‘เลขาฯ สมาคม อบต.’ ห่วง เลือกตั้งท้องถิ่น ช่วงระบาดโควิด-19 ยังแตะหลักหมื่นคน

ลุ้น ครม. เคาะเลือกตั้ง “อบต. กทม. พัทยา” เลขาธิการสมาคม อบต. หวังเลื่อนออกไป ห่วงประชาชนกลับภูมิลำเนา ส่งผลต่อการแพร่ระบาด ถือเป็นการลิดรอนสิทธิเลือกตั้ง

หลังที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้สรุปผลการประชุมเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2564 โดยเห็นชอบให้เตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น 3 ประเภท ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และเมืองพัทยา

อีกทั้งยังมีรายงานว่า พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.กระทรวงมหาดไทย เตรียมเสนอเรื่องนี้ในการประชุมคณะรัฐมนตรี​ (ครม.) วันที่ 7 กันยายน 2564 นี้ เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นขึ้น เนื่องจากทั้งผู้บริหาร และสมาชิกสภาท้องถิ่นทั้ง 3 ประเภทนี้ ได้ครบวาระการดำรงตำแหน่งทั่วประเทศไปแล้ว ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 ซึ่งเหตุที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ในฐานะรักษาการอยู่จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากเป็นไปตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และประกาศ คสช. ที่เกี่ยวข้อง

The Active สอบถามข้อมูลไปยัง กัมพล กลั่นเนียม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตาหลวง จังหวัดราชบุรี ในฐานะเลขาธิการสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน นายก อบต. และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) มีบทบาทและความรับผิดชอบในการดูแลประชาชนในพื้นที่ และดำเนินการตามมาตรการของรัฐเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกทั้งยังช่วยเหลือเยียวยาประชาชน และจัดตั้งศูนย์พักคอยผู้ติดเชื้อในระดับตำบลอีกด้วย ซึ่งถือว่าต้องทำงานใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุดในขณะนี้

“เหตุใดช่วงเวลาก่อนหน้านี้ ถึงไม่คิดจะเลือกตั้งกันช่วงที่คนติดเชื้อหลักสิบ หลักร้อย จะมาเลือกตั้งช่วงที่คนติดเชื้อหลักหมื่น มันไม่ใช่เวลา”

กัมพล กลั่นเนียม นายก อบต.ตาหลวง
กัมพล กลั่นเนียม นายก อบต.ตาหลวง และ เลขาธิการสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย

กัมพล กล่าวว่า ถ้ามีการเลือกตั้ง นายก อบต. และ ส.อบต. ในช่วงนี้จะส่งผลให้ผู้บริหารท้องถิ่นทั้งหมด ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้ข้าราชการประจำเข้ามารักษาการแทน ซึ่งตนมองว่าวิธีการทำงานของนักการเมือง และข้าราชการนั้นต่างกัน อีกทั้งยังอาจทำให้โครงการต่าง ๆ ไม่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชาชนไม่ได้รับการดูแลอย่างเต็มที่

ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังอยู่ในระดับมากกว่า 10,000 คนต่อวัน และ อัตราการฉีดวัคซีนซึ่งยังไม่ครอบคลุมจำนวนประชากร โดยเฉพาะในต่างจังหวัด กลุ่มเสี่ยงทั้งผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวยังอยู่ในอัตราซึ่งต่ำมาก ในเมื่อมาตรการของรัฐยังคงเข้มงวดเรื่องของการติดต่อสัมผัสกัน และจำกัดการเดินทาง จึงไม่เหมาะที่จะจัดให้มีการเลือกตั้ง เพราะอาจยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายไปมากกว่านี้

เขายังกล่าวด้วยว่า ธรรมชาติของการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น เมื่อมีคนในครอบครัวหรือคนที่รู้จักเป็นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ญาติ พี่น้อง จะเดินทางไปเลือกตั้ง เพื่อเป็นการสนับสนุนคนในครอบครัว ที่มีความใกล้ชิดกันมากกว่าการเลือกตั้งในระดับชาติ หากให้มีการเลือกตั้งจะทำให้ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนากันจำนวนมาก อีกทั้งในสถานการณ์ที่น่ากังวลเช่นนี้ อาจมีผู้ที่อยากใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่ห่วงเรื่องโรคระบาด และไม่ได้ไปใช้สิทธิของตน ถือเป็นการลิดรอนสิทธิของผู้อื่น ในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่

กัมพล เสนอว่า รัฐบาลว่าควรคำนึงถึงสถานการณ์ และความพร้อมต่อการจัดการเลือกตั้ง แม้กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะบอกว่ามีความพร้อม และมาตรการรองรับก็ตาม แต่จากเสียงสะท้อนของท้องถิ่นส่วนใหญ่มองถึงปัญหาที่อาจเกิดจากการแพร่ระบาดมากกว่า ทั้งนี้ ถึงแม้ตนจะเป็นผู้มีส่วนได้เสียต่อการเลือกตั้ง แต่กัมพล ย้ำว่า ตนไม่ได้ขัดขวาง หรือไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง แต่หากเลือกตั้งแล้วจะมีปัญหาตามมา ถือเป็นสิ่งที่ผู้บริหารประเทศจำเป็นต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างเหมาะสม

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้