‘แอมเนสตี้ อินเตอร์ฯ’ เรียกร้อง “จัดสรรวัคซีนให้ประเทศยากจน 2 พันล้านโดส” ก่อนสิ้นปีนี้

ชี้ 6 บริษัทผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 กำลังเร่งวิกฤตด้านสิทธิมนุษยชนด้วยทรัพย์สินทางปัญญา เปิดตัวแคมเปญนับถอยหลัง 100 วัน เรียกร้องจัดสรรวัคซีนให้ประเทศรายได้ต่ำ-ปานกลางระดับต่ำ

วันนี้ (22 ก.ย. 2564) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดรายงานฉบับใหม่ชื่อ “ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีนเข็มสอง : บริษัทยาและวิกฤตด้านวัคซีนโควิด-19” (A Double Dose of Inequality : Pharma companies and the Covid-19 vaccine crisis) ซึ่งได้ทำการประเมินบริษัทผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้แก่ แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด (มหาชน) , ไบออนเทค เอสอี, จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน, โมเดอร์นา อิงค์, โนวาแวกซ์ อิงค์ และไฟเซอร์ อิงค์ โดยระบุว่า เป็นปัจจัยเร่งให้เกิดวิกฤตด้านสิทธิมนุษยชนอย่างที่ไม่เคยเป็น เนื่องจากปฏิเสธยกเว้นการบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และการแบ่งปันเทคโนโลยีด้านวัคซีน โดยบริษัทส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการจัดสรรวัคซีนให้ประเทศยากจน สะท้อนภาพอุตสาหกรรมที่ไม่เคารพสิทธิมนุษยชน

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่ลแนล (ภาพจากเว็บไซต์ amnesty)

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่ลแนล เผยว่า การฉีดวัคซีนให้ประชากรทั่วโลกเป็นหนทางเดียวที่จะสามารถหลุดพ้นจากวิกฤตได้ ถึงเวลาที่ควรยกย่องบริษัทเหล่านี้ในฐานะวีรบุรุษ ที่สามารถพัฒนาวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว แต่ในทางตรงกันข้าม เป็นเรื่องที่น่าละอายและเป็นความเศร้าสลดของคนจำนวนมากที่บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ กลับขัดขวางการถ่ายทอดความรู้ และมุ่งทำสัญญาขายวัคซีนให้กับประเทศร่ำรวย ส่งผลให้เกิดความขาดแคลนวัคซีนตามที่คาดการณ์ไว้ และสร้างความเสียหายร้ายแรงให้กับประเทศอื่น ๆ อีกมากมาย

“หลายประเทศในแถบละตินอเมริกา แอฟริกาและเอเชีย ต้องประสบกับวิกฤตครั้งใหม่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพที่อ่อนแออยู่แล้วให้ถึงจุดต่ำที่สุด ก่อให้เกิดการเสียชีวิตที่ควรจะป้องกันได้ของคนจำนวนหลายหมื่นคนในทุกสัปดาห์ ในหลายประเทศที่มีรายได้ต่ำแม้แต่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนกลุ่มเสี่ยงก็ยังไม่ได้รับและเข้าถึงวัคซีน ท่ามกลางความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงเหล่านี้ ไบออนเทค โมเดอร์นา และไฟเซอร์ น่าจะมีรายได้รวมกัน 130 พันล้านเหรียญภายในสิ้นปี 2565 ผลกำไรไม่ควรสำคัญเหนือกว่าชีวิตคน”

ภาพจากเว็บไซต์ amnesty

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดตัวแคมเปญรณรงค์ระดับโลก “นับถอยหลัง 100 วัน #100DayCountdown” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก และข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เพื่อเรียกร้องรัฐต่าง ๆ และบริษัทผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 ให้เปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานอย่างจริงจัง ด้วยการส่งมอบวัคซีนจำนวน 2 พันล้านโดสให้กับประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางระดับต่ำก่อนสิ้นปีนี้ ตามเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก ที่จะฉีดวัคซีนให้ประชากรในประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางระดับต่ำ 40% ภายในสิ้นปี 2564

“เราเรียกร้องให้รัฐต่าง ๆ จัดสรรวัคซีนที่เกินความจำเป็นหลายร้อยล้านโดส ซึ่งปัจจุบันถูกเก็บไว้เฉย ๆ และให้บริษัทผลิตวัคซีนดำเนินการเพื่อส่งมอบอย่างน้อย 50% ของวัคซีนที่ผลิตได้ให้กับประเทศรายได้ต่ำเหล่านี้ หากรัฐและบริษัทยายังคงดำเนินการตามทิศทางในปัจจุบัน เราย่อมมองไม่เห็นทางที่จะหลุดพ้นจากปัญหาโรคโควิด-19 ได้”


ทั้งนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า บริษัทยาได้รับเงินอุดหนุนจากภาษีของประชาชนหลายพันล้านเหรียญ และยังได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการจากสถาบันวิจัยต่าง ๆ จนทำให้พวกเขากลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวัคซีนที่สามารถช่วยชีวิตคนได้ ตอนนี้ พวกเขาต้องดำเนินการส่งมอบวัคซีนหลายพันล้านโดสให้กับประชาชนโดยทันที เพื่อให้มีคนได้รับการฉีดวัคซีนจำนวนมากขึ้น และเพื่อความเป็นธรรมและรวดเร็ว บริษัทผู้ผลิตวัคซีนต้องให้ความสำคัญกับการส่งมอบให้กับประเทศที่ต้องการใช้วัคซีนมากสุด และต้องระงับการบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ต้องถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี และอบรมให้ผู้ผลิตที่มีคุณสมบัติสามารถช่วยเร่งการผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม