‘พีมูฟ เชียงใหม่’ จี้ ยุติออกกฎหมายลูก พ.ร.บ.อุทยานฯ-คุ้มครองสัตว์ป่า

หวั่น ชุมชนดั้งเดิมอาจกลายเป็นผู้บุกรุก เพิ่มความขัดแย้งระหว่างรัฐและประชาชน ยื่นหนังสือถึง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านผู้ว่าฯ 18 จังหวัด ย้ำ ละเมิดสิทธิชุมชน – ขาดการมีส่วนร่วม

13 ส.ค. 2564 – ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ กลุ่มพีมูฟ จังหวัดเชียงใหม่ เดินทางไปที่ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ เข้ายื่นหนังสือถึง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ยุติกระบวนการบังคับใช้กฎหมายลำดับรองประกอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เหตุละเมิดสิทธิชุมชนและขาดการมีส่วนร่วม โดยมี รัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับหนังสือ

หนังสือระบุว่า ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ได้ติดตามการออกร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มีเนื้อหาและกระบวนการที่เป็นข้อกังวลที่จะกระทบสิทธิชุมชน โดยเรียกร้องกระบวนการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นมาโดยตลอด ผ่านคณะกรรมการแก้ไขปัญหาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ที่ พลเอก ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยล่าสุดมีข้อเสนอให้มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืข ผ่านระบบ Zoom เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2564

ในการประชุม ภาคประชาชนเสนอให้มีการทบทวนร่างกฎหมายลำดับรองทุกฉบับ และนำข้อเสนอจากการรับฟังไปรับแก้ไขเพิ่มเติม และนำมาประชุมร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง โดยขณะนี้ให้ชะลอการผลักดันร่างกฎหมายลำดับรองทุกฉบับไว้ก่อนจนกว่าจะมีมติร่วมกัน รวมถึงเสนอพื้นที่ 16 พื้นที่รูปธรรมในการนำร่างกฎหมายลำดับรองลงไปปฏิบัติการในพื้นที่เพื่อศึกษาข้อจำกัดร่วมกันก่อนการประกาศใช้นั้น

“แต่ภายหลังการประชุมร่วมกัน กลับปรากฏว่าเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2564 มีประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายลำดับรองประกอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 จำนวนทั้งสิ้น 12 ฉบับ และวันที่ 7 กันยายน 2564 มีการประชุมคณะกรรมการพัฒนากฎหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 3/2564 ได้มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 จำนวน 4 ฉบับ และเตรียมนำเสนอพิจารณารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงนามนั้น แสดงให้เห็นถึงการไม่เคารพในการเจรจาและละเลยการรับฟังข้อเสนอของประชาชน”

แถลงการณ์ระบุ

อนุรักษ์ อุแสง ปกาเกอะญอชุมชนบ้านแม่ลานคำ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ผู้ได้รับผลกระทบจากการเตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติออบขานทับพื้นที่ชุมชน กล่าวว่า หากกฎหมายลำดับรองประกาศใช้ และยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายป่าอนุรักษ์ทั้ง 2 ฉบับ

“ทุกวันนี้เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ขึ้นมา เขาก็กล่าวหาเราว่าเราบุกรุกป่า ใช้กฎหมายอุทยานฯ มาจัดการพวกเรา ทั้งที่เราอยู่ในพื้นที่ ทำกินมาก่อน แต่ถ้ากฎหมายพวกนี้ออกมาอีกเราคงถูกดำเนินคดีและทำกินไม่ได้อีก เป็นการละเมิดสิทธิชาวบ้าน”

เขาย้ำว่ากฎหมายเหล่านี้ยังขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน แม้จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นแต่ก็ไม่ได้มีการนำไปปรับแก้ จนขณะนี้กฎหมายลำดับรองกำลังจะมีผลบังคับใช้แล้วตนจึงต้องมาที่ศาลากลางจังหวัด และเรียกร้องให้ต้องยุติกระบวนการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวโดยเร็ว

“ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) ขอเรียกร้องให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้มีการกำกับติดตามหน่วยงานในสังกัดปฏิบัติตามแนวทางที่รัฐบาลได้ทำบันทึกข้อตกลงและแนวทางดำเนินการร่วมกับภาคประชาชนไว้ รวมทั้งให้หน่วยงานในความรับผิดชอบปฏิบัติตามข้อเสนอของประชาชนต่อการรับฟังความคิดเห็นการออกกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดยขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) จะมีการติดตามความก้าวหน้าทั้งในระดับนโยบายรวมถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป”

