‘กุมารแพทย์’ เร่งหาแนวทางรักษา MIS-C ใน 2 สัปดาห์

ชี้ อัตราการเกิดภาวะอักเสบหลายระบบหลังติดเชื้อโควิด-19 ในเด็ก หรือ MIS-C ในไทยพบได้ 1 ต่อ 1,500 คน สูงกว่าสหรัฐอเมริกา คาด เพราะเด็กไทยยังไม่ฉีดวัคซีน

21 ก.ย. 2564 ผศ.นพ.สิระ นันทพิศาล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทางคลินิก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะ กุมารแพทย์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน เปิดเผยกับ The Active ว่า กลไกการเกิดภาวะ มิสซี MIS-C (Multisystem inflammatory syndrome in children) หรือ กลุ่มอาการอักเสบของหลาย ๆ ระบบในร่างกาย เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกกระตุ้นให้ทำงานมากกว่าปกติ และทำให้มีการกระตุ้นการอักเสบไปเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นผลจากการติดเชื้อ แต่ไม่เกี่ยวกับการติดเชื้อโดยตรง 

อาการที่แสดงออกมา มักมีอาการเส้นเลือดอักเสบ ร่วมกันกับระบบทางเดินอาหารเช่น มีไข้ ท้องเสีย มีผื่นตามตัว มีอาการตามระบบประสาท 

จากรายงานในต่างประเทศ พบภาวะนี้ค่อนข้างน้อย เช่น ที่สหรัฐอเมริกา มีเด็ก ประมาณ 4 พันคน จากเด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 5.5 ล้านคน มีภาวะ MIS-C ซึ่งถือว่าไม่มากนัก  

ขณะที่ประเทศไทย เฉพาะที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ รักษาคนไข้เด็กติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 700-800 คน พบเคสที่เกิดภาวะ MIS-C ทั้งที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ และจากคนไข้ที่ส่งตัวมาจากที่อื่น

ซึ่งจากจำนวนเด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 ในไทยเวลานี้ ราว ๆ 150,000 คน พบเด็กที่มีอาการ MIS-C กว่า 100 คน นั่นหมายความว่า จะพบเด็กที่มีอาการนี้ในอัตรา 1 คน ต่อ 1,500 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าสหรัฐฯ โดยเวลานี้กำลังมีการรวบรวมแนวทางการรักษาอาการ MIS-C ซึ่งประกอบไปด้วยกุมารแพทย์จากทุก ๆ สาขา

กุมารแพทย์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันคนนี้บอกอีกว่า การวินิจฉัย ที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลก กรมควบคุมโรคสหรัฐฯ และราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ที่อังกฤษ ก็ดูจากประวัติการติดเชื้อเป็นหลัก ถ้าเด็กติดโควิด-19 มาก่อน 2 – 6 สัปดาห์ มีไข้ ท้องเสีย มีผื่น ตาแดง ก็สามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็น  MIS-C 

เร่งหาแนวทางรักษาใน 2 สัปดาห์ 

ความรุนของอาการ  MIS-C แบ่งได้จากมากไปน้อย ขึ้นอยู่กับการแสดงอาการของหัวใจ ระบบหลอดเลือด โดยเฉพาะหากมีอาการเส้นเลือดหัวใจอักเสบ ก็ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความรุนแรง 

“เรากำลังรวบรวมข้อมูลอยู่ว่า อาการ  MIS-C ทั้งหมดมีอาการแสดงมากน้อยแค่ไหน” 

ไม่ใช่เด็กโตอย่างเดียวที่มีอาการ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทางคลินิก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า คนไข้ 2 คนในโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เป็นเด็กอายุ 1 ปี และ 2 ปี ที่มีอาการ MIS-C แต่ยังไม่เจอว่ามีการเสียชีวิต 

แนวทางการรักษาคือ 1. พยายามใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ด้วยการฉีดสเตียรอยด์ 2. ภูมิคุ้มกันสกัดออกมาจากน้ำเหลือง ซึ่งมีมูลค่าสูงมาก ปริมาณการใช้ยาขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวเด็ก ถ้าหนัก 10 กิโลกรัมต้องใช้ยาทุก 2 หมื่นบาท และอย่างน้อยหลังรักษาแล้ว ต้องมีการประเมินอาการจากกุมารแพทย์โรคหัวใจ  อายุรแพทย์โรคหัวใจ เพื่อดูการทำงานว่า ตัวของหัวใจปกติดีหรือไม่ ซึ่งจะบ่งชี้ว่าคนไข้มีพยาธิสภาพเรื้อรังในระยะยาว หรือไม่ 

“เราพยายามออกแนวทางการรักษาให้เสร็จภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ ผู้ใหญ่ก็มีโอกาสเป็นเช่นกัน พบทั้งทารกแรกเกิด แต่กลุ่มอายุที่เจอเยอะคือเด็ก” 

สาเหตุสำคัญที่อาการหลังติดเชื้อดังกล่าวพบในเด็กเป็นส่วนมาก ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทางคลินิก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าเพราะกลุ่มผู้ใหญ่ได้รับวัคซีนกันแล้ว แต่ในเด็กที่อายุ น้อยกว่า 18 ปี หรือ น้อยกว่า 12 ปียังไม่ได้รับวัคซีน ในระยะ 2 – 3 เดือนที่ผ่านมา อัตราส่วนการเป็นโรคระหว่างผู้ใหญ่กับเด็กนั้นพบว่าเด็กมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น และเมื่อมีเด็กติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้น ก็มีโอกาสเจอ MIS-C มากขึ้นด้วย 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS