อย.พร้อมขึ้นทะเบียนวัคซีนไฟเซอร์ใช้เต็มรูปแบบ เปิดทางเอกชนซื้อขายได้เหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ส่วนที่รัฐลงนามจัดซื้อ 30 ล้านโดสปีนี้ “นพ.ปกรัฐ” แนะหาวิธีเพื่อกระจายวัคซีนให้ครอบคลุมโดยเฉพาะคนที่ยังไม่เคยได้วัคซีน
ปรากฎการณ์ทวงวัคซีนไฟเซอร์ให้ด่านหน้าก่อนหน้านี้ สะท้อนได้ดีถึงความคาดหวังการจัดการอย่างโปร่งใส เพราะเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง และจำนวนจำกัดล็อตแรกได้รับบริจาคจากสหรัฐอเมริกาเพียง 1.5 ล้านโดส จึงจัดสรรรให้บุคลากรด่านหน้า และกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง ใน 13 จังหวัดสีแดงเข้มก่อนเป็นกลุ่มแรก
แนวทางในการจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ให้มีจำนวนมากขึ้นตอนนี้มี 2 ช่องทาง 1. รัฐจัดหา และ 2. เอกชนนำเข้า ซึ่งเห็นโอกาสว่าสามารถทำได้ หลังจากองค์การอาหารและยา หรือ FDA สหรัฐอเมริกา อนุมัติให้เป็นวัคซีนเต็มรูปแบบ ซึ่ง นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ก็เปิดทางการขึ้นทะเบียนวัคซีนไฟเซอร์ให้ใช้ได้ในภาวะปกติ โดยขอให้ไฟเซอร์ยื่นข้อมูลเพิ่มด้านคุณภาพความปลอดภัย และประสิทธิผล เพื่อพิจารณายกสถานะจากที่ใช้ในภาวะฉุกเฉินขึ้นมาเป็นวัคซีนที่ได้รับรองเต็มรูปแบบ เอกชนจะซื้อขายได้เหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่
ถ้าวัคซีนไฟเซอร์ถูกยกระดับสถานะเป็นวัคซีนที่ใช้ได้ทั่วไปในไทย สิ่งที่จะตามมาก็คือ ประชาชนทั่วไป และเอกชน จะสามารถจัดหาวัคซีนมาใช้ได้เอง แต่ในปัจจุบันที่ไฟเซอร์ในไทย ยังเป็นวัคซีนฉุกเฉิน จะให้อำนาจเฉพาะหน่วยงานสาธารณสุขโดยรัฐจัดหาได้เท่านั้น
เกณฑ์ที่ FDA รับรองไฟเซอร์ให้เป็นวัคซีนทั่วไป ก็คือหลักฐานการทดสอบที่ควบคุมได้ชัดเจน อย่างการวิจัย การใช้จริง ขณะที่สถานะเดิมของไฟเซอร์ที่เป็นวัคซีนฉุกเฉิน เป็นการใช้หลักฐานการทดสอบทางคลินิก เมื่อเป็นวัคซีนทั่วไป จะสามารถจำหน่ายสู่สาธารณะได้ แต่กรณีวัคซีนฉุกเฉิน ห้ามจำหน่ายสู่สาธารณะ
นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์ แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ระบุมีความหวังมากขึ้น ก่อนหน้านี้ไม่สามารถนำวัคซีนเข้าได้ เพราะต้องผ่านภาครัฐอย่างเดียว เดิมอยากเอาเข้ามาภายในเดือนสิงหาคมนี้แต่ตอนนี้ไม่ทันแล้ว นพ.บุญบอกว่าเบื้องต้นเดือนกันยายน-ตุลาคม จะนำเข้าให้ได้ 20 ล้านโดสฉีด วันละ 500,000 โดส ช่วยรัฐบาล เพราะบางคนอยากฉีดแต่หาไม่ได้
แต่ระหว่างที่กำลังรอเอกสารหลักฐานจากบริษัท เพื่อปรับสถานะวัคซีนไฟเซอร์ในไทย กลับมาดูฐานวัคซีนที่ไทยมีอยู่แล้ว กับไฟเซอร์ 30 ล้านโดส ที่จะทยอยเข้ามากันยายนนี้ ผศ.นพ.ปกรัฐ หังสสูต ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอให้รัฐหาวิธีเพื่อกระจายวัคซีนให้ครอบคลุมโดยเฉพาะคนที่ยังไม่เคยได้วัคซีนเลย หากจำเป็นต้องใช้ซิโนแวคปูพรมก็ต้องทำความเข้าใจและเร่งหาวัคซีนที่มีคุณภาพเข็มสองมาให้
“ผมคิด 2 แนว คือ ไฟเซอร์ 2 เข็มเลย หรือ บูสคนที่ฉีดซิโนแวคแล้ว 2 เข็ม และคนที่ยังไม่ได้เลยสักเข็มทำไง ซึ่งรัฐบาลก็แก้ปัญหาโดยเอาวัคซีนที่เราหามาได้ง่าย เช่น ซิโนแวค แล้วตามด้วยแอสตราเซเนกา หรือไฟเซอร์”
อย่างไรก็ตามควรกระจายวัคซีนไปยังคนที่ยังไม่ได้ฉีดให้ครอบคลุมทั้งประเทศ แต่จะกระจากอย่างไรต้องดูฐานวัคซีนเดิมด้วย ถ้าเราได้ไฟเซอร์ไม่จำกัดก็ฉีดไปทั่วประเทศ
“ถ้าผมเป็นรัฐบาล ต้องทำให้สังคมเข้าใจว่า แผนที่ผานมา เรามีแผนไม่ดีพอ น่าจะขอโทษก่อนว่าวางแผนผิด แต่จำเป็นต้องทำแบบนี้ พอฉีดซิโนแวคแล้ว รัฐบาลจะหาวัคซีนเข็มสองมาให้เขา”
ประเทศที่มีวัคซีนมากพอ และติดเชื้อน้อยแล้ว อย่างอังกฤษ คนอายุน้อยกว่า 40 ปีห้ามฉีดแอสตราเซเนกาเพราะกลัวผลข้างเคียง ในประเทศที่ไม่ระบาดก็เป็นอีกสถานการณ์หนึ่ง แต่ไทยระบาดเยอะ การฉีดแอสตราเซเนกายังดีกว่า
ทั้งนี้ แผนปี 65 กระทรวงสาธารณสุขจะจัดหาวัคซีนอย่างน้อย 120 ล้านโดส คาดว่าจะซื้อไฟเซอร์ 50 ล้านโดส แอสตราเซเนกาอีก 60 ล้านโดส และวัคซีนเทคโนโลยีใหม่อื่นๆ มาให้หลากหลาย เพื่อฉีดวัคซีนกลุ่มเด็ก และบูสเตอร์โดสเข็ม 3 แก่ประชาชน
ต้องยอมรับว่าการบริหารวัคซีนภายใต้ข้อจำกัดอย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าไทยสามารถปลดล็อกวัคซีนฉุกเฉิน และเปิดให้มีการนำเข้าอย่างเสรี อาจเป็นความหวังให้ความพยายามสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นได้จริง