ด้าน รัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ตนจะนำเรื่องร้องเรียนของประชาชนไปดำเนินการนำเรียนถึงนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี หากพิจารณาแล้วว่าไม่เป็นธรรมจะได้นำเรื่องส่งมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป

พีมูฟเปิด 10 เหตุผลทบทวนกฎหมายป่าอนุรักษ์

กิจกรรมยื่นหนังสือดังกล่าวเกิดขึ้นใน 18 จังหวัดทั่วประเทศ เช่น ขอนแก่น ศรีษะเกษ ชัยภูมิ ตรัง ระนอง สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ และลำปาง เป็นต้น โดนก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ได้เปิด 10 เหตุผล ที่ต้องทบทวนแก้ไขกฎหมายป่าอนุรักษ์ พ.ร.บ.อุทยานฯ พ.ศ.2562 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 และกฎหมายลำดับรอง ดังนี้

1) ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ร่างกฎหมายฉบับประชาชนกว่า 10,000 รายชื่อ ถูกเมิน

2) จำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ อย่างน้อย 5 มาตรา ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ประมาณ 80 ล้านไร่ ซึ่งมีพื้นที่ทับซ้อนประมาณ 4.3 ล้านไร่ มีชุมชนอาศัยอยู่ 4,192 ชุมชน เสมือนการจัดตั้งประเทศป่าอนุรักษ์

3) ไม่มีสิทธิชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ รวบอำนาจให้อธิบดีและเจ้าหน้าที่ชี้ชะตาว่าให้ “อยู่” หรือให้ “ออก”

4) ชุมชนดั้งเดิมอาจกลายเป็นผู้บุกรุก เนื่องจากไม่ได้พิสูจน์จากร่องรอยทำกินในพื้นที่ ใช้ภาพถ่ายทางอากาศซึ่งไม่สามารถพิสูจน์ระบบเกษตรบางรูปแบบ เช่น ป่ายางพารา ซึ่งไม่ได้ปลูกต้นไม้เป็นแถว ไร่หมุนเวียน

5) กีดกันคนหลายกลุ่ม เช่น คนที่ไม่มีบัตรประชาชน คนที่ถูกยึดที่ดินและดำเนินคดีจากการทำกินตามวิถีชุมชน

6) ตีกรอบให้ใช้ประโยชน์ชั่วคราวและจำกัด เช่น ขออนุญาตอยู่อาศัยและทำกินได้ครั้งละ 20 ปี โดยถูกประเมินเป็นระยะ หรือการเก็บของป่าและจับสัตว์น้ำได้บางชนิดแค่ 20 ปี โดยต้องมีการทดแทนใหม่ได้ในรอบ 1 ปี และอาจไม่สามารถจำหน่าย

7) แม้ผลการพิจารณาเป็นที่ดินเดิมแต่อาจไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ เนื่องจากถูกพิจารณาเป็นแปลงล่อแหลมคุกคามต่อระบบนิเวศ ตามเกณฑ์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1, 2 ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง

8) ทำลายคุณภาพชีวิต ลิดรอนสิทธิมนุษยชนในหลายด้าน เช่น เจ้าหน้าที่สามารถตรวจค้นโดยไม่ต้องใช้หมายค้นทั้งกลางวันและกลางคืน

9) เพิ่มโทษรุนแรง คดีครอบครองที่ดินฯ จำคุก 4-20 ปี ปรับ 4 แสนบาท ถึง 2 ล้านบาท อาจเรียกค่าเสียหายด้วย กรณีพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1, 2 โทษหนักขึ้นอีกกึ่งหนึ่ง คดีเก็บของป่า จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท

10) เพิ่มความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน ทำลายความร่วมมือที่พยายามสร้างมานับสิบปี

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติทั้งสองฉบับผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อปี 2562 และเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2564 ได้มีการประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (VDO Conference) โดยมี วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธาน ร่วมด้วยจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึง ธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในฐานะฝ่ายเลขานุการ

ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรองประกอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 จำนวนทั้งสิ้น 12 ฉบับ เตรียมประกาศใช้ 8 ฉบับ อีก 4 ฉบับเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พร้อมกันนี้ยังได้ขอบคุณอนุกรรมการฯ ที่ได้ช่วยพิจารณากลั่นกรองร่างกฎหมายลำดับรองทั้งหมด ให้สำเร็จลุล่วงภายใต้กรอบระยะเวลาที่จำกัด

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active