“ณุศาศิริ” ควักเงินนำเข้า ATK 8.5 ล้านชุดไม่รอองค์การเภสัชฯ เคาะราคาขายชุดละ 75 บาท

เตรียมลุยฟ้องผู้ให้ร้ายชุดตรวจ ATK ยี่ห้อ LEPU ด้าน “สภาองค์กรผู้บริโภค”​ จี้ รมว.สาธารณสุข เร่งจัดซื้อชุดตรวจที่ WHO รับรอง ชี้ อภ. มีสิทธิ์ล้มประมูล

วันที่ 23 ส.ค.2564 นางศิริญา เทพเจริญ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) และกรรมการบริหาร บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าเป็นผู้นำเข้า ATK  เพื่อคนไทย  จำนวน 8.5 ล้านชิ้น มาจำหน่ายให้ประชาชนคนไทยทุกคน ได้มีโอกาสเข้าถึงชุดตรวจโควิดด้วยตนเอง ในราคาเพียงชุดละ 75 บาท โดยเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับราคาที่เราประมูลได้จากทางองค์การเภสัชกรรม หลังจากที่จนถึงวันนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะได้ลงนามในสัญญาหรือไม่ เนื่องจากถูกกล่าวหาจากชมรมแพทย์ชนบทหลายประเด็นทั้งราคา และคุณภาพ ซึ่งชี้แจงและมีหลักฐานยืนยันมาโดยตลอด 

“เมื่อมีกระแสข่าวโจมตีให้ร้ายอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เราจึงตัดสินใจให้ทีมทนายเตรียมรวบรวมหลักฐานข้อมูลการกล่าวหาต่าง ๆ เพื่อยื่นฟ้องร้องต่อไป แต่จะเป็นข้อหาอะไรนั้นจะพิจารณาอีกที”

นางศิริญา กล่าวอีกว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับการส่งออกและการท่องเที่ยว หากประเทศเราสามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองได้ด้วยตัวเอง เราจะสามารถแยกคนป่วย และคนไม่ป่วยได้อย่างรวดเร็วขึ้น ภายในไม่ถึงสิ้นปีนี้ ก็จะทำให้เศรษฐกิจในประเทศเหล่านั้นเริ่มฟื้นตัวได้  ดังนั้นการประคับประคองเศรษฐกิจในปี 2564 จึงมีความสำคัญมาก

ก่อนหน้านี้ บริษัทเวิลด์ เมดิคอลฯ และ บ.ออสท์แลนด์ ผู้นำเข้าชุดตรวจ LEPU ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกชี้แจง พร้อมแสดงหลักฐานระบุถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ LEPU ที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ และ นำหลักฐานอ้างอิงว่า ณ ปัจจุบัน WHO ก็ยังไม่มีการอนุมัติชุดตรวจแบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเองแก่บริษัทใดเลย  จึงเป็นข้อสรุปว่าหากใช้มาตรการนี้ จะไม่สามารถมี ATK ชนิดตรวจหาเชื้อด้วยตนเองยี่ห้อใด ที่จะมีคุณสมบัติต้องใจชมรมแพทย์ชนบท 

“ประชาชนทั่วประเทศที่รอคอยการใช้ ATK  เพื่อตรวจคัดกรองด้วยตัวเองจากภาครัฐ ก็ต้องเผชิญและต่อสู้กับการระบาดของ โควิด 19 ด้วยตนเองกันต่อไป” 

โดยตั้งแต่วันที่ 23 -31 ส.ค.นี้ รับ Pre-Order พร้อมรับชุดตรวจที่คลินิกและร้านขายยาที่ร่วมโครงการกับ MORHELLO ได้ภายใน 14-30 วัน นับจากรับยอดโอน หรือติดต่อสั่งซื้อได้ที่  Line @ Morhello  ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป รวมถึงภาคธุรกิจใดที่สนใจใช้ ATK เพื่อใช้กับพนักงานจำนวนมาก ก็อยากเป็นกระบอกเสียงสู่รัฐบาลในเรื่องการลดหย่อนภาษีตรงนี้ให้กับองค์กรต่างๆ ด้วย

สภาองค์กรผู้บริโภค ชี้ อภ. มีสิทธิ์ล้มประมูล 

สภาองค์กรผู้บริโภค ออกแถลงการณ์ระบุกรณี ชุดตรวจ ATK ยี่ห้อ LEPU นั้น หากพิจารณาคุณสมบัติแล้วมีคุณสมบัติไม่ตรงตามมาตรฐานการรับรองที่ WHO กำหนด ซึ่ง LEPU นั้นมีค่าความไว(Sensitivity) 90% ความจำเพาะ (Specificity)  98% ขณะที่มาตรฐานของ WHO กำหนดค่าความไวไว้ที่ 95% และค่าความจำเพาะไว้ที่ 99% ซึ่งความแตกต่างของตัวเลขที่ว่านี้ หากนำไปใช้ตรวจเชื้อโควิดจำนวน 8.5 ล้านครั้ง ภายใต้ความชุกของโรคที่ร้อยละ 10 จะก่อให้เกิดผลลบลวง (False Negative) เพิ่มมากถึงจำนวน 40,000 คน ซึ่งหมายความว่า การตรวจเชิงรุก จะชี้ว่า “ผู้ป่วยไม่ติดเชื้อ ทั้งที่ติดเชื้อ” และในทางกลับกัน ชี้ว่า “ติดเชื้อ” แต่ในความจริงแล้ว “ไม่ติดเชื้อ” และจะทำให้มีข้อผิดพลาดจากการตรวจเพิ่มขึ้นทั้งหมดราว 110,000 คน ส่งผลให้ผู้ที่มีผลตรวจระบุว่า “ติดเชื้อ” ทั้งที่ “ไม่ติดเชื้อ” จะถูกส่งตัวไปรักษาดูแลในศูนย์พักคอย โรงพยาบาลสนาม ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด – 19 เป็นอย่างมาก

สภาองค์กรของผู้บริโภค มีข้อเสนอและการดำเนินการ ดังนี้

1. ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และองค์การเภสัชกรรมปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีที่มีความชัดเจนในการจัดซื้อจัดจ้างให้ได้ชุดตรวจ ATK ที่มีคุณภาพระดับที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก เพื่อให้เกิดข้อผิดพลาดในการตรวจเชิงรุกให้น้อยที่สุด และเร่งจัดซื้อชุดตรวจที่มีคุณภาพให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยเร็ว

2. ขอให้นายกรัฐมนตรี และสำนักงานศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) ยืนยันตามมติคณะรัฐมนตรีและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564

ชุดตรวจ ATK ที่ WHO รองรับแล้ว มีจริงหรือไม่? 

ในจดหมายเปิดผนึกที่ บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) ส่งถึงนายกรัฐมนตรี ระบุว่า WHO ก็ยังไม่มีการอนุมัติชุดตรวจแบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (Home use) ให้แก่บริษัทใด 

กรณีนี้ ชมรมแพทย์ชนบท แสดงเอกสารที่อ้างอิงจากเว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุมีการรับรอง 4 รายการ​ ภาษาสากลสำหรับ​ ATK​ ทั่วโลกใช้คำว่า​ RDT​ Rapid Diagnostic Test. ไม่ได้ใช้​ ATK

ภาพเอกสารจาก ชมรมแพทย์ชนบท

องค์การอนามัยโลกรับรอง ใช้คำว่า Emergency Use Listing หรือ​ EUL ซึ่งหมายถึงรายการที่องค์การอนามัยโลกอนุญาตให้ใช้ กรณีฉุกเฉินเร่งด่วน ซึ่งถือเป็นรายการที่องค์การอนามัยโลกรับรองมาตรฐานให้องค์การระหว่างประเทศซื้อจากหน่วยจากบริษัทเหล่านี้ เนื่องจากได้ผ่านการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานจากห้องปฏิบัติการของ WHO ​และภาคสนามแล้ว

ดังนั้น ที่หลายคนบอกว่ามาตรฐานองค์การอนามัยโลก หรือ WHO Standard ไม่มี หาไม่เจอ​ ก็ต้องไปหาจากคำว่า Emergency Use Listing ​ จึงจะเจอ​ ซึ่งมี 4 รายการของ​ ATK​ ที่มาตรฐานระดับสากลและองค์การอนามัยโลกรับรอง

ด้าน สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป(สพศท.) กล่าวถึงกรณีเอกสารองค์การอนามัยโลก(WHO) ประกาศรับรอง Antigen test ให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน(Emergency Use Listing) เพียง 4 ชนิด (ข้อมูลล่าสุด 14 ก.ค. 2564) นั้น ทั้งหมดเป็นแบบที่ใช้ในสถานพยาบาลโดยบุคลากรทางการแพทย์

และองค์การอนามัยโลกยังไม่เคยรับรอง Antigen test kit แบบที่ให้ประชาชนไปตรวจกันเอง (Self or Home Use) แล้วนายกรัฐมนตรี จะให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ไปหาซึ้อจากใครที่ไหนได้ (ยกเว้นจะซื้อแบบสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ แล้วเอาไปให้ประชาชนใช้)

ภาพเอกสารจาก สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป(สพศท.)

ชุดตรวจ Antigen Test ที่องค์การอนามัยโลกรับรองนั้น มี 4 ตัว เป็นสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และห้องแลบเท่านั้น Rapid Antigen tests for in vitro diagnostics  คือ

1.STANDARD Q COVID-19 Ag Test(Nasal) ของ SD Biosensor, Z  เป็นการใช้โดยผู้ทำงานด้านดูแลสุขภาพ และแลบเท่านั้น (This test is for administration by healthcare worker and labs only.)

2.Panbio COVID-19 Ag Rapid (Nasopharyngeal) ของ Abbott Rapid Diagnostics jena GmbH เป็นการใช้โดยผู้เชี่ยวชาญ(For professional use only.)

3.Panbio COVID-19 Ag Rapid (Nasal) ของ Abbott Rapid Diagnostics jena GmbH เป็นการใช้โดยผู้เชี่ยวชาญ(Intended For professional use only.)

และ 4.Sure Status COVID-19 Antigen Card Test ของ Premier Medical Corporation Private Limited เป็นการใช้โดยผู้ให้บริการด้านดูแลสุขภาพ (by healthcare provider) 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS