นายกรัฐมนตรี ปัดบริหารโควิด-19 ล้มเหลว เหตุตายหมื่นศพ

ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ยกทีมเข้าสภาฯ แถลงโต้ส่วนต่างซิโนแวค – สัญญาแอสตราเซเนกาไม่เสียเปรียบ ชี้ ฉีดวัคซีนไปแล้ว 30 ล้านโดส ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง 

1 ก.ย. 2564 – พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร กรณีพรรคฝ่ายค้านหยิบยกหลักฐานมาแสดงระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะการชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลบริหารงานล้มเหลว ประชาชนได้รับผลกระทบจำนวนมากจากการจัดการวัคซีนที่ด้อยประสิทธิภาพและล่าช้า ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งสูงจนล้มระบบสาธารณสุข และมียอดผู้เสียชีวิตสะสม 11,841 คน

โดยนายกฯ ชี้แจงว่า ต้องพิจารณาตัวเลขเหล่านี้ให้รอบด้าน ไม่ดูเพียงยอดคนตาย คนเจ็บรายวัน แต่กลับไม่พูดถึงการรักษาทำให้คนหายป่วยไปเท่าไร เมื่อเทียบกับต่างประเทศ   ไม่แน่ใจว่าแผนเปิดประเทศ ที่ตั้งเป้าไว้ในเดือนตุลาคม 2564 จะสามารถทำได้หรือไม่ แต่ถ้าทำไม่ได้จะเปิดเป็นบางส่วนไปก่อน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 

“เจ็บหรือตายเนี่ย แต่ผมก็ไม่พอใจ เพราะตายคนเดียวผมก็เสียใจใช่ไหม? ผมก็อาจจะต้องขอโทษ ผมทำให้เขาตายหรือเปล่า? ก็ตายเพราะโควิดอะนะ”

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวช่วงท้ายว่า ช่วงนี้ติดโควิด-19 ทำอะไรไม่ได้มากนัก ทำแผนงานโครงการรอไว้เลย ระหว่างนี้มีการพูดคุยกับนักลงทุนผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ภาย 4-5 ปี ประเทศไทยเห็นหน้าเห็นหลังแน่นอน จากโครงสร้างต่าง ๆ ที่ทำไว้ทั้งหมด

ฝ่ายค้านชี้ส่วนต่างวัคซีนซิโนแวค สัญญาซื้อแอสตราเซเนกาเสียเปรียบ 

สำหรับประเด็นการอภิปรายตั้งแต่วันแรก เมื่อ 31 ส.ค.​ ประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย อภิปราย พลเอก ประยุทธ์ และ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในประเด็นมติ ครม. จัดซื้อวัคซีนซิโนแวคที่ง่ายกว่าวัคซีนชนิดอื่น และไม่ได้เป็นการสั่งซื้อแบบรัฐต่อรัฐ แต่เป็นการซื้อกับเอกชนซึ่งปรากฏชื่อผู้ถือหุ้นเป็นเจ้าสัวดังเมืองไทย ทั้งยังพบว่าอาจมีส่วนต่างในการจัดซื้อถึง 2 พันล้านบาท 

 ราคาที่ครม.อนุมัติราคาซื้อจริง
ครั้งที่ 11717
ครั้งที่ 21715
ครั้งที่ 31714
ครั้งที่ 4179.5
ครั้งที่ 5179.0
หน่วย ดอลลาร์/โดส
  • รวมราคาที่ ครม. อนุมัติ 331.5 ล้านดอลลาร์ (10,846 ล้านบาท)
  • รวมราคาซื้อจริง 267.3 ล้านดอลลาร์ (8,748 ล้านบาท)
  • ส่วนต่าง 2,098 ล้านบาท 

นอกจากนี้การจัดซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกา เป็นสัญญาการซื้อแบบผูกขาด ทำให้รัฐเสียเปรียบ โดยตั้งข้อสังเกตถึงความผิดพลาดว่า 1. แทงม้าตัวเดียวไม่บริหารความเสี่ยง 2. สัญญาซื้อขายเสียเปรียบเพราะต้องสั่งซื้อล่วงหน้าและต้องจ่าย 60% เพื่อมัดจำ ในสัญญายังระบุอีกว่าหากผลิตไม่ได้ก็ต้องสูญเงินมัดจำ อีกทั้งไม่ยอมเข้าโครงการโคแวกซ์ตั้งแต่แรกขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านได้ฉีดวัคซีนคุณภาพดีแล้วจากโครงการนี้ 

วันเดียวกัน ทีมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวที่รัฐสภาคู่ขนานไปกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจประเด็นโควิด-19 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงาน 

(จากซ้าย) ผู้อำนายการองค์การเภสัชกรรม, อธิบดีกรมควบคุมโรค, ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ

นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า องค์การเภสัชกรรมเป็นตัวแทนนำเข้าวัคซีนซิโนแวค เนื่องจากทางบริษัทไม่มีตัวแทนในประเทศไทย เพื่อนำมาใช้ระหว่างรอวัคซีนแอสตราเซนเนกา 

ส่วนที่ระบุว่าประเทศไทยซื้อซิโนแวคราคาแพง 17 ดอลลาร์เป็นราคาในล็อตแรก 2 ล้านโดส หากเทียบกับประเทศบราซิลและอินโดนีเซียที่มีราคาถูกกว่านั้นเนื่องจากทั้ง 2 ประเทศนี้เป็นพื้นที่ในการวิจัย มีการซื้อวัคซีนเข้ามาจำนวนมากและเป็นแบบนำมาบรรจุเองทำให้ราคาถูกกว่าประเทศไทยที่ซื้อแบบสำเร็จรูป อย่างไรก็ตามหลังจากมีการเจรจาต่อรองราคาและสั่งซื้อต่อเนื่อง ทำให้สามารถลดราคาลงได้ จาก 17 ดอลลาร์ เหลือ 8.9 ดอลลาร์เฉลี่ยคือ 11.99 เหรียญ

เนื่องจากการซื้อวัคซีนนั้น องค์การเภสัชกรรม เป็นผู้ไปลงทุนซื้อโดยใช้เงินองค์การเภสัชกรรม เมื่อได้วัคซีนแล้วจึงขายให้แก่กรมควบคุมโรค ซึ่งเป็นผู้ดูแลกรอบวงเงินงบประมาณจัดซื้อ โดยเรียกเก็บราคารวมค่าดำเนินการและขนส่งตามความเป็นจริง จึงไม่มีการได้รับส่วนต่างจากกรอบวงเงินที่ตั้งไว้

ด้าน นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า การสั่งซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกา มีการจองซื้อตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 กับผู้ผลิตตั้งแต่ก่อนได้ผลการทดลอง โดยมีเงื่อนไขและมีโอกาสที่จะไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับล่าช้า ซึ่งวัคซีนทุกตัวและทุกประเทศ รวมถึงโครงการโคแวกซ์ ก็เป็นการทำสัญญาในลักษณะการจองซื้อล่วงหน้าเช่นกัน ต้องยอมรับความเสี่ยงร่วมกันระหว่างรอผลวิจัยพัฒนา จึงไม่ใช่การทำสัญญาเสียเปรียบ เนื่องจากไม่ใช่สถานการณ์ปกติที่มีวัคซีนพร้อมให้สั่งซื้อ 

ส่วนการที่ไม่จองซื้อวัคซีนผ่านโครงการโคแวกซ์  เนื่องจากเราพิจารณาตามสถานการณ์ขณะนั้น ซึ่งเมื่อวิเคราะห์แล้วคาดว่าจะส่งมอบวัคซีนล่าช้าและไทยเราอยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้องจ่ายเงิน ไม่ได้รับวัคซีนฟรี ทั้งนี้ ปัจจุบันมี 139 ประเทศที่เข้าร่วมโคแวกซ์มีการส่งวัคซีนไปแล้ว 224 ล้านโดส แต่จากการเจรจาโดยตรงกับบริษัทผู้ผลิตทำให้ได้รับวัคซีนจำนวนมากกว่าและแน่นอนกว่า ขณะนี้ประเทศไทยฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 30 ล้านโดส อย่างไรก็ตาม หากโครงการโคแวกซ์มีสถานการณ์ดีขึ้น เงื่อนไขต่าง ๆ เหมาะสมก็จะพิจารณาเข้าร่วมได้ในเวลาถัดไป

สธ. ปัด ปกปิดตัวเลขผู้ติดเชื้อ ยัน “ซิโนแวค” ลดป่วยหนัก-ตาย 80%

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคร่วมกับหน่วยงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข ประเมินผลและประสิทธิภาพการฉีดวัคซีนซิโนแวค เช่น ที่ จ.ภูเก็ต พบว่าสามารถป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิตได้ 90.6% ส่วนที่สมุทรสาคร พบว่าป้องกันโรคได้ 90% และเมื่อมีการระบาดในบุคลากรสาธารณสุข จ.เชียงราย มีประสิทธิผลป้องกันโรคได้ 82% 

นอกจากนี้กองระบาดวิทยาได้สรุปผลการฉีดวัคซีนภาพรวมตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึงกรกฎาคม 2564 พบว่าสามารถป้องกันโรค 75% ป้องกันป่วยหนักเสียชีวิตได้มากกว่า 80% ยืนยันว่าซิโนแวคมีประสิทธิภาพทั้งการใช้จริงและในห้องทดลอง รวมทั้งสายพันธุ์เดลตาได้ทำการประเมินประสิทธิผลวัคซีนต่อเนื่องพบว่าการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ซิโนแวคตามด้วยแอสตราเซเนกา ได้ผลดีขึ้นกว่าเดิม 3 เท่า

“ยืนยันว่าไม่มีการปกปิดตัวเลข สามารถตรวจสอบได้จากตัวเลขผู้ป่วยที่เข้ารักษาที่โรงพยาบาลลดลงชัดเจน เช่น โรงพยาบาลสนามบุษราคัม จากที่เคยมีมากกว่า 3,500 คน เหลือ 1,500 คน โรงพยาบาลทุกแห่ง คนไข้ลดลง ต่างจังหวัดก็ลด หรือที่ศูนย์นิมิบุตร จากเดิมมีคนไข้รอส่งต่อหลายร้อยคน เหลือไม่ถึง 70 คน”

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS