รู้จัก “COVID Free Setting” มาตรการหลังคลายล็อก

ศบค.นำร่องสถานประกอบการที่พร้อม 1 ก.ย.นี้ ให้ประชาชนแสดงเอกสารฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม หรือมีผลตรวจ ATK ก่อนนั่งรับประทานในร้าน สธ.ชี้การติดเชื้อผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ผู้ป่วยหนัก กทม. รอเตียงลดลงหลังใช้ระบบ HI / CI

กระทรวงสาธารณสุขประเมินสถานการณ์ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยน่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว แต่ยังมีการระบาดต่อเนื่องโดยมีแนวโน้มทิศทางค่อยๆลดลง แม้จะยังคงมาตรการต่างๆไว้ เพื่อไม่ให้มีการติดเชื้อรุนแรงอีกในอนาคต ขณะเดียวกันก็เห็นควรให้มีการคลายล็อกบางกิจการเริ่ม 1 ก.ย. นี้ 

วันที่ 27 ส.ค. 2564 ที่ประชุม ศบค. ไม่ปรับสีพื้นที่สีจังหวัด แต่ปรับมาตรการเข้มข้นขึ้น และผ่อนคลายกิจการกิจกรรมบางส่วน ปรับการควบคุมโรคแนวใหม่ที่สมดุลกับการดำเนินชีวิตที่ปลอดภัยจากโควิด-19 โดยพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ยังคง 29 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) 37 จังหวัดและพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) 11 จังหวัด พร้อมยังคงมาตรการทางสังคม Work From Home และเคอร์ฟิว 21.00-04.00 น. ใน 29 จังหวัดสีแดงเข้มต่อไปอีก 14 วัน รวมถึงยกระดับมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคลสูงสุด (Universal Prevention)

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ในส่วนของมาตรการ COVID Free Setting โดยสถานประกอบการต้องจัดสิ่งแวดล้อม เว้นระยะห่าง และระบบระบายอากาศ ส่วนพนักงานและลูกค้าจะต้องเป็นโควิดฟรีคือ ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม, เคยติดเชื้อมาแล้ว 1-3 เดือนถือว่ามีภูมิ หรือมีผลตรวจโดยชุดตรวจ ATK ว่าไม่มีโควิด ซึ่งผู้รับบริการจะต้องแสดงเอกสารรับรองดังกล่าวเพื่อเข้ารับบริการ หากไม่สามารถแสดงเอกสารรับรองได้ กรณีร้านอาหารยังสามารถใช้บริการสั่งกลับบ้านได้ นอกจากนี้ ทุกคนยังต้องเข้มข้นมาตรการป้องกันติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) ตลอดเวลา 

มาตรการ COVID Free Setting รับคลายล็อก

ผู้ประกอบการ/พนักงานผู้บริการ/ลูกค้า
พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดกิจการเสี่ยงฉีดวัคซีน และตรวจATK ทุกสัปดาห์Green Card ฉีดวัคซีน 2 เข็ม Yellow Card เคยติดเชื้อ หรือตรวจ ATK ทุกสัปดาห์
พื้นที่ควบคุมสูงสุดแนะนำกิจกรรมเสี่ยงฉีดวัคซีน และตรวจ ATK ทุกสัปดาห์DMHTA
พื้นที่อื่นๆแนะนำกิจการเสี่ยงฉีดวัคซีนDMHTA
ที่มา: ศบค. วันที่ 27 ส.ค. 64 นำร่อง 1 ก.ย. 2564

D-M-H-T-A เว้นระยะห่าง ใส่แมส ล้างมือ วัดอุณหภูมิ แอพไทยชนะ 

สำหรับการเปิดกิจการ/กิจกรรม สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ภายใต้มาตรการที่กำหนด ได้แก่

  1. การเดินทางข้ามจังหวัดจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดได้
  2. การเปิดบริการของร้านอาหาร ไม่มีเครื่องปรับอากาศ นั่งได้ 75% มีเครื่องปรับอากาศ 50%
  3. การปรับมาตรการสำหรับกิจการห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์
  4. การเปิดกิจการ/กิจกรรมบางประเภท ได้แก่ ร้านเสริมสวย ร้านตัดผม (เฉพาะตัดผม) ร้านนวด เฉพาะนวดเท้า
  5. การใช้อาคารของสถานศึกษา
  6. การเปิดใช้สนามกีฬา

ผู้ป่วยหนัก กทม. รอเตียงโควิด-19 ลดลงหลังใช้ระบบ HI / CI

ด้าน นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึง สถานการณ์โควิด- 19 ภาพรวมในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ที่ติดเชื้อหายป่วยมากกว่าผู้ป่วยรายใหม่ อัตราการครองเตียงในต่างจังหวัดยังตึงตัวอยู่บ้าง แต่มีการขยายเตียงไปยังโรงพยาบาลชุมชนจึงพบปัญหาไม่มาก ส่วนใน กทม. เตียงรองรับผู้ป่วยยังไม่เพียงพอ จึงได้ปรับการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อด้วยระบบ Home Isolation : HI 

ข้อมูลจาก สปสช. ถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2564 มีผู้ป่วยที่เข้าระบบ HI ในกทม.สะสม 87,023 คน โดยมีสถานพยาบาลทุกสังกัด และคลินิกชุมชนอบอุ่นและคลินิกอื่นๆ ร่วมดูแล สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ใน กทม. ที่มีประมาณ 4,000 คน ต่อวันนั้น จะเข้าระบบ HI ประมาณ 1,000 คนต่อวัน กลุ่มที่ไม่สามารถมารถทำ HI ได้ จะมีการดูแลแบบ Community Isolation : CI  แยกกักที่ชุมชน/ศูนย์พักคอยในกทม. มีจำนวน 64 แห่ง 8,694 เตียง รองรับผู้ป่วย 200-300 คนต่อวัน ขณะนี้อยู่ในระบบ 3,410 คน สะสม 15,749 คน ผลจากการนำผู้ป่วยเข้าระบบ HI และCI ทำให้โรงพยาบาลมีเตียงรองรับผู้ป่วยอาการสีเหลืองและสีแดงมากขึ้น ระยะเวลารอเตียงไม่เกิน 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ ผู้ที่จะเข้าระบบ HI ได้นั้น ต้องปฏิบัติตามแนวทาง 7 แยก คือ แยกนอนในห้องหรือนอนห่างจากผู้อื่น  แยกกินอาหารคนเดียว แยกอยู่ในพื้นที่เฉพาะ แยกใช้ของใช้ส่วนตัว แยกทิ้งขยะ แยกห้องน้ำหรือใช้ห้องน้ำเป็นคนสุดท้าย และแยกอากาศคือสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา โดย สปสช.จะจัดส่งชุดมาตรฐาน (Standard Set) ประกอบด้วย ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือดหน้ากากอนามัย ถุงขยะสีแดง และอาหาร 3 มื้อถึงบ้าน ส่วนยาที่จ่ายให้ขึ้นอยู่กับอาการ มีการติดตามอาการด้วยระบบเทเลเมดิซีน 2 ครั้งต่อวัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS