2 องค์กรภาคประชาชน ประณาม “ผกก.โจ้”ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง จี้เร่งดำเนินคดี ด้าน กสม.เรียกร้องผลักดันร่างกฎหมายซ้อมทรมานฯ ปฏิรูปองค์กรตำรวจ

​คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาพฤติกรรมไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งในระยะสั้น-ระยะยาว

2 องค์กรภาคประชาชน เรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินคดี กรณี พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ “ผู้กำกับโจ้” อดีต ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ ผู้ต้องหาร่วมกันขูดรีดทรัพย์ และร่วมกันฆ่าผู้อื่นในวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ออกแถลงการณ์ ระบุว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง โดยการทรมาน (Torture)​ ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการ ตาม “อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี : Convention against Torture and Other Cruel , Inhuman or Degrading Treatment or Punishment : CAT” ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่สมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติได้รับรองเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2527 โดยมีผลบังคับใช้กับประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 เป็นต้นมา

ทั้งยังขยายความเพิ่มเติมว่า พฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจเกิดขึ้นในสังคมไทยมาโดยตลอด ทั้งการร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้อำนาจตามกฎหมายที่ไม่ชอบ การรับแจ้งความ การสืบสวน การสอบปากคำ การรวบรวมพยานหลักฐาน การจับกุมผู้ต้องหา
และการเปลี่ยนแปลงรูปคดีด้วยหลักฐานอันเป็นเท็จ การเลือกปฏิบัติ การซ้อมการทรมานไปจนถึงการทำให้สูญหาย เป็นต้น โดยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและบริหาร เร่งดำเนินการ ดังนี้

  1. ขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตระหนัก แก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน สอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง โปร่งใส โดยปราศจากการแทรกแซงช่วยเหลือ เพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับสังคมโดยเร็วที่สุด และจัดให้มีการคุ้มครองพยานอย่างรัดกุมเพื่อไม่ให้เกิดเหตุข่มขู่ คุกคาม สร้างอันตรายแก่พยาน 
  2. ต้องดำเนินการปฏิรูปตำรวจอย่างจริงจังและแก้ไขปัญหากระบวนการยุติธรรมทางอาญา ให้ส่วนงานสอบสวน งานพิสูจน์หลักฐาน ออกจากความรับผิดชอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อลดปัญหาการรวบอำนาจการดำเนินคดีอาญาชั้นต้น อันส่งผลให้เกิดปัญหาการทุจริต การเรียกรับผลประโยชน์ การสร้างพยานหลักฐานเท็จ เป็นต้น
  3. ตรากฎหมาย และการกำหนดโทษที่รุนแรง เพื่อป้องกันการซ้อมทรมาน การทำให้สูญหายที่เป็นปัญหาด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 

สอดคล้องกับ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์อีกฉบับ ระบุว่าการกระทำของ อดีต ผู้กำกับโจ้ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่สอดคล้องกับหลักอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมา กสม. ได้ทราบปัญหาการซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐมาอย่างต่อเนื่องจากการร้องเรียนของประชาชน จึงต้องการเรียกร้องต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการ ดังนี้

  1. เร่งสอบสวนและดำเนินคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของผู้ต้องหายาเสพติด ภายใต้คำสั่งของอดีตผู้กำกับโจ้ จัดให้มีการคุ้มครองพยาน และติดกล้องวงจรปิดเพื่อเปิดเผนกระบวนการจัดการ ในสถานที่สอบสวนทุกแห่ง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน
  2. เร่งผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ…. ตามที่เคยได้เสนอไปยังคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564 โดยให้พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องด่วนในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการอนุมัติโดยเร็ว
  3. ผลักดันให้มีการปฏิรูปองค์กรตำรวจ ทั้งในเชิงโครงสร้าง กระบวนการ และกฎระเบียบ โดยเฉพาะในส่วนกระบวนการสืบสวน ให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยให้อัยการเข้ามากำกับการสอบสวนตั้งแต่ชั้นตำรวจ เพื่อให้เป็นไปตามหลักสากลและสิทธิมนุษยชน ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้