นิคมฯ บางปูยังหนัก! รถจม น้ำทะลัก เหตุฝนตกหนัก น้ำทะเลหนุนสูง อุตุฯ เตือน ฝนตกหนักอีก 2-3 วัน

เปิด 14 จุดเสี่ยงน้ำท่วมกรุงเทพฯ แก้ไขแล้ว 2 ที่เหลือยังเสี่ยง นักวิชาการแนะ อย่าประมาท ต้องเตรียมพร้อมปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ภาพ: ห้องข่าว ปภ.

รถจมทั้งคัน น้ำทะลักเข้าบ้านกลางดึก นี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันนี้ (29 ส.ค.2564) ย่านนิคมอุสาหกรรมบางปู อำเภอเมืองสมุทรปราการ โดยเพจเฟซบุ๊ก ที่นี่สมุทรปราการ เผยแพร่ภาพเหตุการณ์น้ำท่วมหนัก และจนถึงช่วงบ่ายวันนี้ก็ยังไม่สามารถระบายน้ำในบางจุดได้โดยเฉพาะบริเวณนิคมอุตสาหกรรมระดับน้ำสูงตั้งแต่ 50 เซนติเมตรไปจนเกือบ 1 เมตร เพราะน้ำในคลอง และ ลำรางสาธารณะมีระดับสูงกว่า

ส่วนที่ ตำบลบางปลา อำเภอบางพลี เกษตรกรผู้เลี้ยงปลา ได้รับความเดือดร้อน หลังฝนตกหนัก ทำให้น้ำท่วมบ่อเลี้ยงปลา ระดับน้ำในคลองเก้าสูง ส่งผลให้ปลาหนีออกจากบ่อ เช่นเดียวกับที่ บริเวณ หน้าวัดหลวงพ่อโต ที่มีน้ำท่วมขัง ทั้งผิวจราจร และ บ้านเรือนประชาชน

ห้องข่าว ปภ.

ปภินวิช ละอองแก้ว หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายป้องกันและปฏิบัติการ ได้ลงสำรวจน้ำท่วมขังในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู พบว่าเกิดจากมีฝนตกหนักตลอดทั้งคืนประกอบกับน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้หลายพื้นที่ในจังหวัดสมุทรปราการได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมสูง เช่น พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู มีน้ำท่วมสูง 50 ซม.รถเล็กไม่สามารถวิ่งได้ , ถนนพุทธรักษาด้านมุ่งหน้าสุขุมวิท ฝั่งตรงข้ามปากซอยโตโยถึงซอยชำนิ มีน้ำท่วมขังทุกช่องทางระดับน้ำสูงเสมอขอบฟุตบาท รถเคลื่อนตัวตามกันได้ไม่หยุดนิ่ง และพื้นที่อำเภอบางพลี บริเวณริมชายคลองติดกับบ่อขยะ มีน้ำท่วมเข้าบ้านเรือนประชาชน บ้านชั้นเดียวไม่สามารถพักอาศัยได้ และบ้านริมคลองอีกหลายหลังคาเรือน

ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา ยังคงเตือนเกือบทุกภาคของไทยเสี่ยงฝนตกหนักน้ำหลาก โดยเฉพาะ ภาคกลางและภาคตะวันออก เพราะ ตั้งแต่วันนี้ -31 สิงหาคม 2564 ประเทศไทยยังมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ส่วนในช่วงวันที่ 1 – 4 ก.ย.นี้ ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกต่อเนื่อง กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เปิดเผยก่อนหน้านี้ ในเวทีเสวนาจับตาสถานการณ์น้ำ 2564 จะเสี่ยงน้ำท่วมใหญ่ไหม พบว่าขณะนี้แนวโน้มน้ำฝนจะตกมากขึ้นและตกเฉพาะจุดซึ่งอาจทำให้จุดเสี่ยงที่เคยถูกท่วมกระทบได้หลังได้ร่วมบริหารจัดการน้ำจากหลายหน่วยงาน พบว่า ถ้าเฉพาะกรุงเทพมหานคร เดิมจะมีจุดเสี่ยงน้ำท่วม 14 จุด ปัจจุบันแก้ไขไปแล้ว 2 จุด เหลืออีก 12 จุด ที่ยังมีความเสี่ยงน้ำท่วม

1.บริเวณ ถนนแจ้งวัฒนะ คลองประปา -คลองเปรมประชากร เขตหลักสี่

2. ถนนรัชดาภิเษก หน้า ธนาคารกรุงเทพ เขตจตุจักร

3. ถนนประชาราษฎร์สาย 2แยกเตาปูน อยู่บริเวณเขตบางซื่อ

4. ถนนราชวิถี หน้า ม.สวนดุสิต-เชิงสะพานกรุงธนฯ ในเขตดุสิต

5. ถนนพญาไท หน้ากรมปศุสัตว์ ถนนศรีอยุธยา เขตพญาไท

6. หน้า สน.พญาไท อยู่ในเขตพญาไท

7. ถนนจันทร์ ซอยบำเพ็ญกุศล-ไปรษณีย์ยานนาวา เขตยานนาวา

8. ถนนสวนพลู สาทรใต้ -นางลิ้นจี่ เขตยานนาวา

9. ถนนสาธุประดิษฐ์ แยกตัดถนนจันทร์ เขตยานนาวา

10. บางขุนเทียน ถนนบางขุนเทียนชายทะเล จากถนนพระราม2-คลองสะแกงาม อยู่ในเขตบางขุนเทียน

11. ถ.เพชรเกษม จากคลองทวีวัฒนา-คลองราชมนตรี เขตบางแค

12. ถนนหมู่บ้านเศรษฐกิจ จากถนนเพชรเกษม-วงเวียนกาญจนาภิเษก เขตบางแค

“เวลานี้ประเทศไทย ยังไม่มีพายุ แต่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติคาดการณ์พายุต้องเข้ามาทุกปี ในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ประมาณ 2-3 ลูกเคลื่อนผ่านบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ในช่วงเดือนสิงหาคม-เดือนกันยายน อาจมีพายุพัดเข้ามา 1-2 ลูก ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนช่วงเดือนตุลาคมอาจมีพายุพัดผ่านเข้ามาทางภาคตะวันออก 1 ลูก และใกล้กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ขณะที่ภาคใต้ ช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม จะมีพายุพัดผ่านเข้ามา 1 ลูก”

ขณะที่ รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า แม้ฝนจะเริ่มเพิ่มขึ้นและท่วมขังแล้วใน กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อย่างที่เกิดขึ้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ แต่ยังไม่รวมสถานการณ์พายุที่จะพาดผ่านประเทศไทยในช่วงนี้ ซึ่งทุกฝ่ายต้องเตรียมรับมือ

“แม้จะเริ่มมีฝนตกหนักในช่วง 1-2 วันนี้ แต่นี่ยังไม่นับเหตุการณ์ระหว่างทางที่อาจมีพายุพัดเข้ามาเพิ่มในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า จึงไม่รู้ว่า ปริมาณฝนจะทำให้รถใครต้องจมน้ำอีก หรือ น้ำจะทะลักเข้าบ้านใคร จุดไหนเสี่ยงฝนตกหนักเกิน 60 มิลลิเมตร และเป็นพื้นที่ต่ำ ก็ต้องพึงระวังเตรียมพร้อมไว้ก่อน สิ่งที่ดีที่สุดคือการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติและปรับตัวให้ทัน เพราะเราต้องอยู่กับภัยธรรมชาติที่อาจเลี่ยงได้ยากในสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์