ลดความรุนแรง “ชุมนุมดินแดง” เสนอเปิดเวทีรับฟังเยาวชน พร้อมต่อยอดปฏิบัติจริง

แนะอบรมชุด คฝ.แนวปฏิบัติสากลต่อเด็ก ด้านกรรมการสิทธิมนุษยชนเตรียมสรุปข้อเสนอแนะสิทธิเด็กในสถานการณ์ชุมนุมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

การมีเด็กในที่ชุมนุม ไม่ใช่ปรากฎการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นในโลก แต่เป็นปรากฎการณ์ที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นในประเทศไทย เมื่อมีเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 13 ปี ในที่ชุมนุมจำนวนมาก อีกทั้งบางคนก็เป็นแกนนำ ขณะที่มาตรการในการควบคุมการชุมนุมที่เกิดขึ้นบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง และมีการสื่อสารผ่านสื่อหลักและโลกออนไลน์ ล้วนเป็นวิธีการเดียวกันกับการควบคุมการชุมนุมของผู้ใหญ่

วันที่ 30 ส.ค.2564 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับนักวิชาการ และภาคประชาสังคมที่ทำงานเกี่ยวกับกฎหมายและ สิทธิเด็ก จัดการประชุมเสวนาออนไลน์เพื่อประเมินสถานการณ์การชุมนุม แสวงหาทางออกและจัดทำข้อเสนอแนะต่อสิทธิเด็กในสถานการณ์ชุมนุม กรณีการชุมนุมของเยาวชนที่สามเหลี่ยมดินแดงก่อนเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมประชุม ได้ประเมินสถานการณ์และการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่เกิดขึ้นตลอดช่วงที่มีการชุมนุมกว่า 10 วัน ที่ดินแดงว่า การออกมาของกลุ่มเยาวชนที่มีความต่อเนื่องเกิดจากนัยยะ เช่น ความคับข้องใจและถูกกดทับบางอย่างจากระบบเศรษฐกิจ เขาจึงเสนอทางออกเรื่องนี้ ด้วยการเปิดพื้นที่การพูดคุย

“ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับด้วยว่าผู้ชุมนุมไม่มีแกนนำชัดเจนแล้วไม่รู้ว่าจะเจรจากับใคร ไม่รู้ว่าจะสื่อสารหรือทำข้อตกลงกับใคร ตำรวจเองก็ลำบากนะครับ ต้องเข้าใจ แต่ต้องพยายามสร้างช่องทางการสื่อสารให้เกิดขึ้น ซึ่งตอนนี้ที่ดินแดงมีแค่การปะทะ อย่างเดียวผู้ชุมนุมไปถึง 200 ถึง 300 คน ตำรวจก็มาพร้อมกับเครื่องเสียงที่ใหญ่มากและประกาศว่าสิ่งที่พวกคุณกำลังทำเป็นการฝ่าฝืนการควบคุมโรคระบาด ซึ่งมันไม่ Make sense ว่าการเอาโรคระบาดมาควบคุมเขา ในการไม่ให้รวมตัวกันทั้งทั้งที่การรวมตัวกันของพวกเขาเกิดจากผลกระทบของโควิดเขาก็ยิ่งโกรธ การสร้างช่องทางการสื่อสารจึงถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากเช่นการเปิดเวทีพูดคุยเสนอแนวทาง

พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ จาก Article19 องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนนานาชาติที่ทำงานเพื่อปกป้องและส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออก ระบุว่านอกจากเรื่องของการเปิดพื้นที่รับฟังแล้ว ควรจะมีการอบรม ให้กับชุดควบคุมฝูงชนเพื่อที่จะได้เข้าใจและเลือกวิธีการจัดการอย่างถูกวิธีและเหมาะสมด้วย

” อบรม เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน เรื่องการปฏิบัติต่อเด็ก และสิทธิเด็ก เรื่องการใช้แก๊สน้ำตา ควบคุมฝูงชนต้องอบรมด้วย ให้ทราบถึงมาตรฐานระหว่างประเทศ อาจจะขอความร่วมมือจากกรรมการสิทธิ iLAW หรือแอมเนสตี้มาช่วย ซึ่งต้องทำอย่างเร่งด่วน “

พิมพ์สิริ กล่าวอีกว่า ถ้าเราใช้วิธีการสลายการชุมนุมเช่นเดียวกับการกระทำกับผู้ใหญ่ เราจะไม่รู้เลยถึงความเสียหายบางอย่างที่เกิดขึ้นกับสภาพร่างกายและจิตใจ อย่างผู้ใหญ่ที่ถูกจับมัดมือไขว้หลัง หรือว่าถูกทำร้าย ถูกแก๊สน้ำตา ผู้ใหญ่บางคนซึมไปเป็นเดือน บางทีซึมไปเป็นปีก็มี ถ้าผู้ใหญ่ที่ถูกใช้ความรุนแรงโดยตรงแบบนั้น และเรากระทำกับเด็กๆ ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันในชีวิต เท่าผู้ใหญ่ ความเสียหายก็อาจจะเกิดขึ้นในระยะยาว

“ไม่แน่ใจว่าจะมีองค์กรเกี่ยวกับเด็ก หรือว่าใครติดตามระยะยาวไหม ถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับร่างกาย และจิตใจของเด็ก ที่เรียกได้ว่าเป็นอนาคตของชาติหรือเยาวชนของชาติไม่ว่าจะเป็นการใช้แก๊สน้ำตา หรือว่าการใช้กระสุนยาง”

ในทางกฏหมายระหว่างประเทศเด็กหรือเยาวชนมีสิทธิ์ เด็กมีสิทธิ์ในการออกไปชุมนุมประท้วงและแสดงออก มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเท่าผู้ใหญ่ แต่สิ่งที่เด็กควรจะได้มากกว่าผู้ใหญ่และถูกระบุไว้อยู่ในกฎหมายระหว่างประเทศเลยคือการคุ้มครองพิเศษ

ปิยะนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า เป็นเรื่องที่ดีที่จะจัดช่องทางพูดคุยกับเด็ก

“ที่ทำทุกวันนี้มันไม่ได้ผลแล้วการใช้ความรุนแรงไม่ใช่การแก้ปัญหา อะไรก็ตามที่พวกเราทำอยู่ หยุดแล้วให้พื้นที่เขา ที่สำคัญคือ ฟังเขาและเข้าใจสิ่งที่เขาสื่อสาร “

ทั้งนี้ในที่ประชุม สะท้อนภาพรวมและมองปัญหาการชุมนุมที่ดินแดงอย่างหลายมิติทั้งมิติของกฏหมาย พฤติกรรม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และครอบครัว จึงมีข้อเสนอร่วมที่เห็นตรงกันว่า ควรจะมีการเปิดพื้นที่ให้มีการเจรจากันเด็กและเยาวชนที่ไม่ใช่เพียงแค่เด็กในระบบ อีกทั้งการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นควรมีกลไกลการต่อยอดไปถึงกระบวนการปฏิบัติอย่างจริงจังและจริงใจจากผู้ที่มีอำนาจบริหารสูงสุดของประเทศอย่างนายกรัฐมนตรี และเน้นย้ำการอบรมเรื่องสิทธิและกฏหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับเด็กให้กับ เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ต้องไปมากกว่าการรับฟัง กลไกคือต้องเป็นระดับคนที่แก้ปัญหาเขาได้จริง เข้าใจว่าแต่ละตำแหน่งก็ทำหน้าที่ของเขาไป แต่คนที่เสนอผู้บริหารควรรับฟัง และตอบสนอง

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