สภาฯ ถกปมวัคซีน “แอสตราเซเนกา” หวั่น ก.ย. – ต.ค. มีไม่พอเข็ม 2 ทุกสูตร

ส.ส.วิโรจน์ คำนวน เดือน ก.ย. ต้องการแอสตราเซเนกา 10.7 ล้านโดส แต่ส่งมอบแค่ 7.3 ล้านโดส ขณะที่เฟซบุ๊กพรรคก้าวไกล เปิดสัญญาซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกา 34 หน้าไร้เซ็นเซอร์ พบไทยเสียเปรียบชัดเจน 

ความกังวลว่าวัคซีนแอสตราเซเนกาจะมีเพียงพอหรือไม่ หลังกระทรวงสาธารณสุขปรับสูตรวัคซีนผสมซิโนแวคเข็ม 1 แอสตราเซเนกาเข็ม 2 ทั้งยังมีผู้ที่ฉีดแอสตราเซเนกาเข็ม  1 และยังรอฉีดเข็ม 2 อีก ประเด็นนี้ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หยิบยกมาเป็นประเด็นอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่ 2 (1 ก.ย. 2564) ตั้งคำถามกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 

นายวิโรจน์ บอกว่า เดือน ก.ย.-ต.ค.2564 วัคซีนแอสตราเซเนกาจะต้องส่งมอบให้ได้อย่างน้อย 10 ล้านโดส สำหรับการฉีดเข็มแรก เข็มสอง และการฉีดไขว้รัฐบาลจะไปจัดหามาจากไหน เพราะในแผนการจัดหาที่ประกาศล่าสุด ก็บอกว่าจะหาได้ราวเดือนละ 7 ล้านโดสเท่านั้น เมื่อคำนวณดูพบว่า 

เดือน ก.ย. 2564  ต้องการ 10.7 ล้านโดส

  • AZ เข็มแรก 2 ล้านโดส
  • AZ เข็มสอง สูตร AZ+AZ 2.9 ล้านโดส
  • AZ เข็มสอง สูตรไขว้ SV+AZ 5.7 ล้านโดส 

เดือน ต.ค. 2564 ต้องการ 11.9 ล้านโดส 

  • AZ เข็มแรก 2 ล้านโดส
  • AZ เข็มสอง สูตร AZ+AZ 4.2 ล้านโดส
  • AZ เข็มสอง สูตรไขว้ SV+AZ 5.7 ล้านโดส 

“ต้องยอมรับความจริงว่าเรามีวัคซีนแอสตราเซเนกาไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน และแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ไทยจะมีวัคซีนแอสตราเซเนกาถึง 61 ล้านโดสภายในสิ้นปี ตามที่รัฐบาลโฆษณา”

สธ.ดันยอดส่งมอบแอสตราฯแตะ 10 ล้านโดส 3 เดือนปลายปี 64

กำลังการผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกา จากโรงงานบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ที่ได้เพียง 15 ล้านโดสต่อเดือน และส่งมอบให้ไทยได้ 1 ใน 3 คือ 5 ล้านโดสต่อเดือน เป็นที่มาที่ทำให้ไทยขาดแคลนวัคซีนแอสตราเซเนกา และต้องสั่งวัคซีนซิโนแวคเพิ่ม 

แม้มีการปรับสูตรฉีดวัคซีนผสม ซิโนแวค แอสตราเซเนกา แต่วัคซีนแอสตราเซเนกาที่ส่งมอบเพียงเดือนละ 5 ล้านโดสก็ยังไม่เพียงพอ นำมาสู่ข้อเสนอให้ไทยใช้อำนาจจำกัดการส่งออกวัคซีนนอกราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงวัคซีน พ.ศ.2561 

แต่รัฐบาลก็พยายามเจรจากับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องการใช้อำนาจตามกฎหมายดังกล่าว จนล่าสุด (30 ส.ค. 64) นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค ระบุแผนการจัดหาวัคซีนโควิด 19 ตั้งแต่กันยายน-ธันวาคม 2564 จะมีวัคซีนซิโนแวค 12 ล้านโดสในเดือนกันยายน-ตุลาคม เพื่อฉีดเป็นเข็ม 1 ในสูตรวัคซีนไขว้ ส่วนแอสตราเซเนกา จะส่งมอบให้ครบ 61 ล้านโดสในปีนี้ โดยกันยายนส่งมอบ 7.3 ล้านโดส และตุลาคม-ธันวาคม เดือนละ 10 ล้านโดส 

ส่วนไฟเซอร์ 30 ล้านโดส จะส่งมอบกันยายน 2 ล้านโดส ตุลาคม 8 ล้านโดสและพฤศจิกายน-ธันวาคมเดือนละ 10 ล้านโดส รวมวัคซีนที่จัดหาได้ในปี 2564 ทั้งสิ้น 124 ล้านโดส เมื่อรวมกับวัคซีนซิโนฟาร์มและโมเดอร์นาทำให้ไทยมีวัคซีน 140 ล้านโดส

แผนนำเข้าวัคซีน ปี 2564

ซิโนแวคแอสตราเซเนกาไฟเซอร์
ก.พ.0.20.12 
มี.ค.0.8  
เม.ย.1.5  
พ.ค.4  
มิ.ย.1.56 
ก.ค.55.8 
ส.ค.6.55.8 
ก.ย.67.32
ต.ค.6108
พ.ย. 1010
ธ.ค. 1010
รวม31.56130
ที่มา: กรมควบคุมโรค วันที่ 30 ส.ค. 64

ด้าน ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เขียนบทความเตือนรัฐบาลถึงจำนวนวัคซีนแอสตราเซเนกาจะไม่เพียงพอและขอให้ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงวัคซีน พ.ศ. 2561 ให้ความเห็นกับ The Active ว่าในระยะใกล้เดือน ก.ย. ที่จะส่งมอบวัคซีนแอสตราเซเนกา 7.3 ล้านโดสนั้นถือว่าตึงมือ และทราบว่าอาจหาซื้อเพิ่มจากสหภาพยุโรฟให้ถึง 10 ล้านโดส ก็จะทำให้สถานการณ์คลี่คลาย จุดบริการวัคซีนตามต่างจังหวัดคล่องตัวมากขึ้น แต่คงต้องติดตามว่ารัฐบาลจะหามาตามที่วางแผนไว้ได้หรือไม่ 

เปิดสัญญาซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกา ชี้ไทยเสียเปรียบ 

จากการอภิปรายของ นายวิโรจน์ ระบุ ปัญหาการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 กรณี วัคซีนแอสตราเซเนกา คือการแทงม้าตัวเดียว ไม่กระจายความเสี่ยง แผนส่งมอบไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลเคยประกาศไว้ ทำให้ในปีนี้อาจได้ไม่ครบ 61 ล้านโดส 

พรรคก้าวไกล ได้ เผยแพร่เอกสารสัญญาระหว่างแอสตร้าเซนเนก้ากับ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ และรัฐบาลไทย เวอร์ชั่น ไร้เซ็นเซอร์ 34 หน้า ซึ่งผู้ใช้เฟซบุ๊ก ชื่อ Sruit Angkavanitsuk  แปลสรุปใจความสำคัญ เป็นภาษาไทยดังนี้ 

1. ไทยจ่ายเงินก่อน ได้ของทีหลัง (Pre-order)
– จำนวนเงิน 65 ล้านดอลลาร์หรือราว 1,900 ล้านบาท
อ้างอิง: หน้า 10  ข้อ 3.7 

2. หลังจากนั้น ต้องจ่ายทุกๆ รอบที่เขาเอาของมาส่ง
– แต่ถ้าวันหนึ่งของขึ้นราคา ไทยต้องจ่ายราคาที่ขึ้นด้วย ? (หรือจะเลือก ขอลดจำนวนของ โดยขึ้นกับราคาในวันนั้น)
อ้างอิง: หน้า 16 ข้อ 5(c)

3. จ่ายช้าโดนปรับ
– จ่ายช้าเกิน 20 วันจากบิล ปรับแต่ไม่เกิน 7.5% ต่อปี (ของหลัก 100 ล้าน..)
อ้างอิง: หน้า 17-18 ข้อ 5.5

4. กรณีของเสียหาย ชำรุด เรียกคืน
– รับรองการเรียกคืน และค่อยตกลงเรื่องมูลค่าความเสียหาย
อ้างอิง: หน้า 19-20 ข้อ 7,8

5. การส่งมอบวัคซีน
– AZ จะแจ้งไทยล่วงหน้าไม่เกิน 30 วัน ว่าจะพร้อมส่งให้เท่าไหร่
– ไม่มีระบุใดๆ ว่าขั้นต่ำเท่าไหร่ เขาจะส่งให้เราอีกที อีก 10 ปีข้างหน้า ตอนไม่มีโควิดอยู่แล้ว ก็ยังได้ (แต่ถ้าไทยยกเลิกสัญญา ไทยผิด)
อ้างอิง: หน้า 18 ข้อ 6

ขณะที่ น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านการเงิน โพสต์เฟซบุ๊ก Sarinee Achavanuntakul – สฤณี อาชวานันทกุล ระบุ “ต่อไปนี้เวลาใครอยากขายของหรือขายบริการให้หน่วยงานภาครัฐ บอกไปเลยค่ะว่า อยากได้สัญญาแบบสัญญา AstraZeneca เพราะมันดีอย่างเหลือเชื่อสำหรับเราในฐานะคนขาย ดูซิว่าหน่วยงานจะยอมทำสัญญาด้วยไหม”

  1. ไม่มีกำหนดการส่งงานหรือส่งของ มีแต่ตัวเลขกลมๆ ว่าต้องส่งของหรืองานทั้งหมด X ชิ้น เท่านั้น 
  2. ทยอยส่งของหรือส่งงานได้ตามใจชอบ วันไหนก็ได้ ในจำนวนเท่าไหร่ก็ได้ก่อนส่งทุกครั้งแค่วางบิลล่วงหน้า 30 วัน ถ้าหน่วยงานรัฐจ่ายช้าต้องจ่ายดอกเบี้ยมาด้วย
  3. ไม่มีวันหมดอายุสัญญา ส่งงานหรือส่งของครบจำนวน X เมื่อไหร่ สัญญาก็หมดเมื่อนั้น (กี่เดือนกี่ปีก็ได้) 
  4. ระหว่างทาง เรา (คนขาย) มีสิทธิจ้างผู้รับเหมาช่วง (subcontract) คนไหนก็ได้มาทำงานหรือทำของแทนเรา บางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือแม้แต่แจ้งหน่วยงานรัฐล่วงหน้าก่อน
  5. จ่ายเงินมัดจำล่วงหน้า 60% ของราคาของหรืองานทั้งหมด ทันทีที่เซ็นสัญญาถ้าส่งของไม่ได้ ถือว่ารัฐรับความเสี่ยงไป ไม่มีสิทธิได้มัดจำคืน

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS