แพทย์ชี้ “วัคซีนเด็ก” ไม่ใช่ปัจจัยหลักให้เปิดโรงเรียน

ระบุการฉีดวัคซีนเป็นเพียงปัจจัยเสริม แนะโรงเรียนจะเปิดได้ปลอดภัย ครูและบุคลากรต้องได้วัคซีนครบ 100% พร้อมมาตรการควบคุมโรคอื่นๆ 

เหตุผลใหญ่ที่ ศบค.ตัดสินใจฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้เด็ก 12 ปีขึ้นไป ภายในเดือนตุลาคมนี้ 4.8 ล้านโดส เพราะหวังจะให้เด็กกลับไปเรียนที่โรงเรียนได้ตามปกติซึ่งก็ตรงกับความต้องการของผู้ปกครองหลายคน หากสามารถคลายข้อกังวลเรื่องผลข้างเคียงได้ โดย อย.ระบุล่าสุด มีเพียงวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์น่า ซึ่งเป็นวัคซีนชนิด mRNA เท่านั้นที่ขึ้นทะเบียนฉีดในผู้อายุ 12 ปีขึ้นไป ส่วนซิโนฟาร์มอยู่ระหว่างยื่นขอขยายอายุการฉีดในเด็ก 3 ขวบขึ้นไป 

ด.ช.อภิชาติ ละเมียดดี นร.ชั้นป.1 โรงเรียนสังกัด กทม. พยายามซ่อมคอมพิวเตอร์ด้วยตนเองเพื่อเข้าเรียนออนไลน์

หนึ่งในเสียงสะท้อนของเด็กและผู้ปกครองเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนเพื่อกลับไปเรียนหนังสือ The Active ได้สำรวจและทดลองเฝ้าดูการเรียนออนไลน์ของ ด.ช.อภิชาติ ละเมียดดี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในวัย 12 ปี ในชุมชนพัฒนา 1 2 3 คลองเตย พบว่ากว่าจะได้เรียนออนไลน์แต่ละครั้ง เป็นไปด้วยความยากลำบาก คอมพิวเตอร์มือสองที่แม่ของเขาซื้อให้ เปิดติดบ้างไม่ติดบ้าง 

ประภา ชุมพลรักษ์ และ ลูกชายวัย 12 ปี

แม้ ประภา ชุมพลรักษ์ จะพยายามให้ลูกได้เรียนออนไลน์สะดวกขึ้นด้วยการซื้อคอมพิวเตอร์มือสอง มาแทนการที่ลูกต้องเรียนผ่านหน้าจอโทรศัพท์วันละหลายชั่วโมง แต่ก็ยอมรับว่า ยังมีปัญหาการเรียนทั้งอุปกรณ์ที่ไม่พร้อม และความสนใจของลูกเมื่อต้องเรียนผ่านออนไลน์ ทั้งนี้เฉพาะปีการศึกษานี้ เกือบ 4 เดือนเต็ม หรือ 1 ภาคเรียนแล้วที่ลูกและเด็กคนอื่นต้องเรียนออนไลน์ที่บ้าน เพราะโรคระบาด

ในฐานะแม่ เธอเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่เด็ก ๆ ควรได้กลับไปเรียนที่โรงเรียน โดยเฉพาะถ้ามีการฉีดวัคซีนให้เด็ก โดยเด็กทุกคนควรฉีดวัคซีน ก่อนกลับไปเรียนหนังสือ แต่ก็ยอมรับว่า กังวลเรื่องผลข้างเคียง จึงหวังให้มีการพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ

ความรู้สึกของประภา ไม่ต่างจากผู้ปกครองคนอื่น ๆ ที่ยังรอคอยให้เด็ก ๆ ได้กลับเข้าโรงเรียนอีกครั้ง โดยหวังว่าวัคซีนจะเป็นทางออก ที่ไม่ส่งผลกระทบตามมาต่อเด็ก ๆ

จากข้อมูลกรมอนามัย ระบุ มีเด็กอายุ 12-18 ปีในไทย กว่า 5 ล้านคน เฉพาะ 1 เม.ย.-14 ส.ค.2564 เด็กกลุ่มนี้ติดเชื้อแล้วกว่า 40,000 คน เสียชีวิต 8 คน ซึ่งทุกคนมีโรคประจำตัว 

ความเห็นเชิงวิชาการของแพทย์เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนเด็ก ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาลระบุว่า ความปลอดภัยของวัคซีนอ้างอิงกับผลการศึกษาทางคลินิก 3 ระยะ เป็นข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์สำคัญ โดยเฉพาะกับวัคซีน mRNA ของไฟเซอร์ ที่กระทรวงสาธารณสาธารณสุข เตรียมนำมาฉีดให้กับเด็กกลุ่มเสี่ยง อายุ 12 – 18 ปี มีผลการศึกษากับเด็กจำนวน 1,000 – 10,000 คน พบว่ามีความปลอดภัย แม้จะมีผลข้างเคียงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แต่ก็พบได้ในอัตรา 1 ต่อ​ 1-2​ แสนคน​ 

