น้ำท่วม “ภูเก็ต” เป็นเกาะติดทะเล ทำไมจึงท่วม ?

นักวิชาการตั้งโจทย์ท้าทายเขตเมือง วางระบบระบายน้ำ เหตุแนวโน้มฝนมากขึ้นทุกปี จัดการใช้ประโยชน์ที่ดิน รองรับน้ำส่วนเกิน ก่อนท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ – ที่อยู่อาศัย

หลังจากที่ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ออกประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ ช่วงวันที่ 19 – 23 ตุลาคมนี้ ตลอดจนการเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝนในเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม เราเริ่มเห็นสัญญาณน้ำท่วมอย่างในเขต “เมืองภูเก็ต” ย่านเศรษฐกิจสำคัญ ที่ได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกหนัก ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในเขตเมืองมาแล้ว 2 ครั้งในสัปดาห์ที่ผ่านมา The Active ชวนวิเคราะห์สาเหตุและการเตรียมพร้อมรับมือเรื่องนี้ ไปกับ รศ.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานวิจัยเข็มมุ่งด้านการบริหารจัดการน้ำ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

เกาะติดทะเล ไม่รับน้ำจากแม่น้ำ ทำไมจึงท่วม ?

รศ.สุจริต กล่าวว่า ที่ผ่านมาอิทธิพลจากพายุไต้ฝุ่น “นาสาท” ที่พัดเข้ามาจากเวียดนาม และลมด้านตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้เกิดฝนตกด้านทะเลอันดามันอย่างต่อเนื่อง มีฝนสะสมมากกว่า 150 มม. ในบริเวณจังหวัดกระบี่ พังงา ภูเก็ต และทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ดังกล่าวด้วย อย่างเช่นใน ภูเก็ต แต่ข้อน่าสังเกต คือ ฝนที่ตกลงมาในเขตเมือง ทั้งที่ภูเก็ตเป็นเกาะ ที่มีพื้นที่ส่วนใหญ่ติดทะเล และไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำในแม่น้ำที่เอ่อล้นเข้ามา ทำไมยังมีน้ำท่วม นั่น เป็นเพราะ การเตรียมตัวของพื้นที่ในเขตเทศบาล “ยังไม่ดีพอ”

“ภูเก็ต ฝนตกในเมืองแท้ๆ ทั้งที่เป็นเกาะ ไม่มีแม่น้ำมาเกี่ยวข้อง น้ำสามารถไหลออกทะเลได้เลย แต่น้ำก็ยังท่วม เป็นเพราะในเขตเมือง ภาวะการระบายน้ำไม่เพียงพอต่อฝนที่ตกลงมา ต้องทราบก่อนว่าฝนตกมามากกว่าเดิม ตอนนี้ตกลงมา 100 มม. ขึ้นไป ท่อระบายน้ำที่มีอยู่ ไม่เพียงพอที่จะระบายน้ำออกได้ทัน…” 

รศ.สุจริต กล่าวต่อว่า จากนี้ไปในระยะสั้น สภาพไต้ฝุ่นและลมตะวันตกเฉียงใต้ยังต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมอีกด้วย เพราะ โอกาสจะมีไต้ฝุ่นจากมหาสมุทรอินเดียมาเพิ่ม ยังคงมีอยู่ด้วย ตอนนี้ในพื้นที่เขตเทศบาล และท้องถิ่นในระดับย่อยลงไปจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว

ตอนนี้ในส่วนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้านั้น ถนนกลายเป็นท่อระบายน้ำไปโดยปริยายแล้ว เทศบาลแต่ละเมืองต้องเริ่มทำคันกั้นน้ำ ดูแลระบบระบาย เตรียมเครื่องสูบน้ำที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสูบน้ำออกไปยังทะเลอย่างรวดเร็ว อีกทั้งต้องเตรียมแผนเผชิญเหตุกรณีน้ำท่วมฉับพลัน คือ การจัดเตรียมพื้นที่หลบภัย พื้นที่อพยพ และการช่วยเหลือฉุกเฉินอื่นด้วย

ในส่วนของการแก้ปัญหาระยะยาวนั้น รศ.สุจริต แนะนำว่า ควรพิจารณาวางแผนแก้ไข ป้องกัน โดยดูจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน ทางน้ำ และสภาพอากาศ ซึ่งจะมีความรุนแรงมากขึ้น โดยต้องมีการแบ่งการทำงานของแต่ละระดับ คือ รัฐบาลส่วนกลาง ต้องดูแลลำน้ำสายหลัก แต่ลำน้ำสายย่อยเป็นเรื่องของท้องถิ่นที่ต้องดู ต้องสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นใน 3 ระดับ คือ ส่วนกลาง ส่วนจังหวัด และส่วนท้องถิ่น ว่าจะทำงานร่วมกันอย่างไร 

“เราต้องมีผังน้ำ จะทำให้เกิดความชัดเจนว่าน้ำแต่ละที่ จะไหลไปได้เท่าไหร่ และจะไหลไปทางไหน สมมติว่า ฝนตกลงมา 100 มม. ไหลไปได้ 80 มม. อีก 20 มม. ก็ต้องมีที่ให้น้ำอยู่ ไม่ใช่ไปท่วมถนน จะทำอย่างไร ง่ายที่สุด คือ แต่ละเมืองต้องมีพื้นที่สีเขียวมารองรับ…” 

รศ.สุจริต กล่าวต่อว่า จะนำไปสู่ “การใช้ประโยชน์ของพื้นที่” ซึ่งท้องถิ่นต้องคำนวณให้เพียงพอ ว่าจะใช้พื้นที่ตรงไหน คอยซับน้ำเอาไว้ แต่ปัญหาที่เจอในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา คือ พื้นที่ซึ่งเคยซับน้ำแต่เดิม ตอนนี้กลายเป็นบ้านจัดสรรไปหมด การใช้ประโยชน์ของพื้นที่ที่ต้องทำระยะยาว แนวดิ่ง คือ จัดให้น้ำไหลไปได้ แบ่งงานกันให้ดี ส่วนแนวราบพื้นที่ในเขตเมือง ต้องจัดสรรว่าตรงไหนจะเป็นพื้นที่สีเขียว พื้นที่รองรับน้ำ ถ้าเราสามารถคำนวณได้ จะสามารถสร้างความมั่นคงในระยะยาว แต่ทุกอย่างต้องทำบนฐานของข้อมูลด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active