ้นกว่าเดิมที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม

สำหรับอาการข้างเคียง 7 วันหลังการได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 พบว่า การฉีดในผิวหนังจะมีอาการแดง บวมและคัน มากกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ส่วนการฉีดเข้ากล้ามเนื้อจะมีอาการปวดเมื่อย ปวดศรีษะ อ่อนเพลียและหนาวสั่นมากกว่าการฉีดในผิวหนัง 

นพ.ศุภกิจ  ศิริลักษณ์  อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า ข้อดีของการฉีดวัคซีนเข้าในผิวหนังคือ มีคนที่ได้รับวัคซีนเป็นไข้ในอัตราส่วนที่ลดลงเมื่อเทียบกับการฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ โดยที่ยังกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีพอๆกัน เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงวัคซีนเพราะใช้วัคซีนปริมาณน้อยกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS