“องค์การเภสัชกรรม” เดินหน้าจัดซื้อชุดตรวจยี่ห้อ LEPU หลัง ครม.ปรับแก้ข้อสั่งการไม่ต้องมาตรฐาน WHO ขณะที่ “แพทย์ชนบท” เดินหน้าตรวจสอบคุณภาพ
การจัดซื้อชุดตรวจ ATK หลังคณะรัฐมนตรี ปรับแก้ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีไม่ต้องเป็นชุดตรวจ ATK ที่ผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลกแล้ว เพราะเป็นการนำมาใช้แบบ Home Use พร้อมกำชับกระทรวงสาธารณสุข เร่งแก้ไขปัญหาความขัดแย้งให้ดีที่สุด และเร่งดำเนินการจัดซื้อชุดตรวจ ATK มาแจกจ่ายให้ประชาชนได้ใช้โดยเร็ว ขณะที่แพทย์ชนบท ยืนยันเดินหน้าตรวจสอบคุณภาพชุดตรวจที่ได้รับการจัดซื้อต่อไป
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการตรวจคัดกรองที่แม่นยำและทำอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งสำคัญ เพราะผลบวกหรือลบลวง จะเป็นหัวใจของการควบคุมการระบาด ถ้าลองเปรียบเทียบชุดตรวจ ATK ที่กำลังมีข้อถกเถียงให้เห็นภาพชัดระหว่างความต่างกันของ ATK แบบ Home Use ที่ใช้กับประชาชน กับ Professional Use ที่ผู้เชี่ยวชาญใช้ในโรงพยาบาล
ความสำคัญอยู่ที่ความไวในเชิงวินิจฉัย หรือ ค่าความแม่นยำของชุดตรวจ โดย อย.กำหนดมาตรฐาน-ความแม่นยำอยู่ที่ 90% ขณะที่ WHO กำหนดค่านี้อยู่ที่ 95%
- ชุดตรวจ ATK ยี่ห้อเล่อผู่ (Home use) บริษัทที่ชนะการประมูล จากองค์การเภสัชกรรม อ้างว่า ได้ผลทดสอบความแม่นยำ 90-92%
- ชุดตรวจ ATK ที่ชมรมแพทยบ์ชนบทใช้ในปฏิบัติการบุกกรุงทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมาคือ ยี่ห้อ Standard Q ซึ่งมีความแม่นยำ 95% เป็นสเปค ระดับ Professional Use เทียบเท่ามาตรฐาน WHO
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ซึ่งเกาะติดการจัดซื้อครั้งนี้ยืนยันว่า ความแม่นยำที่เห็นนี้ ส่งผลต่อการตรวจเชิงรุก เพราะ ATK ที่มีคุณภาพ และความแม่นยำต่ำกว่า จะยิ่งทำให้เราเจอกับ ผลบวกและผลลบลวง มากขึ้น ซึ่งนั่นส่งผลต่อการคุมระบาดนับจากนี้ รวมถึงตั้งข้อสังเกตว่า การพลิกมติ ครม. อาจจะทำให้คนไทยได้รับชุดตรวจที่คุณภาพต่ำ ลดสเปคมาตรฐานลง แต่ราคายังเท่าเดิม
“ชุดตรวจ ATK ตามมาตรฐาน อย. เมื่อเทียบกับ ATK ตามมาตรฐาน WHO ที่ 8.5 ล้านคน จะส่งผลบวกและลบลวงต่างกัน 1.1 แสนคน เสนอยกเลิกการจัดซื้อครั้งนี้ เป็นการซื้อแบบเจาะจงและต่อรองราคาให้ต่ำที่สุด”
นั่นหมายความว่าชุดตรวจ ATK ที่ความแม่นยำต่ำ อาจกระทบกับกลุ่มโรคอื่นๆและผู้สูงอายุ กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง เพราะหากเจอผลลวง ก็อาจจะพลาดการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และมีโอกาสเสียชีวิตสูง
แต่ในที่สุดการจซื้อชุดตรวจ ATK ก็ได้ความชัดเจน จาก นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) มีหนังสือแจ้งไปยัง รพ.ราชวิถี และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่าจะเดินหน้าจัดซื้อชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชิ้น ให้กับ สปสช. เพื่อนำไปแจกให้ประชาชนใช้ตรวจหาเชื้อโควิดด้วยตนเอง
ดำเนินการคู่ขนานไปกับการแจ้งบริษัทที่ชนะการประมูลชุดตรวจ ATK ยี่ห้อ LEPU ในราคาชุดละ 70 บาท เพื่อให้ดำเนินการตามสัญญาการจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามข้อสั่งการที่นายกฯระบุให้เร่งดำเนินการจัดซื้อชุดตรวจ ATK ให้เร็วที่สุด เพื่อให้ ATK ถึงมือประชาชนโดยเร็ว โดยมีการลงนามในหนังสือแล้ววันเดียวกันนี้ (24 ส.ค. 64)