ญาตินำอัฐิ “ชาวเล” ตายโควิด กลับ “อาดัง-หลีเป๊ะ” เร่งคุมระบาดก่อนเปิดเกาะ ก.ย. นี้

“ชาวเลอูรักลาโว้ย” นำอัฐิและรูปถ่าย ชาวเล เสียชีวิตจากโควิด ลงเรือกลับบ้านเกิด หลายฝ่ายระดมความช่วยเหลือ ส่งข้ามทะเล สาธารณสุข เล็ง ปูพรมตรวจเชิงรุกทั่วทั้งเกาะ ค้นหาผู้ป่วย ควบคุมโรคทันเปิดเกาะเดือนหน้า

เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2564 ที่ วัดชนาธิปเฉลิม อ.เมืองจังหวัดสตูล ตัวแทนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ – เกาะอาดัง ที่พักอาศัยใน อ.เมืองจังหวัดสตูล  เป็นตัวแทนญาติชาวเลของ นาวี ทะเลลึก อายุ 51 ปี ที่เสียชีวิตจากโควิด-19 เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ที่ผ่านมา ทำพิธีเก็บอัฐิ และเชิญอัฐิกลับเกาะอาดัง

ปิ่นมณี หาญทะเล ตัวแทนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ และเกาะอาดัง  กล่าวภายหลังได้เป็นตัวแทนร่วมพิธีเผาศพ และเก็บอัฐิครั้งนี้ ถือเป็นความสูญเสียที่ชาวเลและทุกฝ่ายไม่อยากให้เกิดขึ้น และอยากให้การสูญเสียหยุดเพียงเท่านี้ หวังให้สถานการณ์บนเกาะคลี่คลาย เพื่อให้พี่น้องชาวเล และทุกชีวิตบนเกาะหลีเป๊ะปลอดภัย  

จากนั้นได้นำอัฐิจากวัดชนาธิปเฉลิม  มาที่ท่าเรือปากบารา เพื่อฝากให้ชาวเลที่หายป่วยจากการรักษาโควิด-19 ที่เตรียมเดินทางกลับเกาะหลีเป๊ะวันนี้ นำส่งให้ญาติที่เกาะอาดัง 

พร้อมทั้งนำภาพถ่ายของ อูโสบ ยาดำ หมอพื้นบ้านชาวเลเกาะหลีเป๊ะ อายุ 70  ซึ่งติดเชื้อโควิด-19 และเสียชีวิตก่อนหน้านี้  อัดกรอบรูปฝากส่งไปให้ญาติที่เกาะหลีเป๊ะตามคำร้องขอ เพื่อบูชาและเป็นที่ระลึกให้กับลูกหลาน  เนื่องจากร่างของอูโสบ  ได้รับการประกอบพิธีทางศาสนาและฝังที่กุโบในเมืองสตูล ไม่สามารถนำกลับบ้านเกิดได้

ผู้ติดเชื้อ 4 คน ที่รักษาหายแล้ว และได้เดินทางกลับเกาะหลีเป๊ะในวันเดียวกัน หนึ่งในนั้นบอกว่า แม้จะดีใจที่ตัวเองหายปลอดภัยได้กลับบ้าน แต่รู้สึกเสียใจ ที่พี่น้องชาวเลอีก 2 คน ที่มารักษาด้วยกัน  ไม่ได้กลับไปด้วย ถือเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของพี่น้องชาวเลทุกคน

“เรารอดปลอดภัย เราดีใจ แต่ก็เสียใจมากที่พี่น้องชาวเลอีก 2 คน ไม่มีชีวิตกลับบ้านไปพร้อมกัน เข้าใจว่านี่เป็นสถานการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิด และขอให้กำลังใจทีมควบคุมโรค แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ รพ.สต. หน่วยงานทุกภาคส่วน ที่ทำหน้าที่เต็มที่ในการดูแลรักษาช่วยเหลือทุกชีวิตบนเกาะหลีเป๊ะ และเกาะอาดัง”

ปูพรม ตรวจเร็ว รู้เร็ว จ่ายยาเร็ว หายเร็ว ลดการตาย คุมระบาดตามเป้า

พงษ์ธร แก้วผนึก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล กล่าวว่าสถานการณ์ COVID 19 เกาะหลีเป๊ะและเกาะอาดัง เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 64  ตรวจพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม 2 คน ผู้ป่วยสะสม 203 คน รักษาหายสะสม 61 คน  ทีมสาธารณสุข และทุกภาคส่วนในพื้นที่ ต่างร่วมมือให้ความช่วยเหลือดูแลเพื่อควบคุมโรคกันอย่างเต็มที่  กรณีของผู้เสียชีวิต 2 ราย เป็นผู้มีโรคประจำตัว ทั้งความดัน เบาหวาน และกว่าจะตรวจพบว่าติดเชื้อ ก็แสดงอาการแล้ว ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าการเร่งตรวจหาเชื้อ  รีบจ่ายยา รักษาให้ไว คือหัวใจสำคัญของการคุมระบาดและลดการเสียชีวิต

“หากมีชุดตรวจที่เพียงพอ การตรวจแบบปูพรมในพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งมีประชากรอยู่ราว ๆ 1,500 คน นั้นเป็นหัวใจสำคัญ เพราะตรวจเร็ว รู้เร็ว พบผู้ติดเชื้อ จ่ายยารักษาเร็ว ก็จะลดอัตราการเสียชีวิตได้มากขึ้น จริง ๆ มีแผน และความตั้งใจอยู่แล้ว ว่าจะรอทิ้งช่วงระยะฟักตัว ถัดจากนี้อีก 9 วัน หากได้ปูพรมตรวจ จะทำให้เห็นสถานการณ์ สามารถจัดการควบคุมโรคได้ตรงเป้าและครอบคลุม”

แสงโสม หาญทะเล ตัวแทนชาวเลอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ

สอดคล้องกับความเห็น แสงโสม หาญทะเล ตัวแทนชาวเลอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ ที่อยากให้ทุกภาคส่วนช่วยกันทำให้คุมระบาดเกาะหลีเป๊ะ ให้ได้ภายใน 1 เดือน ที่มีคำสั่งปิดเกาะ จริง ๆ การตรวจแค่ตามบ้านเสี่ยงสูง และเฉพาะคนที่มีอาการ อาจไม่เพียงพอ หากต้องการให้จบจริง ๆ ต้องปูพรมระดมกำลังตรวจทั้งหมด เพื่อที่จะคัดกรองว่าใคร มีเชื้อ ไม่มีเชื้อ  ที่สำคัญไม่ใช่แค่ตรวจอย่างเดียว แต่ต้องเตรียมพร้อม จัดสถานที่รองรับให้เหมาะสมเพียงพอด้วย

นพ.สมบัติ ผดุงวิทย์วัฒนา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสตูล

ด้าน นพ.สมบัติ ผดุงวิทย์วัฒนา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสตูล เห็นว่า เรื่องการตรวจเชิงรุกแบบปูพรมในพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ ขณะนี้อยู่ระหว่างพูดคุยกับผู้ประกอบการ ว่า ก่อนจะเปิดเกาะจะตรวจทุกคนหรือไม่  เพื่อสร้างความมั่นใจ แต่ผลตรวจที่อาจมีโอกาสคลาดเคลื่อน อาจจะส่งผลให้ผู้ที่ผลเป็นลบ คิดว่าตัวเองปลอดภัยแล้ว วางใจและลดความระมัดระวังในการป้องกันตัวเอง  เพราะบางครั้งอาจตรวจในช่วงที่ยังไม่มีเชื้อ   การใช้เครื่องมือนี้จึงต้องใช้ในห้วงเวลาเหมาะสม การแปลผลก็ต้องมีการซักประวัติเข้ามาประกอบด้วย ไม่ใช่ผลลบและไม่มีการดูแลสุขอนามัยจะเสียเปล่า จึงต้องประเมินกันอีกครั้งว่าจะใช้รูปแบบไหน หรือ อาจจะใช้วัคซีน 100%  

ระดมความช่วยเหลือ สร้างคลังอาหาร ติดตามอาการต่อเนื่อง สร้างความมั่นใจชาวเล คุมระบาดในพื้นที่

ขณะที่ บดินทร ไชยพงศ์ ปลัดส่วนหน้าเกาะหลีเป๊ะ พร้อมด้วย ตัวแทนตำรวจ อบต.ในพื้นที่ ได้นำถุงยังชีพจากสภากาชาดไทย ที่เหล่ากาชาดจังหวัดสตูลส่งมอบช่วยเหลือ  รวมทั้งอาหารสด ทั้งเนื้อหมู เนื้อไก่ ผัก ที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ประกอบการ ภาคประชาชนในพื้นที่ มอบให้ชาวอาดัง เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนให้ชาวบ้านที่นี่ ได้เข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอในช่วงกักตัว 

สัญญา สิริฮั่น ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ต.เกาะสาหร่าย ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลพื้นที่เกาะอาดัง บอกว่า ความร่วมมือให้การช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ของทุกภาคส่วน ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่คลายความวิตกและให้ความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการคุมโรคมากขึ้น

“จากวันแรก ๆ ที่พบการติดเชื้อ ชาวบ้านกังวลว่าจะไม่มีอาหาร  กลัวว่าจะต้องไปกักตัวที่ LQ หรือสถานกักกันในชุมชนที่ไกลบ้าน  บางส่วนอยากออกไปซื้ออาหารที่เกาะหลีเป๊ะ   แต่พอทุกฝ่ายเห็นตรงกัน ให้ปิดเกาะอาดัง และใช้แนวทางในการให้กักตัวที่บ้าน โดยมีความช่วยเหลือส่งมาให้ ทั้งอาหาร และการติดตามอาการต่อเนื่อง ทำให้ชาวบ้านเข้าใจ และกักตัวเองอยู่ในบริเวณที่กำหนด”

ขณะที่ทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เข้าไปติดตามอาการ หลังจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ และฟ้าทะลายโจรให้ผู้ติดเชื้อทั้ง 51 คน และมีทางทีมอาสาสมัครโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ ครูและนักเรียน นำสมุนไพร 7 นางฟ้า จากมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และน้ำโฮมีโอพาธีร์ มอบให้ผู้ติดเชื้อและกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงรับประทาน เพื่อเป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรงด้วย

ส่วนกรณีการนำเสนอผ่านสื่อถึงสาเหตุการแพร่เชื้อที่เกาะอาดัง ว่ามาจากชาวเลเกาะหลีเป๊ะนั้น  แสงโสม หาญทะเล ตัวแทนชาวเลอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล ยืนยันว่า เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน และอาจสร้างความเข้าใจผิดต่อชาวเลหลีเป๊ะ เพราะทุกคนให้ความร่วมมืออย่างดีกับมาตรการล็อกดาวน์พื้นที่ งดการเดินทางข้ามไปยังเกาะอาดัง ส่วนการที่พบชาวอาดังติดเชื้อ เชื่อว่าอาจติดกันมาตั้งแต่ที่ยังไม่ประกาศล็อกดาวน์

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