“ขณะที่ผลการศึกษาวัคซีนเชื้อตายในเด็ก อยู่ระหว่างเฟส 2 ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าเชื้อตายเป็นเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนดั้งเดิม จึงมีแนวโน้มที่จะเชื่อว่าปลอดภัยกว่า แต่ ศ.นพ.มานพ ย้ำว่ายังไม่มีวัคซีนใดปลอดภัย 100% แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าวัคซีน mRNA นั้นไม่ปลอดภัย”

ในเชิงนโยบาย นพ.มานพ มองว่าการฉีดวัคซีนให้เด็กขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยคือ 1. ในแง่ของความปลอดภัยมีผลการศึกษา หลายทาง และ 2. ปริมาณวัคซีน และการบริหารจัดการวัคซีนว่ามีเพียงพอหรือไม่ เพราะปัจจุบันยังฉีดวัคซีนให้กับผู้ใหญ่ไม่ครบ

ขณะที่ รศ.พญ.อัจฉรา ตั้งสถาพรพงษ์ กุมารแพทย์ด้านโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ศูนย์รังสิต บอกว่า การฉีดวัคซีนในเด็กไม่กังวลเรื่องการสร้างภูมิคุ้มกัน เพราะเด็กมีภูมิคุ้มกันต่อ โควิด-19 ได้ดีกว่าผู้ใหญ่อยู่แล้ว แต่ในเรื่องของความปลอดภัย ก็ขึ้นอยู่กับข้อมูลผลการศึกษา

“ในส่วนของวัคซีนเชื้อตาย อยู่ระหว่างการศึกษา ซึ่งก็อาจจะใช้กับเด็ก ที่อายุต่ำลงมาได้ เบื้องต้นเห็นด้วยว่ากลุ่มเด็กที่ควรได้รับวัคซีนก่อนเป็นกลุ่มแรกควรเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว โดยข้อมูลจากโรงพยาบาล ธรรมศาสตร์ เด็กที่ติดเชื้ออาการหนัก 5 คน ซึ่งทุกคนมีโรคประจำตัว ทั้งนี้ภาพรวมอัตราการติดเชื้อของเด็กที่อายุน้อยกว่า 18 ปี พบมากขึ้นในการระบาดรอบล่าสุด แต่มีอัตราการเสียชีวิตต่ำคือ 1 ต่อ 10,000 คนในขณะที่อัตราการเสียชีวิตของผู้ใหญ่คือ 1 ต่อ100 คน”

อย่างไรก็ตามแพทย์ทั้ง 2 คนมีความเห็นตรงกันว่าวัคซีนเป็นเพียงปัจจัยเดียวเท่านั้นที่ทำให้เด็กกลับไปเรียนที่โรงเรียนได้ สำคัญที่สุดคือครูและบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนควรได้รับวัคซีน 100% รวมทั้งมีมาตรการอื่นที่ควบคุมโรคไปพร้อมกัน รวมทั้งยังต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครองว่าวัคซีนนั้นมีข้อจำกัดคือยังสามารถติดเชื้อได้แต่จะมีอาการไม่รุนแรง

หากดูการฉีดวัคซีนเด็กในต่างประเทศ เดือน ก.ย. กระทรวงสาธารณสุขของชิลีฉีดวัคซีนซิโนแวค กับเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครองในการให้บุตรหลาน มีภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19 เพื่อการกลับเข้าเรียนแบบปกติในสถานศึกษา ขณะที่ประเทศคิวบา เป็นชาติแรกที่ฉีดวัคซีนให้เด็กอายุ 2 ปีซึ่งน้อยที่สุด ด้วยวัคซีนที่พัฒนาเอง คือ อับดาลา และโซเบรานาประเภทโปรตีนซับยูนิต แบบเดียวกับของโนวาแวกซ์จากสหรัฐ

เมื่อเดือน ส.ค. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เริ่มโครงการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มสำหรับเด็กอายุระหว่าง 3-17 ปี ขณะที่สหราชอาณาจักรฉีดวัคซีนโควิดเข็มแรกของไฟเซอร์ให้เด็กอายุระหว่าง 16-17 ปี หลังคณะกรรมการร่วมด้านวัคซีนและภูมิคุ้มกัน (JCVI) เห็นว่าปลอดภัย อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกที่ฉีดวัคซีนเด็กอายุ 12-15 ปี ของไฟเซอร์ ตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา 

สำหรับประเทศไทย แผนการฉีดวัคซีนให้กับเด็กที่ดำเนินการอยู่แล้ว มีในส่วนของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในโครงการ VACC 2 School นำร่องฉีดซิโนฟาร์มบริจาค ให้เด็ก 10-18 ปี  50,000 คน  20 กันยายนนี้ ขณะที่ กทม.เตรียมฉีดไฟเซอร์ให้นักเรียนกลุ่มเสี่ยง อายุ 12-18 ปี เริ่ม 21 กันยายนนี้ และการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้เด็กกลุ่มเสี่ยงจากวัคซีนบริจาค 1.5 ล้านโดสก่อนหน้านี้  

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS