สธ.ส่งทีมนักระบาดวิทยาคุมโควิด-19 เกาะภูเก็ต ก่อนเทศกาลกินเจ 6 ต.ค. นี้

ป้องกันผลกระทบด้านการท่องเที่ยว เร่งฉีดวัคซีนเพิ่มความครอบคลุมให้มากที่สุด เน้นกลุ่ม 608 และแรงงานเคลื่อนย้าย  

หลัง จ.ภูเก็ต นำร่องโครงการรับนักท่องเที่ยว หรือ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นวันละกว่า 200 คน เป็นคนในพื้นที่จากการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในพื้นที่ ขณะที่นักท่องเที่ยวโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์กว่า 30,000 คน พบผู้ติดเชื้อเพียง 89 คน จากระบบการคัดกรองที่เข้มงวดตั้งแต่ก่อนเข้าประเทศ รวมทั้งได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดมาแล้ว และเฝ้าระวังกำกับติดตามระหว่างท่องเที่ยวในจังหวัด

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุวันที่ 15 กันยาย 2564 ว่า ได้ส่งทีมจากกองระบาดวิทยา และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 กรมควบคุมโรค ลงพื้นที่สนับสนุนการป้องกันควบคุมโรคของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต สอบสวนโรค พร้อมเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง 608 และแรงงานเคลื่อนย้ายเข้ามาใหม่ ให้ครอบคลุมมากที่สุด และประเมินประสิทธิผลของวัคซีน เพื่อพิจารณาให้เข็มกระตุ้นในกลุ่มเสี่ยง นอกจากนี้ ได้สั่งการให้เตรียมความพร้อมในการดูแลผู้ติดเชื้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสีเขียว 

นายแพทย์เกียรติภูมิ ระบุจากรายงานของผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 11 พบว่าการติดเชื้อในจังหวัดภูเก็ตส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ อยู่ในชุมชนที่มีแรงงานข้ามชาติที่หมุนเวียนเข้ามาทำงาน ส่วนนักท่องเที่ยวที่ติดเชื้อนั้นมาจากการหย่อนมาตรการป้องกันตนเอง จึงขอให้ทุกคนใช้มาตรการป้องกันตนเองขั้นสูงสุด ทุกที่ ทุกเวลา และเข้ารับการฉีดวัคซีนตามนัดหมาย ส่วนสถานประกอบการ/ โรงแรม/ ร้านอาหาร ขอให้เข้มมาตรการ COVID Free Setting ตามมาตรฐานกรมอนามัย เพื่อให้จังหวัดภูเก็ตปลอดภัย มีทรัพยากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขพร้อมรับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างมั่นใจ

ด้านนายแพทย์พิทักษ์พล บุญยมาลิก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 11 กล่าวว่าผู้ติดเชื้อที่พบส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสีเขียวกว่า 85% ได้ส่ง CCRT ลงพื้นที่ชุมชนทั่วทั้งภูเก็ต ค้นหาเชิงรุกด้วย ATK คัดกรองผู้ติดเชื้อเข้าระบบการรักษา ให้ยาทันที โดยกลุ่มสีเขียวรักษาใน HI/ CI และส่งผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงเข้าโรงพยาบาล 

ส่วนการฉีดวัคซีนให้กลุ่ม 608 และกลุ่มเสี่ยง ระดมบุคลากรจังหวัดใกล้เคียงมาช่วยลงพื้นที่ในคลัสเตอร์ ที่ยังมีผู้ป่วยติดค้างในชุมชน พร้อมทั้งจัดตั้ง “คลินิกอุ่นใจ” ที่ศาลากลางจังหวัดหลังใหม่ ให้บริการครบวงจร 

ตรวจยืนยันผู้ตรวจ ATK ด้วยตนเองได้ผลบวกเข้าระบบการรักษา มีเอกซเรย์เคลื่อนที่ และเปิดศูนย์ปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือ จำนวน 20 คู่สาย ให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง โดยจะเร่งดําเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ 

ขณะที่การจัดงานประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต จะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 6-14 ตุลาคม 2564 แต่สถานการณ์โควิด-19 วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต ได้เชิญ สมาคม ชมรมอ๊าม หรือศาลเจ้าใน จ.ภูเก็ต ร่วมประชุมหารือกันกำหนดแนวทางการจัดงาน รวมถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 นายปิยพงศ์ ชูวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า ที่ประชุมมี 3 ข้อสรุป คือ

  1. พิธีกรรมต่างๆ ที่มีม้าทรงจะลดลงเพื่อลดจำนวนคนดูคนที่มาชมให้มีจำกัด 
  2. โรงครัว วางมาตรการป้องกันหากเกิดโรคต้องปิดโรงครัวทำความสะอาดฆ่าเชื้อเปลี่ยนชุดแม่ครัว
  3. การตั้งร้านค้า ทำได้โดยเคร่งครัดมาตรการควบคุมโรค

จาก 3 แนวทางนี้ ให้วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ตสรุปเป็นข้อเสนอให้คณะกรรมการโรคติดต่อจ.ภูเก็ต พิจารณาโดยเร่งด่วน เพื่อให้เกิดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนแก่ทุกศาลเจ้าได้เตรียมการจัดงานได้ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS