เจาะปมขัดแย้งจัดซื้อชุดตรวจ ATK “ใคร?” ล็อกสเปก

หมอกลุ่มแพทย์ชนบท ถูก ผอ.องค์การเภสัชกรรมยื่นร้อง ปปช. ล็อกสเปกชุดตรวจ ATK ขณะที่บริษัทซึ่งเข้าประมูล กับเซ็นสัญญาคนละนิติบุคคล “รสนา” เตรียมยื่นจดหมาย กรมบัญชีกลาง – สตง. ตรวจสอบสัญญา ผิด พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง หรือไม่?

การลงนามสัญญาซื้อชุดตรวจโควิด-19 แบบตรวจด้วยตนเอง หรือ ATK ยี่ห้อเล่อผู่ จากจีน ระหว่างองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และบริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ตัวแทนจำหน่าย ATK ของบริษัท ออสท์แลนด์แคปปิตอลฯ ผู้ชนะการประมูลจำนวน 8.5 ล้านชุด มี นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.องค์การเภสัชกรรม เป็นผู้เซ็นสัญญาเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 64 จากนั้นจะมีการนำเข้ามาภายใน 14 วัน โดยล็อตแรกจะส่งมอบวันที่ 7 ก.ย.นี้ จำนวน 2 ล้านชุด และจะมาอีก 6.5 ล้านชุด ในล็อตที่ 2 และ 3 ไม่เกินวันที่ 13 ก.ย. ขณะเดียวกัน ชมรมแพทย์ชนบท ที่ออกมาท้วงติดเรื่องราคาและมาตรฐานก่อนหน้านี้ก็พร้อมเดินหน้าตรวจสอบคุณภาพที่ชนะการประมูลทันทีหลังมีการกระจายชุดตรวจ 

บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) นิติบุคคลลงนามในสัญญาจัดซื้อชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชุด กับองค์การเภสัชกรรม เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 64 / ภาพจากองค์การเภสัชกรรม

ศิริญา เทพเจริญ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการตลาด บริษัทณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) และกรรมการบริหาร บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์(ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าพร้อมรับการตรวจคุณภาพจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือเท่านั้น หากมีการกลั่นแกล้งเสนอข้อมูลเป็นเท็จ บิดเบือน สร้างความเสียหายให้บริษัทและผลิตภัณฑ์ก็จะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้จะส่งให้โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพ 

ขณะที่ นพ.วิฑูรย์  ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ยื่นคำร้องถึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร้องเรียนพฤติกรรมของ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานคณะทำงานกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ คณะทำงาน หลังจากก่อนหน้านี้มีความขัดแย้งกันเรื่องการจัดซื้อชุดตรวจ เนื่องจากเสนอให้จัดหา ATK ด้วยวิธีเจาะจง เพื่อให้ได้มาตรฐาน WHO ในราคาผลิตภัณฑ์รวมขนส่ง ไม่เกิน 120 บาทต่อชุด ส่อเค้าเป็นการล็อกสเปกให้บริษัทใดบริษัทหนึ่ง โดยองค์การเภสัชกรรม มองว่าการจัดหาด้วยวิธีประกวดราคาจะทำให้ได้มาซึ่งความโปร่งใสและได้มาตรฐาน อย.ไทย จึงร้องให้ ป.ป.ช. เข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้

ด้าน นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราชหนึ่งคณะทำงานดังกล่าว บอกกับ The Active ว่า พร้อมให้ ปปช.ตรวจสอบ ทั้งยังมีเอกสารหลักฐานยืนยันว่าดำเนินการภายใต้อำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดเพราะต้องการชุดตรวจที่มีคุณภาพแม่นยำสูง เป็นผลดีต่อการควบคุมโรค 

ขณะเดียวกัน นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท โพสต์เฟสบุ๊ควันที่ 31 ส.ค.  กล่าวถึงกรณี นพ.วิฑูรย์ ร้อง ปปช. ว่าทำให้ชมรมแพทย์ชนบทและเครือข่ายคึกคักอีกครั้งที่จะขุดคุ้ยเรื่องนี้ต่อไป เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของมหากาพย์ทุจริตยาภาค 2

ปมจัดซื้อจัดจ้าง ชุดตรวจ ATK ยี่ห้อเล่อผู่

สำหรับความคืบหน้ากรณีตรวจสอบความโปร่งใสในการจัดซื้อชุดตรวจ ATK ยี่ห้อเล่อผู่ ล่าสุดมีการตั้งข้อสังเกตว่าบริษัทที่เข้าประมูลเมื่อวันที่ 10 ส.ค. คือบริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอลฯ แต่บริษัทที่เซ็นสัญญาเมื่อวันที่ 30 ส.ค. เป็นบริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย)  ซึ่งอาจ ผิด พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พ.ศ. 2560 กรณีนี้ นส.รสนา โตสิตระกูล อดีต สว.กรุงเทพมหานคร เปิดเผยกับ The Active ว่าเตรียมเดินหน้าทำหนังสือถึง กรมบัญชีกลาง และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้ตรวจสอบสัญญาดังกล่าวว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 

ชื่อบริษัท ออสท์แลนด์ฯ ปรากฎบนกระดานเปิดซองเสนอราคา ชุดตรวจ ATK เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 64 ที่องค์การเภสัชกรรม / ภาพจาก สำนักข่าวอิสรา

ขณะที่ ตัวแทน บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย)  ยืนยันกับ The Active ว่าบริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอลฯ เป็นบริษัทผู้นำเข้าชุดตรวจที่นำขึ้นทะเบียนกับ อย. เรียบร้อยแล้วส่วน บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์(ประเทศไทย) ได้เข้าได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนจำหน่ายและมีสิทธิ์เข้าประมูลตามกฏหมาย โดยแสดงเอกสารแต่งตั้ง ลงวันที่ 23 ก.ค.​ ก่อนวันประมูล ทั้งนี้ บริษัทออสท์แสนด์ฯ​ ไม่มีเงินทุนมากพอที่จะนำเข้าชุดตรวจเป็นจำนวนมาก บริษัทเวิลด์ เมดิคอลฯ​ จึงเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ลงทุนเอง โดยจะแบ่งกำไรให้บริษัทออสท์แลนด์ฯ  20%

หนังสือบริษัท ออสท์แลนด์ฯ แต่งตั้ง บริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ เป็นผู้แทนจำหน่าย และเข้าประมูล วันที่ 23 ก.ค.​64

สปสช.เตรียมแผนรอกระจายชุดตรวจ ATK 

ส่วนความคืบหน้าการกระจายชุดตรวจฟรี นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ระบุ พร้อมกระจายชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชุดสู่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงตรวจโควิดด้วยตนเอง ผ่านชุมชนแออัด หน่วยบริการ และร้านยา ซึ่งจะได้รับชุดตรวจ ATK คนละ 2 ชุด เว้นระยะตรวจห่างกัน 5 วัน 

การกระจาย ATK ในชุมชน กทม. มีจำนวน 2,000 ชุมชน กำหนดแจก ATK ชุมชนละ 1,008 ชุด รวมเป็นจำนวน 2 ล้านชุด หากผลตรวจพบเชื้อจะมีการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ให้กับผู้ติดเชื้อและลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการดูแลผู้ป่วยโควิดที่บ้านและในชุมชน (HI/CI) โดยเป็นการดำเนินการในรูป One stop service ตามหลักการ “แจก-เจอ-จ่าย-จบ”  

ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่จะรับ ATK ต้องทำแบบคัดกรองความเสี่ยงในแอปเป๋าตังที่ดำเนินการโดยธนาคารกรุงไทย คลิกที่ “รับชุดตรวจโควิด-19” หากผลประเมินพบว่าอยู่ในเกณฑ์กลุ่มเสี่ยง รับชุดตรวจ ATK ตามหน่วยบริการในพื้นที่โดยสแกน QR Code ในระบบแอปเป๋าตัง และหน่วยบริการจะจ่ายชุดตรวจ ATK ให้จำนวน 2 ชุด

ขณะนี้ มีหน่วยบริการเอกชนที่สมัครเข้าร่วมแจกชุดตรวจ ATK จำนวน 1,559 แห่ง แยกเป็น ร้านยาแผนปัจจุบันประเภท 1 จำนวน 1,436 แห่ง (ร้อยละ 92.11) คลินิกเวชกรรมจำนวน 114 แห่ง (ร้อยละ 7.3) และคลินิกพยาบาลจำนวน 9 แห่ง(ร้อยละ 0.58) อย่างไรก็ตามหากเกิดการแพร่ระบาดมากขึ้น จะมีการเปิดระบบจัดส่งชุดตรวจ ATK ทางไปรษณีย์ต่อไป เพื่อลดการเดินทางและแพร่กระจายเชื้อ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS